‘ไม่ชาร์จนทท.เพิ่ม แต่คิดเงินคนท้องถิ่นถูกกว่า’ กลยุทธ์ร้านอาหารญี่ปุ่นรับมือนักท่องเที่ยวแบบไร้ดราม่า

27 ก.ค. 2567 - 04:00

  • ครึ่งแรกของปี 2024 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ 17.78 ล้านคน

  • สถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศเริ่มออกมาตรการต่างๆ เช่น เก็บภาษีนักท่องเที่ยว จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งห้ามขายแอลกอฮอล์

  • ญี่ปุ่นเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมปราสาทฮิเมจิ กับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่านักท่องเที่ยวท้องถิ่นถึง 6 เท่า

japan-restaurants-not-charging-tourists-more-charging-locals-less-SPACEBAR-Hero.jpg

ขอชื่นชมและดีใจไปกับคุณด้วยถ้าคุณสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้เหมือนเจ้าของภาษาและสั่งอาหารจากร้านขายซูชิใกล้กรุงโตเกียวมาทานได้อย่างสบาย เพราะในวันข้างหน้า หากคุณมีโอกาสมาญี่ปุ่นอีก อาจจะได้ข้อเสนอที่ดีกว่านี้ในการซื้อหาสินค้าและบริการในฐานะที่ทำตัวกลมกลืนเหมือนเป็นคนในท้องถิ่น  

ญี่ปุ่นไม่ใช่จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในเรื่องราคาสินค้าและบริการแพงในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เมื่อเจอปัญหานักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจนล้นเมือง สืบเนื่องจากหลายปัจจัยด้วยกันทั้งความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และการอ่อนค่าของเงินเยน ทำให้บรรดาร้านอาหารในประเทศต้องปรับตัวรับปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวล้นแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ซึ่งก็คือการใช้กลยุทธ์กำหนดราคาค่าบริการหรือราคาสินค้าที่แตกต่าง   

“คนมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะให้บริการชาวต่างชาติ และเรื่องนี้มันเกินกำลังของเรา” โชโกะ โยเนมิตสึ ซึ่งบริหารร้าน Tamatebako ร้านอาหารทะเลปิ้งย่างในย่านชิบูยะ แหล่งช็อปปิ้งชื่อดังของโตเกียวกล่าว  

โยเนมิตสึยืนยันว่า เขาไม่ได้ชาร์จนักท่องเที่ยวเพิ่ม แต่ใช้วิธีลดราคาแก่ชาวญี่ปุ่น 1,000 เยน  (6.50 ดอลลาร์สหรัฐ) แทน  

“เราจำเป็นต้องใช้ระบบราคานี้ด้วยเหตุผลด้านต้นทุน” โยเนมิตสึกล่าว  

ญี่ปุ่นหวนกลับมาเปิดประเทศอย่างเป็นทางการและเต็มรูปแบบอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2022 หลังจากยกเลิกข้อจำกัดต่างๆด้านการเดินทางเพราะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19   

ข้อมูลรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า  ปีนี้เงินเยนอ่อนค่าอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบหลายทศวรรษ  กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแห่มาเที่ยวญี่ปุ่น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์  17.78 ล้านคน และมีความเป็นไปได้ว่าจะทำลายสถิติของปี 2019 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวญี่ปุ่นจำนวน 31.88 ล้านคน

japan-restaurants-not-charging-tourists-more-charging-locals-less-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: นักท่องเที่ยวเดินชมพระราชวังอิมพีเรียลท่ามกลางแดดร้อนจัดในกรุงโตเกียว Photo by Kazuhiro NOGI / AFP

เพื่อรับมือปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวล้นเมือง สถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศเริ่มออกมาตรการต่างๆ เช่น เก็บภาษีนักท่องเที่ยว จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งห้ามขายแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรเทาผลกระทบจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากเกินไป  

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองฟูจิคาวากูจิโกะ จังหวัดยามานาชิ ได้ติดตั้งแผงตาข่ายสีดำสูง 2.5 เมตร เพื่อบดบังทัศนียภาพอันงดงามของภูเขาไฟฟูจิ ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเบื้องหลังร้านสะดวกซื้อลอว์สัน เพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่หลั่งไหลมาถ่ายรูปภูเขาไฟฟูจิในบริเวณดังกล่าว จนสร้างความวุ่นวายในชุมชน ทั้งจอดรถอย่างผิดกฎหมายในที่ห้ามจอด วิ่งข้ามถนนไปมาเสี่ยงเกิดอันตรายต่อผู้สัญจร  

