อิหร่านกำลังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลังการสูญเสีย ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่านในเหตุโจมตีทางอากาศสำนักงานใหญ่ที่อยู่ใต้ดินของฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนของอิสราเอลเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา
หากอิหร่านเปิดปฏิบัติการทางทหารถล่มอิสราเอลโดยตรงก็เสี่ยงจะกระตุ้นให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบในภูมิภาค แต่หากอิหร่านเลือกไม่ตอบโต้ก็ดูเหมือนทำตัวห่างเหินกับพันธมิตรอย่างฮิซบุลเลาะห์ที่ยังต้องพึ่งพากันอยู่ และยังอาจดูเสียหน้าทั้งในสายตาของพันธมิตรและศัตรู ขณะที่ในบ้านตัวเองก็ถูกกลุ่มฮาร์ดคอกดดันให้ตอบโต้อย่างหนัก เพราะนายพล อับบาส นิลโฟรุชาน รองผู้บัญชาการกงกำลังพิทักษ์กองทัพปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกับนาสรัลเลาะห์
หลังนาสรัลเลาะห์เสียชีวิต อยาตุลเลาะห์ คอเมเนอิ ผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศว่า “ด้วยความเมตตาและอำนาจของพระเจ้า เลบานอนจะทำให้ศัตรูที่รุกล้ำและมุ่งร้ายเสียใจต่อการกระทำของตัวเอง” แต่ไม่ได้เอ่ยถึงการลงมือของอิหร่านต่อการเสียชีวิตของคนที่ครั้งหนึ่งอิหร่านเคยยกย่องว่าเป็น “บุคคลที่โดดเด่นในโลกอิสลาม” หลังสงครามอิสราเอล-ฮิซบุลเลาะห์ในปี 2006 ขัดกับท่าทีก่อนหน้านี้ของคอเมเนอิที่ประกาศจะล้างแค้นหลังอิสราเอลลอบสังหาร อิสมาอิล ฮานิเยห์ หัวหน้ากลุ่มฮามาส
ท่าทีที่ลังเลของอิหร่านยังไม่หมดเท่านั้น เมื่อวันจันทร์ (30 ก.ย.) นาสเซอร์ คานานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและคนอิหร่านไม่ต้องการสงคราม แต่อยากให้เกิดสันติภาพและความสงบสุขในภูมิภาค” และย้ำว่า “เราจะไม่นิ่งนอนใจหากการเคลื่อนไหวหรือการดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของเรา”
การแสดงความเห็นเหล่านี้ล้วนมีแต่การสงวนท่าทีต่อการเสียชีวิตของนาสรัลเลาะห์ แม้ว่าฮิซบุลเลาะห์ภายใต้การนำของนาสรัลเลาะห์จะเป็นเพชรเม็ดงามของอิหร่านในยุทธศาสตร์ที่ยาวนานนับสิบปีของอิหร่านในการติดอาวุธให้กลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคเพื่อตอบโต้อิสราเอลและสหรัฐฯ แต่อิหร่านก็ยังระมัดระวังในเรื่องของการตอบโต้กลับว่าจะทำหรือไม่ หรือทำเมื่อไร
แต่ก็ใช่ว่าอิหร่านจะไม่เคยตอบโต้ เดือนเมษายนอิหร่านเปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลโดยตรงโดยไม่ให้ตั้งตัว รวมทั้งยิงขีปนาวุธใส่เป้าหมายในอิรัก ซีเรีย และปากีสถานในเมื่อต้นปี
อย่างไรก็ดี การตอบโต้เหล่านี้มีต้นตอมาจากการที่อิหร่านตกเป็นเป้าโจมตีโดยตรง อาทิ เหตุการณ์ที่ต้องสงสัยว่าอิสราเอลโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรีย
ซานาม วาลิค จากสถาบันคลังสมอง Chatham House ในกรุงลอนดอนมองว่า “ฉันคิดว่าลำดับความสำคัญของอิหร่านถูกเข้าใจผิดมากนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เกิดความเข้าใจผิดว่าอิหร่านจะเข้าร่วม”

เมื่อการตอบโต้โดยตรงไม่ใช่ทางเลือก ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า อิหร่านอาจหันไปพึ่งสมาชิก “แกนนำแห่งการต่อต้าน” (axis of resistance) รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธชีอะห์โปรอิหร่านในอิรัก กลุ่มกบฏฮูษีในเยเมน และกลุ่มติดอาวุธในซีเรีย ให้ก่อความเสียหายกับอิสราเอลและพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ
ทว่าบรรดาแกนนำแห่งการต่อต้านของอิหร่านก็สูญเสียไม่น้อยนับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มทำสงครามในฉนวนกาซาเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน ศักยภาพในการตอบโต้อิสราเอลก็อาจลดน้อยถอยลงไป
อีกทางเลือกคือ อิหร่านอาจโจมตีแบบไม่สมมาตร (asymmetric attacks) ด้วยการพุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาวยิว โบสถ์ยิว หรือคณะผู้แทนทางการทูตอิสราเอลเช่นที่เคยทำในอดีตแทน หรืออีกอย่างคือ ใช้โครงการพัฒนานิวเคลียร์เป็นอาวุธ โดยขณะนี้อิหร่านสามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้มีความบริสุทธิ์ในระดับที่สามารถผลิตอาวุธได้แล้ว
แต่ทางเลือกหลังสุดนี้ขัดกับท่าทีของประธานาธิบดี มาซูด เปเซชเคียน ของอิหร่าน ที่หาเสียงไว้ว่าจะหาทางพาอิหร่านออกจากมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลให้อิหร่านต้องจำยอมขายน้ำมันในราคาถูก แต่นั่นต้องแลกมากับการที่อิหร่านต้องกลับเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์กับตะวันตก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากอิหร่านทำสงครามเต็มรูปแบบกับอิสราเอล
วาลิคมองว่า “สำหรับตอนนี้ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีและผู้นำสูงสุดของอิหร่านต้องการเปิดช่องไว้สำหรับข้อตกลงและการเจรจา”
และเพื่อเปิดช่องทางนี้ไว้อิหร่านจำเป็นต้องมีคนออกหน้าสู่กับอิสราเอลแทน
อเล็กซ์ เวแทงกา หัวหน้าโครงการอิหร่านของสถาบันตะวันออกกลางมองว่า “ผู้นำอิหร่านพร้อมยอมรับการล่าถอยอย่างน่าขายหน้าเมื่อเผชิญกับการโจมตีจากอิสราเอลในระยะสั้น เพื่อปกป้องรัฐบาลในระยะยาว และนี่คือคำอธิบายว่าทำไมจนถึงตอนนี้อิหร่านยังไม่ตอบโต้”
Photo by KHAMENEI.IR / AFP