ดูเหมือนว่าภาพถ่ายทางดาวเทียมบริเวณฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาที่แสดงให้เห็นวัตถุสีเทาจะช่วยยืนยันความกังวลของสหรัฐฯ ได้อย่างดีว่า ตอนนี้จีนกำลังขยายขอบเขตทางทหารออกไปไกลกว่า 3 เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองเรียบร้อยแล้ว
วัตถุที่ว่าคือ เรือคอร์เวตต์ 056A ของกองทัพเรือจีนที่จอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือที่จีนสร้างในกัมพูชาซึ่งใหญ่พอจะให้เรือรบขนาดใหญ่จอดเทียบท่าได้สบายๆ นอกจากนี้ บนฝั่งยังมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ (สร้างโดยจีนเช่นกัน) ที่คาดว่าทำไว้สำหรับให้กองทัพเรือจีนใช้สอย
ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธมาตลาดว่าท่าเรือเรียมไม่ใช่ฐานทัพของจีน โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญของกัมพูชาไม่อนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้าไปอยู่ถาวร และย้ำว่าท่าเรือเรียมพร้อมให้กองทัพเรือของพันธมิตรมาใช้ได้ตลอด
สวน สม นักวิเคราะห์นโยบายจาก Royal Academy of Cambodia เผยว่า “โปรดเข้าใจว่านี่คือฐานทัพของกัมพูชาไม่ใช่ของจีน กัมพูชาเป็นประเทศเล็กๆ และศักยภาพของกองทัพของเราก็มีจำกัด เราต้องการการฝึกอบรมจากเพื่อนๆ ภายนอกโดยเฉพาะจีน”
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายจับตามองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วยความกังขา
หากพูดถึงการผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วของอำนาจทางทะเลของจีนนั้น ขณะนี้กองทัพจีนมีเรือรบมากกว่ากองทัพสหรัฐฯ และมีฐานทัพเรือนอกประเทศเพียง 1 แห่งในจิบูตีที่สร้างเมื่อปี 2016 ขณะที่สหรัฐฯ มีฐานทัพเรือในต่างประเทศราว 750 แห่ง รวมทั้งในจิบูตี 1 แห่ง และในประเทศอื่นใกล้กับจีน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เชื่อว่าความไม่สมดุลนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความทะเยอทะยานของจีนที่จะเป็นมหาอำนาจทางการทหารระดับโลก
บางคนในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าในที่สุดจีนจะมีเครือข่ายของฐานทัพ หรือท่าเรือพลเรือนที่สามารถใช้เป็นฐานทัพได้กระจายอยู่ทั่วโลก และหนึ่งในแห่งแรกๆ ก็คือ ฐานทัพเรือเรียม
แต่ก่อนฐานทัพเรือเรียมซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกัมพูชาได้รับการปรับปรุงโดยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือทางการทหารมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐที่ให้กับกัมพูชา แต่สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือนี้ในปี 2017 หลังพรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชาถูกแบนและหัวหน้าพรรคต้องลี้ภัยหรือถูกจำคุก
หลังจากนั้นรัฐบาลกัมพูชาจึงหันมาพึ่งจีนเป็นหลักทั้งความช่วยเหลือและการลงทุน แล้วยกเลิกการซ้อมรบกับสหรัฐฯ โดยเปลี่ยนมาร่วมซ้อมรบกับจีนในชื่อ Golden Dragon แทน
ปี 2020 อาคารที่สร้างจากเงินทุนของสหรัฐฯ 2 หลังก็ถูกรื้อ ก่อนที่สิ่งก่อสร้างที่ได้รับเงินทุนจากจีนจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ปลายปีที่แล้วมีการสร้างท่าเรือใหม่ซึ่งหน้าตาคล้ายกับท่าเรือความยาว 363 เมตรที่ฐานทัพจิบูตี และยาวพอจะรองรับเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดของจีน
หลังจากนั้นเรือคอร์เวตต์ 2 ลำก็จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเรียม และทั้งสองลำหรืออาจเป็นเรือลำอื่นที่คล้ายกันก็จอดอยู่ที่นั่นเกือบตลอดปีนี้
กัมพูชาอ้างว่าเรือทั้งสองลำนี้มีไว้ฝึกซ้อม และเตรียมไว้สำหรับการซ้อมรบ Golden Dragon ของปีนี้ และว่า จีนกำลังต่อเรือคอร์เวตต์ 056A อีก 2 ลำสำหรับกองทัพเรือจีน และย้ำว่า จีนไม่ได้อยู่ที่ท่าเรือเรียมถาวร ดังนั้นจึงไม่นับว่าเป็นฐานทัพ
คำยืนยันของกัมพูชายังไม่เพียงพอให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คล้ายกังวลกรณีการขยับขยายท่าเรือเรียม ซึ่งภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่านอกจากท่าเรือใหม่แล้ว ยังมีอู่เรือแห้งที่เอาไว้ซ่อมบำรุงเรือ โกดัง และสิ่งที่ดูเหมือนอาคารสำนักงานและส่วนที่พักอาศัยที่มีสนามบาสเก็ตบอล 4 สนาม
