เปิดคลังแสง! อิหร่านมีอาวุธอะไรไปสู้อิสราเอลบ้าง?

19 เมษายน 2567 - 06:53

israel-strikes-back-at-iran-would-iran-be-able-to-defend- itself-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ผู้บัญชาการทหารรักษาการณ์ของอิหร่านเตือนอิสราเอลไม่ให้มุ่งเป้าไปที่โรงงานนิวเคลียร์ และขู่ว่าอิหร่านพร้อมรับมือกับการตอบโต้ของอิสราเอลต่อการโจมตีด้วยขีปนาวุธ

  • ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) อิสราเอลโจมตีอิหร่านแล้ว! ใกล้ฐานทัพอากาศเชการีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดอิสฟาฮาน

  • อิหร่านมีระบบป้องกันขีปาวุธอะไรบ้าง? ในการรับมือกับการโต้กลับของอิสราเอล

อิสราเอลโจมตีอิหร่านแล้ว! 

เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว NPR เมื่อวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ว่า “ทหารอิสราเอลได้ทำการโจมตีอิหร่านด้วยขีปนาวุธ” นอกจากนี้ยังมีรายงานเหตุระเบิดในอิรักและซีเรียด้วย 

การโจมตีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ที่อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะดำเนินการภายหลังการโจมตีของอิหร่านเมื่อค่ำวันเสาร์ (13 เม.ย.) เมื่ออิหร่านยิงโดรนและขีปนาวุธหลายร้อยลูกใส่อิสราเอล ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสกัดกั้นและสร้างความเสียหายต่ออิสราเอลเพียงเล็กน้อย  

สำนักข่าวฟาร์สของอิหร่านรายงานว่า “ได้ยินเสียง ‘ระเบิด 3 ครั้ง’ ใกล้ฐานทัพอากาศเชการีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดอิสฟาฮาน” ขณะที่ ฮอสเซน ดาลิเรียน โฆษกหน่วยงานอวกาศของอิหร่านกล่าวว่า “โดรนหลายลำถูกยิงตกได้สำเร็จ” 

แต่ทั้งนี้ขอบเขตการโจมตีของอิสราเอลและอาวุธที่ใช้ยังไม่ชัดเจน 

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ก็เรียกร้องให้อิสราเอล ‘ยกเลิก’ การโจมตีทางทหารเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในภูมิภาคที่เกิดจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส 

ก่อนหน้านี้อิหร่านขู่โจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิสราเอล…หากคิดตอบโต้

israel-strikes-back-at-iran-would-iran-be-able-to-defend- itself-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by IRANIAN STATE TV (IRIB) / AFP

นายพลระดับสูงของอิหร่านกล่าวว่าประเทศของเขาอาจพิจารณานโยบายนิวเคลียร์ของตัวเองอีกครั้ง หากอิสราเอลขู่ว่าจะโจมตีพื้นที่ปรมาณูของอิหร่าน ซึ่งเป็นคำเตือนโดยปริยายว่าอิหร่านอาจวิ่งเข้าหาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่สงครามยังคงบานปลายต่อไปภายหลังจากที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา 

อาห์มัด ฮักทาแล็บ ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามไม่ได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร แต่อิหร่านกล่าวมานานแล้วว่าโครงการนิวเคลียร์ของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลจากสหรัฐฯ อิสราเอล และสหประชาชาติมานานหลายปี มีจุดประสงค์เพื่อสันติภาพเท่านั้น

“การโจมตีดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการโจมตีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันต่อโรงงานนิวเคลียร์ของอิสราเอล…เป็นไปได้ที่จะทบทวนหลักและนโยบายนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และเปลี่ยนแปลงการพิจารณาของประกาศครั้งก่อน…หากอิสราเอลใช้คำขู่ว่าจะโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อกดดันเตหะราน”

ฮักทาแล็บกล่าว

ความคิดเห็นดังกล่าวได้กระพือความตึงเครียดที่สหรัฐฯ และพันธมิตรพยายามบรรเทาในช่วงไม่กี่วันนับตั้งแต่อิหร่านเปิดการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธราว 300 ลูกใส่อิสราเอล เพื่อตอบโต้การโจมตีในซีเรียที่ทำให้เจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิตหลายคนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ทั้งอิสราเอล สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรยิงอาวุธเข้ามาเกือบทั้งหมด แต่นายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ของอิสราเอลกล่าวว่า “ประเทศนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตอบโต้” 

มีการคาดเดากันมากขึ้นว่าอิสราเอลอาจใช้การโจมตีตอบโต้โดยกำหนดเป้าหมายที่โรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ยังคงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้มีความบริสุทธิ์ 60% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ถูกกดดันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์สนับสนุนข้อตกลงไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์ 

“ศูนย์นิวเคลียร์ของศัตรูไซออนนิสต์ (อิสราเอล) ได้รับการระบุแล้ว และข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับเป้าหมายทั้งหมดก็อยู่ในมือของเรา” ฮักทาแล็บกล่าว อิสราเอลมีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ใกล้กับเมืองทะเลทรายดิโมนา และเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าจะไม่เคยยืนยันว่ามีอยู่จริงก็ตาม  

