เมื่อวัฒนธรรม ‘การทำงานหนัก’ ในญี่ปุ่นกลายเป็นปัญหา
หลังจากที่มีข่าวแพทย์หนุ่มวัย 26 ปีในญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเมื่อปีที่แล้ว เพราะทำงานล่วงเวลามากกว่า 200 ชั่วโมงภายในเดือนเดียว และเมื่อไม่นานมานี้ทางครอบครัวของเขาได้ออกมาเรียกร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานหนักดังกล่าวซึ่งมีมาอย่างยาวนานตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ NHK ระบุว่า ‘ชินโก ทาคาชิมะ’ เคยทำงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองโกเบก่อนที่จะปลิดชีพตัวเองเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยทนายความครอบครัวของเขาเผยว่า ทาคาชิมะทำงานล่วงเวลามากกว่า 207 ชั่วโมงในเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต และไม่ลาหยุดเลยเป็นเวลา 3 เดือน
ขณะที่ทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์โคนัน (Konan Medical Center) ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ทว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยตรวจแรงงานของรัฐบาลกลับตัดสินว่า ‘การเสียชีวิตของทาคาชิมะเกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่ยาวนาน’
ในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) ที่ผ่านมา จุนโกะ ทาคาชิมะ มารดาของเขากล่าวว่า “ ‘ไม่มีใครคอยเฝ้ามองผมเลย’ เขาคอยบอกฉันอยู่เสมอ และฉันคิดว่าสภาพแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น…ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานของแพทย์จะดีขึ้น เพื่อไม่ให้สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”
ขณะที่พี่ชายของทาคาชิมะซึ่งไม่เปิดเผยชื่อก็กล่าวในแถลงข่าวด้วยว่า “ไม่ว่าเราจะมองชั่วโมงทำงานของน้องชายอย่างไร แต่ 200 ชั่วโมง (ของการทำงานล่วงเวลา) ก็เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อ…”
อย่างไรก็ดี ด้านศูนย์การแพทย์โคนันได้ตอบโต้กลับว่า “มีหลายครั้งที่ (แพทย์) ใช้เวลาศึกษาด้วยตัวเองและนอนหลับตามความต้องการทางสรีรวิทยาของพวกเขา เนื่องจากพวกเขามีอิสระในระดับที่สูงมาก จึงไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานได้อย่างแม่นยำ”
เมื่อได้รับการติดต่อจาก CNN เมื่อวันจันทร์ (21 ส.ค.) ที่ผ่านมา โฆษกโรงพยาบาลเผยว่า “เราไม่ยอมรับว่ากรณีนี้เป็นการทำงานล่วงเวลา และจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกในอนาคต”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาญี่ปุ่นต่อสู้กับวัฒนธรรมการทำงานหนักมาเป็นเวลานานซึ่งก่อให้เกิดความเครียดและผลกระทบต่อสุขภาพจิต จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘คาโรชิ’ (Karoshi) หรือ ‘การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก’ ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป
และตลอดหลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีคดีทำงานหนักหลายคดีที่กลายเป็นประเด็นข่าวระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2016 พบว่าแพทย์โรงพยาบาลเต็มเวลามากกว่า 1 ใน 4 ทำงานมากถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ 5% ทำงานมากถึง 90 ชั่วโมง และ 2.3% ทำงานมากถึง 100 ชั่วโมง
ส่วนรายงานอีกฉบับที่ตีพิมพ์ในปีนี้โดยสมาคมวิทยาลัยการแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่นระบุว่า แพทย์มากกว่า 34% มีสิทธิได้รับ ‘ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาพิเศษในระดับที่เกินขีดจำกัดสูงสุดที่ 960 ชั่วโมงต่อปี’
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบล่วงเวลาในปี 2018 ก็มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย โดยรัฐบาลรายงานเมื่อปีที่แล้วว่าจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อปีสำหรับพนักงาน 1 คนนั้น ‘ลดลงทีละน้อย’ แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจำนวนชั่วโมงทำงานจริงจะลดลง แต่ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาก็มีความผันผวนตลอดหลายปีที่ผ่านมา