‘ทริปก้นเหล็ก’ วัยรุ่นจีนเที่ยวแนวใหม่ยอมนั่งรถไฟนานๆ แทนเครื่องบิน

16 พ.ย. 2567 - 03:30

  • สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีนทำให้เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เรียกว่า “ทริปก้นเหล็ก” ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

  • แม้ว่าหลายคนจะชอบการท่องเที่ยวสไตล์นี้ แต่บางคนกลับมองว่าทริปก้นเหล็กไม่ได้เหมาะกับทุกคน และอาจไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะกับผู้หญิง

 iron-butt-travelers-young-chinese-ditching-planes-travel-by-train-SPACEBAR-Hero.jpg

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้คนจีนระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นโดยเฉพาะกับการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เรียกว่า “ทริปก้นเหล็ก” ซึ่งตอบโจทย์ใครหลายคน 

ทริปก้นเหล็กที่ว่าคือ คนที่เลือกเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟหรือรถบัสสาธารณะแทนที่จะใช้เครื่องบินซึ่งใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า ทำให้ต้องนั่งนานจนก้นชาและไม่สะดวกสบายเท่านั่งเครื่องบิน จนเป็นที่มาของสไตล์การเดินทางเที่ยวแบบทรหดอดทน โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ เพราะมีเวลาเหลือเฟือแต่อาจมีเงินในกระเป๋าไม่มากนัก 

เทรนด์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อเถี่ยติ้ง (铁腚) ในภาษาจีนกลาง และมีแฮชแท็ก #ironbutttravel เป็นของกลุ่มซึ่งมียอดคลิกกว่า 19.8 ล้านครั้ง สโลแกนของกลุ่มคือ “คนที่มีก้นเหล็กจะได้เพลิดเพลินกับโลกก่อน”

“เหตุผลหลักคือ งบ การเที่ยวแบบทริปก้นเหล็กทำให้ฉันไปเที่ยวได้หลายที่โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ”

เผิงเฟย นักท่องเที่ยวก้นเหล็กวัย 27 ปีเผยกับ CNN

นักเที่ยวก้นเหล็ก 

หลินเอิน หนุ่มวัย 23 เป็นหนึ่งในวัยรุ่นจีนที่อยู่ในกลุ่มทริปก้นเหล็ก เขาเลือกนั่งรถบัส 3 วันเดินทางข้ามจากซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนไปยังกรุงอัสตานาของคาซัคสถาน ซึ่งหากนั่งเครื่องบินจะใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อหักลบเวลาช่วงพักระหว่างทางแล้ว หลินต้องนั่งหลังแข็งก้นชาอยู่บนรถบัสรวมทั้งหมด 46 ชั่วโมง โดยยืดแข้งยืดขาบ้างทุกๆ 2-3 ชั่วโมง 

เจ้าตัวเล่าว่าตลอดปีที่ผ่านมาเขาเดินทางทริปก้นเหล็กมาแล้วหลายครั้ง 

อีกคนหนึ่งที่โด่งดังในกลุ่มทริปก้นเหล็กคือ ซินซิน บล็อกเกอร์วัย 25 ปีที่เพิ่งจบปริญญาโทเมื่อปีที่แล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้ ปีที่แล้วเธอเดินทางท่องเที่ยว 42 เมืองทั้งในจีนและต่างประเทศ รวมทั้งรัสเซีย อินโดนีเซีย และไทย ด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 20,000 หยวน หรือราว 96,558 บาท

 iron-butt-travelers-young-chinese-ditching-planes-travel-by-train-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: รถไฟของจีนเชื่อมจากเซี่ยงไฮ้ถึงอู่ฮั่น Photo by Hector RETAMAL / AFP

ค้นหาดีลดีๆ ก่อนเที่ยว 

ซินซินเล่าว่า ก่อนเที่ยวเธอจะค้นหาตั๋วเครื่องบินและรถไฟที่ราคาต่ำที่สุดตามเว็บไซต์ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อประหยัดเงินให้ได้มากที่สุด อย่างเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเธอเดินทางจากมณฑลเจียงซีบ้านเกิดไปยังเมืองมูร์มันสก์ของรัสเซียเพื่อดูแสงเหนือด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 4,000 หยวน หรือราว 19,310 บาท  

