เมื่อไชน์มัสแคท ‘พันธุ์แท้’ ของญี่ปุ่นต้องมาแพ้องุ่น ‘เลียนแบบ’ จากจีน

25 ต.ค. 2567 - 09:34

  • เมื่อไชน์มัสแคท ‘พันธุ์แท้’ ของญี่ปุ่นต้องมาแพ้องุ่น ‘เลียนแบบ’ จากจีน-เกาหลีใต้

  • องุ่นพันธุ์เลียนแบบที่ว่านี้เหมือนทั้งรูปลักษณ์ และรสชาติที่ยังคล้ายกันอีก แถมราคายังถูกกว่ามาก ยิ่งไปกว่านั้นปริมาณการส่งออกก็มากกว่า อีกทั้งยังสร้างเม็ดเงินเยอะกว่าพันธุ์แท้อีก

  • นอกจากองุ่นแล้ว ยังพบว่า สตอรว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ และส้มก็ถูกเลียนแบบ และถูกนำไปปลูกในต่างประเทศด้วย

japan-sours-as-premium-grape-widely-copied-in-china-south-korea-SPACEBAR-Hero.jpg

ที่ไทยกำลังมีดรามาประเด็นเจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานมากถึง 95.8% ในองุ่นนำเข้าจากจีนพันธุ์ยอดนิยม ‘ไชน์มัสแคท’ (Shine Muscat) กว่า 50 ชนิด ซึ่งต้องรอสืบสาวราวเรื่องกันต่อไป  

องุ่นสายพันธุ์นี้มาจากประเทศญี่ปุ่น และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีประเด็นว่าจีนและเกาหลีใต้เอง ‘เลียนแบบ’ องุ่นพันธุ์นี้กันอย่างแพร่หลาย ที่เหมือนทั้งรูปลักษณ์ รสชาติก็ใกล้เคียงกัน แต่ขายในราคาที่ถูกกว่ามาก จนสามารถเอาชนะเกษตรกรชาวญี่ปุ่นได้ในด้านปริมาณการผลิตจนทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียรายได้มากกว่า 10,000 ล้านเยน/ปี (ราว 2.2 พันล้านบาท)

“สิ่งที่ดีเยี่ยมขององุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทก็คือ องุ่นแต่ละลูกจะมีขนาดใหญ่ ปลูกง่าย และมีรสหวานแต่ไม่หวานจนเกินไป”

ยูกิ นากามูระ เกษตรกรชาวญี่ปุ่นในภูมิภาคตอนกลางของจังหวัดนางาโนะของประเทศ กล่าว

นากามูระ เล่าว่า องุ่นเหล่านี้เป็น ‘หุ้นส่วน’ ของเขา และเขาต้องการส่งออกไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ที่ผลไม้ญี่ปุ่นได้รับความนิยม 

แต่ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย!!! เพราะตามชั้นวางขายองุ่น รวมถึงช่องทางออนไลน์กลับมีองุ่นเลียนแบบที่ปลูกในจีนและเกาหลีใต้ แบบที่แทบจะเหมือนกับองุ่นไชน์มัสแคททุกอย่าง แต่ราคาถูกกว่ามาก 

เกษตรกรญี่ปุ่นน้ำตาซึม! ‘ไชน์มัสแคท’ พันธุ์แท้ แพ้ ‘องุ่นเลียนแบบ’ จากจีน-เกาหลีใต้

ตามรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า จีนและเกาหลีใต้ได้นำต้นกล้าองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทออกจากญี่ปุ่นและนำไปต่อกิ่งบนต้นองุ่นท้องถิ่นเพื่อให้ผลิตผลองุ่นที่มีรูปลักษณ์และรสชาติเกือบจะดีเท่ากัน

เกาหลีใต้ส่งออกองุ่นไชน์มัสแคทมากกว่าญี่ปุ่นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบตามมูลค่า ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกในจีนที่ผลิตองุ่นชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าของญี่ปุ่นถึง 40 เท่า 

แม้ญี่ปุ่นจะออกกฎหมาย ‘ห้ามนำเมล็ดและต้นกล้าของพืชและผลไม้ที่จดทะเบียนออกนอกประเทศ’ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2021 แต่การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นประเด็นท้าทายสำหรับญี่ปุ่นพอสมควร...เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นรองทั้งจีนและเกาหลีใต้เรื่องปริมาณการส่งออกอยู่มากทีเดียว 

กระทรวงเกษตรยอมรับในปี 2016 ว่า ต้นกล้าองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทถูกเลียนแบบและปลูกนอกประเทศ แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่เพียงพอในการขัดขวางการดำเนินการดังกล่าว จึงทำให้การผลิตและการส่งออกจากแหล่งต่างประเทศยังคงขยายตัวต่อไป 

เกาหลีใต้มีปริมาณการส่งออกองุ่นแซงหน้าญี่ปุ่นในปี 2019 มูลค่าประมาณ 800 ล้านเยน (ราว 177 ล้านบาท) ในเดือนมกราคม-เมษายน 2019 เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2018 โดยองุ่นไชน์มัสแคทคิดเป็น 90% ขณะที่การส่งออกองุ่นของญี่ปุ่นสร้างรายได้เพียง 147 ล้านเยน (ราว 32 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งตามหลังปริมาณการส่งออกของเกาหลีใต้ถึง 7 เท่า 

ตามรายงานของสมาคมนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น เผยว่า จีนและเกาหลีใต้เป็นจุดหมายปลายทางหลักของเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าที่ลักลอบนำออกจากญี่ปุ่น  

ญี่ปุ่นใช้พื้นที่ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทราว 1,200 เฮกตาร์ (12 ตารางกิโลเมตร) เมื่อเทียบกับ 1,800 เฮกตาร์ (18 ตารางกิโลเมตร) ในเกาหลีใต้ และ 53,000 เฮกตาร์ (530 ตารางกิโลเมตร) ในจีน 

การสืบสวนของสมาคมในปี 2020 ยังพบอีกว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของญี่ปุ่นมากกว่า 30 รายการถูกเลียนแบบและปลูกในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ และส้มระดับพรีเมียมที่ปลูกในจังหวัดชิซูโอกะด้วย 

กฎหมายที่ออกเมื่อเดือนเมษายน 2021 กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนต้องจ่ายค่าปรับสูงสุด 10 ล้านเยน (ราว 2.2 ล้านบาท) และจำคุกสูงสุด 10 ปี แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าออกนอกประเทศแล้ว การติดตามหาเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าดังกล่าวกลับกลายเป็น ‘เรื่องที่เป็นไปไม่ได้’ 

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรเป็น 2 ล้านล้านเยน (ราว 4.4 แสนล้านบาท) ในปี 2025 และ 5 ล้านล้านเยน (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) ในปี 2030 

เมื่อไชน์มัสแคทพันธุ์เลียนแบบ ‘ขายดีกว่า’ พันธุ์แท้

japan-sours-as-premium-grape-widely-copied-in-china-south-korea-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Peter PARKS / AFP

“ลูกค้าต้องดูจากราคาอย่างแน่นอน แล้วองุ่นไชน์มัสแคทจากญี่ปุ่นก็มักมีราคาแพงกว่าของจีนถึง 2-3 เท่า...แต่คุณสามารถลิ้มรสถึงความแตกต่างได้...ไชน์มัสแคทของญี่ปุ่นจะมีรสชาติสดชื่น หวาน และมีกลิ่นองุ่นที่เข้มข้นกว่า แต่ของจีน แม้จะมีรสหวาน แต่ไม่มีกลิ่นองุ่น”

พ่อค้าผลไม้ที่ตลาดคึกคักแห่งหนึ่งในฮ่องกง บอก

“ผลไม้เป็นสิ่งพิเศษสำหรับคนญี่ปุ่น ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมักมองหาผลไม้ที่หวาน ใหญ่ และสวยงามในกล่องเก๋ๆ ดังนั้น เกษตรกรชาวญี่ปุ่นจึงพยายามผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น หวานขึ้น และอร่อยขึ้น” ยาซูโนริ เอบิฮาระ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองเครื่องหมายการค้าพืชที่กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น กล่าว 

หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ญี่ปุ่นพัฒนาพันธุ์ผลไม้พันธุ์ใหม่ๆ มาตั้งแต่ทศวรรษปี 1920 ยกตัวอย่าง : แอปเปิ้ลฟูจิ ตั้งชื่อตามภูเขาไฟอันโด่งดังของญี่ปุ่นที่ได้รับการพัฒนาในช่วงทศวรรษปี 1930 ซึ่งเป็นแอปเปิ้ลลูกผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์ และปัจจุบันกลายเป็นแอปเปิ้ลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก 

แต่ภารกิจพัฒนาผลไม้พันธุ์ใหม่อย่างเต็มรูปแบบนั้นเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้ที่ไซต์งานขององค์การวิจัยการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (NARO) ทั่วประเทศ 

“ต้องใช้เวลาหลายปีในการทำงานอย่างพิถีพิถันเพื่อพัฒนาพันธุ์ผลไม้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมที่จะวางจำหน่ายตามร้านค้า...มันเป็นเรื่องปกติที่ต้องใช้เวลามากกว่า 30 ปีในการผลิตองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท” ทาเคฮิโกะ ชิมาดะ หัวหน้าหน่วยวิจัยพันธุ์ผลไม้ของ NARO กล่าว

ทางองค์กรวิจัยได้เริ่มใช้การวิเคราะห์ DNA เพื่อพยายามตรวจจับผลไม้สายพันธุ์เลียนแบบ

“มีลำดับจีโนมเฉพาะองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทเท่านั้นที่มี ดังนั้นเราจึงตรวจสอบได้ว่า องุ่นมีลำดับดังกล่าวหรือไม่ และระบุได้ว่ามันเป็นองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทหรือไม่”

ชิมาดะ กล่าวเสริม

แม้ปัจจุบันจะเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทเป็นที่นิยมไปทั่วเอเชีย

“แต่ผมไม่ชอบเลยที่เห็นว่าสิ่งของบางอย่างที่ญี่ปุ่นทุ่มเทอย่างหนักเพื่อผลิตออกมานั้นถูกนำออกสู่ต่างประเทศและขายที่นั่นได้อย่างง่ายดาย”

นากามูระ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์