ปี 2019 Wall Street Journal รายงานเกี่ยวกับสิ่งที่หนังสือพิมพ์เจ้านี้เรียกว่า ข้อตกลงระหว่างจีนกับกัมพูชาที่จะเช่าพื้นที่ฐานทัพ 770,000 ตารางเมตรเป็นเวลา 30 ปีที่รั่วไหลออกมา ซึ่งรวมถึงการประจำการของบุคลากรและอาวุธของกองทัพ
รัฐบาลกัมพูชาโต้ว่ารายงานของ Wall Street Journal เป็นข่าวปลอม แต่ต้องไม่ลืมว่าจนถึงตอนนี้มีแต่เรือรบของจีนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือแห่งใหม่นี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเรือพิฆาต 2 ลำของญี่ปุ่นรับการแจ้งให้เทียบท่าที่ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์
และหากการปรากฏตัวของจีนเริ่มแสดงถึงความถาวรมากขึ้นและผูกขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการกระทำนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชา
เคียร์สเตน กันเนสส์ นักวิจัยนโยบายอาวุโสจาก Rand Corporation มองว่า ในทางเทคนิคนั้นฐานทัพเรือเรียมไม่ใช่ฐานทัพถาวร และแม้ว่าการต่อเติมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากจีน ตัวฐานทัพเงก็ไม่ได้ปล่อยให้จีนเช่า “เรากำลังเห็นรูปแบบของเรือรบจีนจอดเทียบท่าที่เรียมอย่างต่อเนื่อง ทางหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงข้อหามของรัฐธรรมนูญคือ ไม่เรียกมันว่าฐานทัพของต่างชาติ แต่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน”
สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ก็มีข้อตกลงคล้ายๆ กันนี้
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การที่จีนปรากฏตัวที่ฐานทัพเรียมในระยะยาวไม่ค่อยมีข้อได้เปรียบสำหรับจีน โดยยกตัวอย่างฐานทัพ 3 แห่งที่จีนสร้างไว้แล้วในทะเลจีนใต้ และกองทัพเรืออันแข็งแกร่งที่วางไว้ทางชายฝั่งตอนใต้
แต่ฐานทัพเรือจีนในเรียมซึ่งตั้งอยู่ปากอ่าวไทยกลับสร้างความกังวลให้เพื่อนบ้านของกัมพูชาอย่างไทยและเวียดนาม เมื่อรวมกับฐานทัพอื่นๆ ที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็อาจมองได้ว่าจีนกำลังพยายามล้อมชายฝั่งของเวียดนามที่มีกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้อยู่กับจีน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติของไทยแสดงความกังวลเป็นการส่วนตัวต่อการตั้งฐานทัพจีนทางตอนใต้ของท่าเรือหลักของกองทัพเรือไทยในสัตหีบว่าจะเป็นการปิดทางออกจากอ่าวไทย
อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศนี้ไม่ได้เอ่ยถึงความกังวลนี้ต่อสาธารณะ ไทยต้องการหลีกเลี่ยงการสร้างแรงกระเพื่อมในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ส่วนเวียดนามก็ต้องการเลี่ยงการปลุกปั่นความรู้สึกต่อต้านเวียดนามในกัมพูชา ความไม่พอใจจีนในเวียดนามคือสิ่งที่รัฐบาลเวียดนามต้องการอยู่ให้ห่าง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ และอินเดียต่างก็กังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีฐานทัพจีนในมหาสมุทรอินเดียในอนาคต เช่นที่เกิดกับท่าเรือฮัมบันโตตาในศรีลังกา ที่รัฐวิสาหกิจจีนได้สิทธิ์การเช่า 99 ปีเมื่อปี 2017 หรือท่าเรือกวาดาร์ของปากีสถานที่พัฒนาโดยเงินทุนจากจีนเช่นกัน
แต่กรณีนี้ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ มีนักวิเคราะห์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่าจีนจะเทียบสหรัฐฯ ในการขยายฐานทัพออกไปทั่วโลกได้ในเร็วๆ นี้
เกร็ก โพลิง ประธาน CSIS Asia Maritime Transparency Initiative เผยกับ BBC ว่า “ฐานทัพเรือเรียมไม่ได้ทำให้ขยายอำนาจได้มากเท่าใดนัก มันไม่ได้ทำให้กองทัพเรือจีนเข้าใกล้สิ่งที่พวกเขาต้องการเป็นเลย”
สิ่งที่ (เรียม) สามารถทำได้คือ สร้างความแตกต่างในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง ติดตามดาวเทียม และจับตาเป้าหมายระยะไกล
“สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับจีน แต่ก็เป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่มี” โพลิงเผย
Photo by AFP / TANG CHHIN Sothy