นิวยอร์กไทมส์มอง แม้ ‘พิธา’ ชนะเลือกตั้งแล้วแต่ยังเอื้อมไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ

14 ก.ค. 2566 - 06:54

  • “คะแนนโหวต 25 ล้านเสียงเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศ…ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ไม่มีทาง เราไม่ยอม”

  • ดูเหมือนว่าตัวแปรหลักสำคัญอย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ จะดึงตัว เศรษฐา ทวีสิน มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ครั้งถัดไปที่หลายคนคาดเดาว่าถูกตาต้องใจบรรดาเหล่า สว. มากกว่า

  • ในการโหวตครั้งต่อไปก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลทหารอาจเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ด้วย

juntas-allies-reject-thai-election-results-SPACEBAR-Thumbnail

ชัยชนะ สว. = เมินเสียงประชาชน?

หลังจากการโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยล้มเหลวครั้งแรกไปเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากเขาไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้เพียงพอ เพราะวุฒิสภา (สว.) ภักดีต่อรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกที่จะไม่สนับสนุนและไม่ออกเสียงให้พิธา ซึ่งดูเหมือนว่าช่วงเวลาแห่งความไม่สงบทางการเมืองกำลังจะจุดชนวนการประท้วงทั่วประเทศที่รุนแรงขึ้นอีกครั้ง 

“นี่มันเดจาวูชัดๆ” ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ภาครัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวงจรการเลือกตั้ง การประท้วง การรัฐประหาร และการปราบปรามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2007 

“ที่นี่มีรูปแบบในการต่อต้านกลุ่มเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าในการเมืองไทย และตอบโต้กลับมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิ์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใหญ่” ฐิตินันท์ กล่าวเสริม 

“ผมต้องการเป็นผู้นำของประชาชนเพื่อบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้ว เพื่อหาสมดุลใหม่ระหว่างอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ” พิธา กล่าว 

แต่ดูเหมือนรัฐสภาไทยจะไม่ยอมรับวิสัยทัศน์ดังกล่าว แม้ว่าพรรคก้าวไกลของพิธาจะรวบรวมพรรคอื่นๆ ในการสร้างรัฐบาลผสม แต่เขากลับได้รับคะแนนเสียงรวมกันเพียง 324 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งน้อยกว่า 376 เสียงที่เขาต้องการเพื่อชิงตำแหน่งนายกฯ 

ขณะที่ผู้สนับสนุนพิธาก็ออกมารวมตัวกันเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) ที่ผ่านมา บริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงเทพฯ และบางคนถึงกับสาบานว่าจะออกไปประท้วงตามท้องถนนหากเขาไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะได้เป็นนายกฯ 

“คะแนนโหวต 25 ล้านเสียงเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศ…ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ไม่มีทาง เราไม่ยอม” อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้นำการประท้วงกล่าวระหว่างการประท้วงเมื่อคืนวันพุธ (12 ก.ค.) โดยอ้างถึงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2023  

ภายหลังการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) พิธาก็กล่าวว่าเขาจะพยายามหาแนวร่วมจาก สว.ที่งดออกเสียงต่อไป “จากผลที่เกิดขึ้นในรัฐสภา ผมยอมรับ แต่ผมไม่ยอมแพ้…ผมเข้าใจว่ามีแรงกดดันมากมายต่อพวกเขา และแรงจูงใจบางอย่างที่ไม่อนุญาตให้พวกเขาลงคะแนนเสียงให้สอดคล้องกับเสียงของประชาชน” พิธา กล่าว 

‘พรรคเพื่อไทย’ กลายเป็น ‘ตัวแปรหลัก’?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/GiZl4qkSJwbwdd1pGVJvE/6294637df3f92706809e8ceb27668d66/juntas-allies-reject-thai-election-results-SPACEBAR-Photo01
Photo: MANAN VATSYAYANA / AFP
ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้ที่หลายคนต่างก็พูดว่าตัวแปรหลักสำคัญก็คือ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในการดึงตัว เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาฯ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ครั้งถัดไป ซึ่งถือว่าเป็นผู้สมัครที่ถูกตาต้องใจในบรรดาเหล่า สว. มากกว่า 

“สว.อาจลงคะแนนให้ เศรษฐา แต่พรรคเพื่อไทยอาจยังคงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงซึ่งสนับสนุนพิธา” วันวิชิต บุญโปร่ง นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว  

อย่างไรก็ดี ในการโหวตครั้งต่อไปก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลทหารอาจเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ด้วย 

“สว.เกือบทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจาก พล.อ.ประวิตร…นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา” ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยแห่งวิทยาลัยบัณฑิตเอเชียกล่าวถึง สว. 250 คนในสภาฯ นั้น 

การเลือกตั้งกำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคที่ในช่วงเวลาหนึ่งเปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบเผด็จการทหาร และเพราะไทยเคยเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ไทยจะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารในปัจจุบัน 

หากย้อนกลับไปจะพบว่าพรรคก้าวไกลเองก็ได้รับความนิยมในลักษณะเดียวกันกับการเคลื่อนไหวประชานิยมของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และความล้มเหลวในการโหวตนายกฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาก็คงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการจัดตั้งกลุ่มนิยมกษัตริย์ไทยที่เคยขัดขวางแคนดิเดตของพรรคอนาคตใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาแล้วเมื่อปี 2020 โดยศาลรัฐธรรมนูญ 

การเรียกร้องอย่างแข็งกร้าวของพรรคก้าวไกลให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจสุดโต่งเกินไปสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ แม้แต่ผู้ที่คิดว่าตนเองมีแนวคิดเสรีนิยมและสนับสนุนการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยเองก็ตาม” 

“สำหรับตอนนี้ สถาบันกษัตริย์ถูกมองว่าเป็นเสาหลักของประเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นพวกเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม คุณก็ยังต้องเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศักดิ์ศรีของชาติ” วันวิชิต กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์