ต่อมาในวันนั้น ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านได้ย้ำจุดยืนของประเทศต่ออิสราเอลขณะปราศรัยต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ “การป้องกันและตอบโต้ที่ถูกต้องตามกฎหมายของอิหร่านได้ข้อสรุปแล้ว อิสราเอลต้องถูกบังคับให้หยุดการโจมตีทางทหารที่ขัดต่อผลประโยชน์ของเราอีกต่อไป หากไม่เป็นเช่นนั้น อิหร่านจะ ‘ตอบโต้อย่างเด็ดขาดและเหมาะสม’ ซึ่งจะทำให้อิสราเอลเสียใจกับการกระทำของตัวเอง” 

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็พยายามแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ หนุนหลังอิสราเอล และคว่ำบาตรเศรษฐกิจของอิหร่านมากยิ่งขึ้น “ผมได้กำชับทีมของผม รวมถึงกระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการคว่ำบาตรซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการทหารของอิหร่านเสื่อมโทรมลงอีก…สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะรักษาความปลอดภัยของอิสราเอล” ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์ 

ด้านอิสราเอลยินดีกับคำแถลงดังกล่าว ยิสราเอล คาทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลโพสต์บน X ว่า “ตอนนี้เป็นเวลาที่จะจัดตั้งแนวร่วมระดับโลกและแนวร่วมระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านอิหร่าน ร่วมกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัฐอาหรับสายกลาง เพื่อหยุดยั้งหัวของงูที่คุกคามเสถียรภาพโลก” 

แล้วอิหร่านมีอาวุธป้องกันตัวเองอะไรบ้าง?

-อาวุธที่ทำเอง- 

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่อิหร่านต้องพึ่งพาความสามารถในท้องถิ่นของตัวเองในด้านเศรษฐกิจและการทหาร ซึ่งเป็นผลพวงจากการทำสงครามกับอิรักเป็นเวลา 8 ปีที่รุกรานอิหร่านในปี 1980 ภายใต้การนำของอดีตผู้นำ ซัดดัม ฮุสเซน และได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างชาติจำนวนมาก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย 

เนื่องจากอิหร่านถูกนานาชาติคว่ำบาตรมานานหลายทศวรรษ ฉะนั้นความเหนือกว่าทางอากาศของอิหร่านยังคงถูกท้าทายอย่างหนัก ด้วยเครื่องบินรบและอุปกรณ์บางส่วน รวมถึงเครื่องบินขับไล่ F-4 และ F-5 ที่ผลิตในสหรัฐฯ ย้อนหลังไปถึงก่อนการปฏิวัติของประเทศในปี 1979 ซึ่งโค่นล้มระบอบกษัตริย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก 

ในขณะนี้อิหร่านมักใช้งานเครื่องบินขับไล่ซุคฮอย (Sukhoi fighter jets) และเครื่องบินขับไล่มิก (MiG fighter jets) ของรัสเซียซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโซเวียต ขณะเดียวกันกองทัพอากาศอิหร่านก็ได้สร้างเครื่องบินไอพ่นของตัวเองเช่นกัน เช่น เครื่องบินขับไล่ซาเอเคห์ (Saeqeh) และเกาซาร์ (Kowsar) ซึ่งมีพื้นฐานการออกแบบของสหรัฐฯ  

ทว่าการส่งมอบเครื่องบินขับไล่ Su-35 จำนวน 20 ลำที่ผลิตโดยรัสเซีย ซึ่งดำเนินการเจรจามาระยะหนึ่งแล้ว อาจช่วยฟื้นฟูกองทัพอากาศอิหร่านได้อย่างมีนัยสำคัญ  

-ระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล-

israel-strikes-back-at-iran-would-iran-be-able-to-defend- itself-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by HO / Iranian Presidency / AFP

อิหร่านพยายามชดเชยเครื่องบินรบที่เก่าแก่ในประเทศ่ด้วยโครงการขีปนาวุธโดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการฝังฐานทัพอากาศ คลังขีปนาวุธ และสิ่งอำนวยความสะดวกนิวเคลียร์บางส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในภูเขา เพื่อปกป้องอาวุธเหล่านี้จากอาวุธบังเกอร์บัสเตอร์ (ระเบิดสุญญากาศ) ที่สหรัฐฯ มอบให้แก่อิสราเอล  

ระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกลที่สุดซึ่งดำเนินการโดยอิหร่านคือ ‘บาวาร์-373’ (Bavar-373) ที่เข้าประจำการในปี 2019 หลังจากพัฒนาและทดสอบมานาน 1 ทศวรรษ รวมถึงได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่นั้นมา 

ในเดือนพฤศจิกายน 2022 เจ้าหน้าที่อิหร่านได้จัดแสดงระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล ‘Bavar-373’ ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า “มีระยะการตรวจจับด้วยเรดาร์ซึ่งปรับปรุงจาก 350 กม. เป็น 450 กม. และขณะนี้ได้ติดตั้งขีปนาวุธเชื้อเพลิงแข็งไซยาด (Sayyad 4B) ขั้นสูง” 

มีรายงานว่าขีปนาวุธดังกล่าวสามารถล็อกเป้าหมายต่างๆ รวมถึงขีปนาวุธพิสัยไกล โดรน และเครื่องบินขับไล่ล่องหน (stealth fighter jets) ได้ที่ระยะทางสูงสุด 400 กม. ติดตามเป้าหมายได้ 60 เป้าหมาย โจมตีเป้าหมายได้ 6 เป้าหมายในคราวเดียว และโจมตีเป้าหมายเหล่านั้นที่ระยะสูงสุด 300 กม.  