ราคานี้รวมค่าตั๋วเครื่องบินจากเมืองอูฮั่นในมณฑลเหอเป่ยไปกรุงปักกิ่งแล้วต่อไปยังกรุงมอสโก สนนราคา 1,600 หยวน หรือราว 7,722 บาท ซินซินยังนั่งเครื่องบินภายในประเทศของรัสเซียโดยแต่ละไฟลต์สนนราคา 100 หยวน หรือราว 483 บาท ไปจนถึงการนั่งรถไฟฟรีจากบ้านเกิดไปยังอู่ฮั่นโดยใช้คะแนนแลกจากเว็บไซต์ขายตั๋วเว็บไซต์หนึ่ง

“หลายคนประเมินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางสูงไป แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือ ความรู้สึกของหัวใจตอนที่เตรียมตัวเดินทางต่างหาก”

ซินซิน

บล็อกเกอร์รายนี้ยังเล่าว่า คนที่ใช้เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวในจีนหลายคนไม่ทราบว่าพวกเขาสามารถใช้บริการรถแท็กซี่จากสนามบินหรือสถานีรถไฟไปยังโรงแรมได้ฟรี หากระยะทางไม่เกิน 5-10 กิโลเมตร เมื่อจองตั๋วผ่านเว็บไซต์เหล่านั้น

“การท่องเที่ยวด้วยงบที่จำกัดไม่ได้หมายความว่าจะได้ประสบการณ์ที่ไม่ดี หากเตรียมตัวอย่างดีคุณก็สามารถทำเกือบทุกอย่างได้ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย”

ซินซิน 

 iron-butt-travelers-young-chinese-ditching-planes-travel-by-train-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ทะเลทรายโกบี Photo by PATRICK BAZ / AFP

ประสบการณ์ติดดิน 

หลินซึ่งปีที่แล้วเดินทางด้วยทริปก้นเหล็กมา 10 ทริปซึ่งใช้เวลามากกว่า 300 ชั่วโมงบนรถบัสและรถไฟเล่าว่า เขาชอบประสบการณ์แบบ “ติดดิน” ที่เขาได้จากทริปก้นเหล็ก เพราะทำให้เขาได้สัมผัสท้องถิ่นนั้นๆ จริงๆ “ผมพบเจอเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ครอบครัว หรือการเลี้ยงชีพ” ทริปนั่งรถไฟ 53 ชั่วโมงจากกว่างโจวไปลาซาของทิเบตทำให้หลินได้เห็นทั้งที่ราบสูงทิเบต ทะลทรายโกบี และแนวเทือกเขาสูงใกล้ๆ

“คุณได้เห็นอะไรๆ มากมายบนท้องถนนที่ไม่สามารถเห็นได้จากเครื่องบิน”

หลินเอิน

ได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน 

ระหว่างการเดินทางทริปก้นเหล็กนักเดินทางต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งอยู่ใกล้ๆ กันบนรถ การพูดคุยจึงกลายเป็นวิธีฆ่าเวลาได้ดีและก่อเกิดมิตรภาพในที่สุด 

เผิงเล่าว่า เธอเจอคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคน “ฉันเจอคนหนุ่มสาวที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันมากมายบนถนน หลายคนจบปริญญาตรีที่กำลังใช้เวลาค้นหาตัวเองหลังเรียนจบ (gap year) หรือเพิ่งเรียนจบหมาดๆ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ยังมีเงินไม่มากนัก พวกเขาไม่ได้เร่งรีบเข้าสู่ตลาดการทำงานหรือทำตัวตามการหล่อหลอมของสังคม” 

บางคนไม่เห็นด้วย 

แม้ว่าหลายคนจะชอบการท่องเที่ยวสไตล์นี้ แต่บางคนกลับมองว่าทริปก้นเหล็กไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะการนั่งอยู่บนรถไฟหรือรถบัสนานๆ ในท่าเดิมๆ อาจสร้างความปวดเมื่อยและไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับบางคน บางคนบอกว่าการเที่ยวแบบสุดเหวี่ยงแบบนี้อาจทำให้เกิดการเหนื่อยล้า (burnout) หรือบอกว่าทริปก้นเหล็กอาจไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะกับผู้หญิง 

Photo by AFP / HECTOR RETAMAL

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์