ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลนส์ถือเป็นเหตุระทึกขวัญครั้งใหญ่ของ ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย และการสอบสวนกำลังเริ่มต้นขึ้น โดยมีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ และตั้งข้อสงสัย โดยเราจะมาไล่เรียงกันไปทีละประเด็น
ความผิดพลาดของมนุษย์
แม้ว่าการชนกันนั้นจะเกิดขึ้นได้น้อยลงมากด้วยเทคโนโลยี และขั้นตอนการติดตามภาคพื้นดินที่ทันสมัย ทว่าทางการของญี่ปุ่นก็ยังคงบอกว่าสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน ด้านกรมตำรวจนครบาลของโตเกียวกำลังสืบสวนถึงความเป็นไปได้ใน ‘ความประมาทเลินเล่อทางวิชาชีพ’ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บ
“มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีข้อผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) โดยปกติจะมีเครื่องบินเพียงลำเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่รันเวย์ ได้รับอนุญาตให้ลงจอด แต่เครื่องบินยามชายฝั่งกลับอยู่บนรันเวย์ในขณะนั้น” ฮิโรยูกิ โคบายาชิ อดีตนักบินและนักวิเคราะห์ของเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) กล่าว
โคบายาชิ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากมากที่อุบัติเหตุทางเครื่องบินจะเกิดขึ้นจากปัญหาเพียงจุดเดียว ดังนั้น เขาคิดว่าครั้งนี้อาจมี 2-3 ปัญหาที่นำไปสู่อุบัติเหตุ

ความผิดพลาดของระบบ
สัญญาณไฟเตือนที่บอกนักบินว่ารันเวย์ว่างหรือไม่นั้น ‘ไม่ทำงาน’ ในคืนที่เครื่องบิน JAL เกิดเพลิงไหม้
ข้อความ NOTAM ซึ่งเป็นประกาศที่มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนักบินและบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการบิน ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2023 มีการแจ้งเตือนนักบินว่า ‘ระบบไฟจะหยุดทำงานในอนาคตอันใกล้’ อย่างไรก็ดียังไม่ชัดเจนว่าการไม่มีไฟเตือนบนรันเวย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุดังกล่าวหรือไม่

บันทึกเสียง
เครื่องบินของ JAL ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการเข้าใกล้รันเวย์ 34R ในเวลา 17.43 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) และได้รับอนุญาตให้ลงจอดในเวลา 17.45 น. สองนาทีก่อนที่จะเกิดการชนกันบนรันเวย์เดิมในเวลา 17.47 น.
“เคลียร์ที่จะลงจอด 34R Japan Airlines 516” เสียงกัปตันกล่าวในไฟล์เสียงที่ถูกบันทึกไว้ ขณะที่ JAL ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (2 ม.ค.) ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวได้รับอนุญาต และกระทำการถามซ้ำที่จะลงจอดกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศแล้ว ก่อนที่เครื่องจะเข้าใกล้รันเวย์ และลงจอด
ขณะที่ไฟล์เสียงที่ทางการเผยแพร่แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินของ JAL ได้รับอนุญาตให้ลงจอด ขณะที่เครื่องบินของยามชายฝั่งได้รับคำสั่งให้แท็กซี่ไปยังจุดจอดใกล้รันเวย์ ด้านเจ้าหน้าที่จากสำนักงานการบินพลเรือนของญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ในบันทึกเหล่านั้นว่าเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งได้รับอนุญาตให้บินขึ้นได้
เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งรายหนึ่งกล่าวว่า กัปตันเครื่องบินยามชายฝั่งที่รอดชีวิตเล่าว่าเขาได้เข้าสู่รันเวย์หลังจากได้รับอนุญาต ซึ่งสวนทางกับเสียงที่บันทึกจากห้องนักบิน

ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบ
นอกจากการสอบสวนของญี่ปุ่นแล้ว คณะกรรมการการขนส่งความปลอดภัยของญี่ปุ่น (JTSB) ก็กำลังสอบสวนอุบัติเหตุครั้งนี้เช่นกัน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินแอร์บัส และอังกฤษซึ่งเป็นสถานที่ผลิตเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์
กระทบเที่ยวบิน
เที่ยวบินกว่า 100 เที่ยวบินไปและกลับจากสนามบินฮาเนดะ คาดว่าจะถูกยกเลิก ซึ่งการยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารประมาณ 20,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้โดยสารของเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) จำนวน 9,250 คน
การยกเลิกดังกล่าวรวมถึงเที่ยวบินภายในประเทศ 54 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 1 เที่ยวบินของสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ (ANA) ของญี่ปุ่น และเที่ยวบินภายในประเทศของ JAL 50 เที่ยวบิน