ขณะที่ในเดือนนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวฮอกไกโด จังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศซึ่งมีวิวทิวทัศน์สวยงามที่สุดทั้งยังมีรีสอร์ทสกีมากมาย เรียกร้องให้ภาคธุรกิจกำหนดราคาสินค้าและบริการที่น้อยกว่าแก่คนในท้องถิ่น   

ส่วนนายกเทศมนตรีในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ก็กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าชมปราสาทฮิเมจิ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)ให้เป็นมรดกโลก สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวท้องถิ่นถึง 6 เท่า  

เอลิซา ชาน รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการบริการจาก Chinese University of Hong Kong กล่าวว่า การกำหนดราคาที่แตกต่างเป็นวิธีการที่ได้ผลในการรับมือกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง  

“เจ้าของกิจการต้องการสร้างความมั่นใจแก่ตนเองว่า การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะไม่ผลักดันให้ลูกค้าในท้องถิ่นที่เข้ามาใช้บริการบ่อยๆ และมีความภักดีต่อร้านหายไป การชาร์จค่าสินค้าและบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นทางออกที่ดีในกรณีนี้” ชานกล่าว  

ส่วนโยเนมิตสึ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารบอกว่า การไหลทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในการเพิ่มโต๊ะอาหาร โดยร้านอาหารปิ้งย่างอาหารทะเลของเขาต้องว่าจ้างพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรับออร์เดอร์ รับจองโต๊ะและอธิบายเรื่องต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว ตั้งแต่ความแตกต่างระหว่างการบรรจุซาชิมิและอาหารปิ้งย่างลงในบรรจุภัณฑ์ของพวกเขา เพราะหากเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนเหล่านี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือความวุ่นวายโกลาหล  

ขณะที่เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในญี่ปุ่น แต่การกำหนดราคาที่แตกต่างค่อนข้างเป็นเรื่องปกติในส่วนอื่นๆ ของโลก โดยคนในท้องถิ่นมักจ่ายค่าสินค้าและบริการน้อยกว่าคนต่างถิ่นอยู่แล้วเห็นได้จากราคาสินค้าและบริการที่เขียนไว้เป็นภาษาท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าจ่ายค่าสินค้าและบริการมากกว่า   

ในญี่ปุ่น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจที่จะตัดสินใจใช้การกำหนดราคาที่แตกต่างหรือไม่ แต่บางประเทศรัฐบาลก็เข้ามาจัดการ  เช่น ในเวนิส เจ้าหน้าที่เสนอเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้ามาท่องเที่ยวและเก็บค่าธรรมเนียมในการจองทางออนไลน์เพื่อรับมือปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง  

อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจชาวญี่ปุ่นบางคนก็พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น ชูจิ มิยาเกะ เจ้าของอิซากายา ผับเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านสึกิจิของกรุงโตเกียว ที่เสนอเมนูราเมงกุ้งล็อบสเตอร์ในราคา 5,500 เยน (35 ดอลลาร์สหรัฐ) แพงกว่าบะหมี่กุ้งที่เขาขายตามปกติถึง 4 เท่า ซึ่งเขาบอกว่า เมนูอาหารระดับพรีเมียมนี้เป็นที่นิยมของบรรดานักท่องเที่ยวที่ยินดีจ่ายเพื่อลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ  

โฟบี ลี นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย บอกว่า เธอใช้จ่ายเงินในการเที่ยวญี่ปุ่นนาน 2 สัปดาห์น้อยกว่าการมาเที่ยวญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ และเธอไม่รังเกียจที่จะจ่ายเงินเพิ่มอีกเล็กน้อยหากว่าการที่ค่าเงินเยนอ่อนสร้างความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตแก่คนในท้องที่  

“สิ่งนี้ช่วยสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นให้สามารถบริการนักท่องเที่ยวผู้โชคดีอย่างเราได้ต่อไป ช่วยให้เรามีประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์และช่วยอนุรักษ์ส่วนสำคัญต่างๆ ที่เป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไว้ได้ต่อไป เช่น ร้านค้าประเภทของชำ หรือโรงแรมแบบดั้งเดิม” ลีกล่าว  

Photo by Richard A. Brooks / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์