สื่อของรัฐอิหร่านกล่าวว่า “ระบบนี้เหนือกว่าระบบ S-300 ที่ผลิตในรัสเซียในบางแง่มุม และยังเทียบได้กับระบบขีปนาวุธที่ล้ำหน้ากว่า S-400 ซึ่งเป็นระบบที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก” แม้ไม่เคยพบเห็นระบบป้องกันขีปนาวุธบาวาร์-373 ต่อสู้นอกการซ้อมรบในอิหร่าน แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

นอกจากนี้ อิหร่านยังใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธ S-300 ที่สหภาพโซเวียตเคยใช้อีกด้วย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อยิงเครื่องบิน โดรน เรือสำราญและขีปนาวุธนำวิถีที่กำลังเข้ามาในระยะสูงสุด 150 กม.  

-ระบบชั้นการป้องกันขีปนาวุธ-

ระบบป้องกันระยะกลางหลายระบบของอิหร่านได้แก่ ระบบอาร์มาน (Arman), ระบบแท็คติคอลไซยาด (Tactical Sayyad) และระบบคอร์ดาด-15 (Khordad-15) สามารถปกป้องน่านฟ้าของอิหร่านจากเป้าหมายที่ระยะไกลถึง 200 กม. ในระดับความสูงต่างกัน 

ระบบอาร์มานเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2022 ได้รับการติดตั้งไว้ที่ด้านหลังของรถบรรทุกทหารและพร้อมที่จะประจำการภายในไม่กี่นาที มีด้วยกัน 2 รุ่น โดยใช้เรดาร์อาเรย์สแกนทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความแม่นยำถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับอาวุธขีปนาวุธทางยุทธวิธีสำหรับใช้ในสนามรบในระยะไม่เกิน 300 กม.  

นอกจากนี้ ภัยคุกคามที่เข้ามายังเผชิญกับระบบป้องกันขีปนาวุธระยะสั้นของอิหร่านได้แก่ ระบบอาซารัคช์ (Azarakhsh), ระบบมาจิด (Majid) และระบบซูบิน อาซารัคช์ (Zoubin Azarakhsh)  

ระบบป้องกันอาซารัคช์เปิดตัวมาพร้อมกับอาร์มาน เป็นระบบขนาดกะทัดรัดที่ออกแบบมาสำหรับภารกิจในระดับความสูงต่ำเพื่อตอบโต้ภัยคุกคาม เช่น โดรนและควอดคอปเตอร์ สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ในระยะ 50 กม. โดยมีตัวติดตามแบบออปติคัลไล่เป้าหมายได้ไกลถึง 25 กม.  

ทั้งนี้ ระบบป้องกันขีปนาวุธของอิหร่านหลายระบบสามารถยิงในแนวดิ่งได้ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและมีพื้นที่มากขึ้น นั่นหมายความว่าระบบเหล่านี้สามารถใช้งานกับเรือรบได้เช่นกัน 

เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสกล่าวเมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า “อิหร่านวางแผนที่จะเปิดตัวระบบป้องกันขีปนาวุธเพิ่มเติมในปีนี้” 

ทว่าการสื่อสารผิดพลาดเพียงครั้งเดียว…อาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่คาดคิด

israel-strikes-back-at-iran-would-iran-be-able-to-defend- itself-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Photo by ANGELA WEISS / AFP

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวว่า

“การแก้ปัญหา 2 รัฐต่อวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์เป็นพื้นฐานของมติของสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงก่อนหน้านี้…การคำนวณผิดเพียงครั้งเดียว การสื่อสารผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่คาดคิด นั่นคือความขัดแย้งระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบที่จะสร้างความหายนะให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและส่วนที่เหลือของโลก”

กูเตอร์เรสเรียกร้องให้อิสราเอลทำการ ‘ยึดครองโดยสงคราม (occupying power / ควบคุมทางทหารชั่วคราว)’ เพื่อปกป้องประชากรปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์จากความรุนแรงและการข่มขู่ และเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านฉนวนกาซาได้อย่างปลอดภัย 

“ผมขอชี้แจงให้ชัดเจน ความเสี่ยงกำลังทวีคูณขึ้นในหลายๆ ด้าน เรามีความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นและดึงภูมิภาคนี้ออกจากวิกฤตการณ์” กูเตอร์เรสกล่าว 

ทั้งนี้ สภายุโรปได้ทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่เพื่อเป็นการลงโทษ หลังโจมตีอิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา 

Photo by AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์