เมี๊ยว เมี๊ยว เมี๊ยว!!! เสียงร้องเหมียวๆ ที่ใครๆ ก็มักได้ยินที่ ‘อิสตันบูล’ ดินแดนที่ตั้งอยู่ใน 2 ทวีประหว่างฝั่งเอเชีย และยุโรป ที่นี่มีเจ้าเหมียวเยอะมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองแห่งแมว’ หรือเรียกว่า ‘Catstanbul’ แค่แมวจรก็มีประมาณ 125,000 ตัวแล้ว แต่ถ้ารวมแมวเลี้ยงไปด้วยก็ประมาณ 200,000 ตัวเลยทีเดียวล่ะ
แมวที่นี่แทบจะเดินครองเมืองกันอยู่แล้ว แถมคนที่นี่ยังเป็นมิตรกับแมวมากจนได้ชื่อว่า ‘เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับแมวที่สุด’ แล้วทำไมเมืองนี้ถึงมีแมวเยอะขนาดนี้นะ?
‘Catstanbul’ เมืองแห่งแมว เมี๊ยว เมี๊ยว!!!
ที่อิสตันบูลมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องการ ‘เลี้ยงแมว’ ผู้คนที่นี่เติบโตมากับแมวจรและแมวเลี้ยง จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นชาวตุรกี หรือนักท่องเที่ยวเล่นกับแมว ให้อาหารแมว หรือถ่ายรูปกับแมว ซึ่งกลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตาไปซะแล้ว บางคนถึงกับบอกว่าแมวในอิสตันบูลมีชีวิตที่น่าอิจฉาและเป็นเพียงสัตว์ชนิดเดียวเท่านั้นที่ได้เพลิดเพลินกับเมืองนี้ได้อย่างเต็มที่
แล้วทำไมแมวที่นี่ถึงได้มีเยอะแยะมากมายขนาดนี้? ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างของคนกับแมวที่มีมาอย่างยาวนานจนเป็นที่มาของ ‘เมืองแห่งแมว’ ซึ่งเริ่มต้นจากอารยธรรมอานาโตเลียและอียิปต์โบราณ
ว่ากันว่าแมวของอิสตันบูลมีถิ่นกำเนิดในอียิปต์ เป็นดินแดนที่เหล่าแมวเหมียวถูกเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเป็นครั้งแรก และตามโบราณกาลมีความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะบางครั้งก็มีการฝังร่างของแมวไว้กับร่างฟาโรห์ด้วย
ส่วนแมวในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของตุรกี) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม ผู้คนจึงนิยมเลี้ยงแมวไว้ไล่หนูไม่ให้เข้ามากินเมล็ดพืชและแพร่กระจายโรค ถือเป็นก้าวแรกของความสัมพันธ์ที่จริงใจระหว่างแมวกับมนุษย์ในอานาโตเลีย จากนั้นแมวก็มีการแพร่พันธุ์ไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน
นอกจากนี้ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็แสดงให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แมวทั้งหมดมีต้นกำเนิดจากอานาโตเลียและอียิปต์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรมและสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเบลเยียมได้ตรวจสอบ DNA ของซากแมวมากกว่า 200 ตัวเพื่อสรุปผลดังกล่าวแล้วพบว่า แมวที่ถูกเลี้ยงไว้เป็นนักล่าในอานาโตเลียได้ปรับตัวเข้ากับชีวิตในเมืองในสมัยออตโตมัน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประชากรแมวในอิสตันบูลก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกศตวรรษ
‘แมวที่นี่เป็นของทุกคน!’

ในปัจจุบัน หากถามว่า ‘ทำไมที่อิสตันบูลถึงมีแมวเยอะจัง?’ คำตอบก็คือ เพราะชาวเมืองมักจะคอยจัดหาทั้งน้ำทั้งอาหาร รวมถึงที่พักพิง โดยเฉพาะที่สวนสาธารณะนั้นมักจะกลายเป็นจุดนัดพบของเจ้าเหมียวและเหล่าทาสแมวทั้งหลาย
ชาวเมืองอิสตันบูลจะมีกฎการอยู่ร่วมกับแมวอยู่ข้อนึงก็คือ ‘พวกเขามองว่าแมวเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง’ ซึ่งกฎนี้ทำให้แมวมีอิสระเสรีภาพในการเลี้ยง และยังทำให้แมวมีอาหาร รวมถึงที่พักพิงอีกด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจไปเลยว่าทำไมเมืองนี้ถึงมีแมวอาศัยเต็มเมืองไปหมด
และเป็นเพราะกฎนี้เองที่ทำให้เหล่าแมวเหมียวในอิสตันบูลดูเป็นมิตร มักเข้าหาคนแปลกหน้าเพื่อขอความรักและขออาหารด้วย
นอกจากนี้ ทางการยังได้ออกนโยบาย ‘ห้ามฆ่า ห้ามจับแมว’ ดังที่สุภาษิตในศาสนาอิสลามว่าไว้ “หากคุณฆ่าแมว คุณต้องสร้างมัสยิดเพื่อจะได้รับการอภัยจากพระเจ้า” จากนั้นในปี 2021 ทางการก็ตรากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแมวขึ้นมา ซึ่งมีการกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ทำร้าย ฆ่า หรือละเลยสัตว์ ขณะที่กฎหมายในอดีตกำหนดให้ผู้ที่กระทำทารุณกรรมแมวจ่ายค่าปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
‘กลี-ทอมบิลี’ 2 แมวดังแห่งอิสตันบูล
หลายคนอาจจะเคยคุ้นหน้าคุ้นตาเจ้าเหมียวที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวอิสตันบูลผ่านบนโซเชียลมีเดียมาบ้างแล้วสำหรับ ‘เจ้าทอมบิลี’ แมวลายเสือสีขาวอ้วนตัวเมียที่อาศัยอยู่แถวย่านซิเวอร์เบย์ เพราะน้องโด่งดังมาจากมีมรูปถ่ายภาพเอนหลังริมถนนฟุตบาท แต่น้องกลับดาวแมวไปแล้วตั้งแต่ปี 2016 ตอนนี้จึงเหลือแค่เพียงรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงที่ตั้งอยู่บริเวณที่น้องชอบนั่ง สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเจ้าหนูทอมบิลี

ส่วนเจ้าแมวอีกตัวที่เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแมวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก นั่นก็คือ ‘เจ้ากลี’ แมวลายตาสีเขียวตัวเมียผู้พิทักษ์มหาวิหารฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) ตั้งแต่ปี 2004 แถมยังมีบัญชี Instagram ผู้ติดตามถึง 100,000 บัญชีเลยทีเดียว อีกทั้งยังเคยถ่ายรูปคู่กับ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย แต่น้องก็กลับดาวแมวไปแล้วเช่นเดียวกันในปี 2020 ท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาผู้ชื่นชอบแมวทั่วโลก