‘คามิกัตสึ’ ต้นแบบแนวคิด ‘Zero Waste’ เมืองไร้ขยะแห่งแรกในญี่ปุ่น

30 มี.ค. 2568 - 00:00

  • ยินดีต้อนรับสู่ ‘คามิกัตสึ’ เมืองต้นแบบแนวคิด ‘Zero Waste’ แห่งแรกในญี่ปุ่น ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษจนกลายเป็นเมืองปลอดขยะ

  • ปัจจุบันมีอัตราการรีไซเคิลมากกว่า 80% สูงกว่าเมืองใหญ่ๆ อย่างลอนดอนที่ 42% และนิวยอร์ก 17% ทำให้คามิกัตสึเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ

kamikatsu-in-japan-transforming-into-zero-waste-town-SPACEBAR-Hero.jpg

‘Zero Waste’ แนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์ ฟังแล้วดูย๊ากยาก แต่เชื่อไหมว่ามีอยู่เมืองหนึ่งที่ทำได้จริง จนได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองไร้ขยะ’!!! ที่แห่งนี้เป็นเมืองเล็กๆ อยู่ในจังหวัดโทคุชิมะ บนเกาะชิโกกุของญี่ปุ่น รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ยินดีต้อนรับสู่ ‘เมืองคามิกัตสึ’ (Kamikatsu) 

กว่าจะเป็นเมืองไร้ขยะ...ต้องใช้เวลาถึง 2 ทศวรรษ!!!

‘คามิกัตสึ’ เมืองปราศจากขยะ…เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่มีประชากรเพียง 1,500 คน แถมประชากรมากกว่าครึ่งยังเป็นผู้สูงอายุด้วย จุดเริ่มต้นของแนวคิดขยะเป็นศูนย์ต้องย้อนกลับไปเมื่อราว 24 ปีก่อน หลังจากที่เมืองแห่งนี้เพิ่งสร้างเตาเผาขยะใหม่ ทว่ามันกลับก่อให้เกิดควันพิษจากการเผาขึ้นมากมาย ชาวบ้านจึงประกาศความตั้งใจว่าจะทำให้คามิกัตสึเป็นเมืองที่ปราศจากขยะโดยสิ้นเชิงภายในปี 2020 

โครงการแรกๆ เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และนำไปสู่นโยบาย ‘Zero Waste’ ในปี 2003 ซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนในเมืองต่างหาทั้งวิธีลดขยะ การรีไซเคิล ตลอดจนการนำขยะทั้งหมดกลับมาใช้ซ้ำ และในปัจจุบันเมืองนี้มีอัตราการรีไซเคิลมากกว่า 80% สูงกว่าเมืองใหญ่ๆ อย่างลอนดอนที่ 42% และนิวยอร์ก 17% ทำให้คามิกัตสึกลายเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวมีผู้มาเยือนมากกว่า 2,000 คนทุกปี

เป้าหมายสำคัญคือ “การคิดถึงอนาคตของสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยของลูกหลานนั้นเป็น ความรับผิดชอบของเราเอง...”

เมืองแห่งนี้ทำอย่างไรถึงกลายเป็นต้นแบบความ ‘ยั่งยืน’ ในระดับนานาชาติ

ในปี 2005 เมืองคามิกัตสึได้ก่อตั้งศูนย์ ‘Zero-Waste Academy’ นำโดย อากิระ ซากาโนะ เพื่อดำเนินตามนโยบายขยะเป็นศูนย์ โดยที่ชาวบ้านจะต้องปฏิบัติตามหลักการ ‘3Rs’ ได้แก่ : 

  • ลดการใช้ (Reduce) 
  • นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) 
  • รีไซเคิล (Recycle) 

เนื่องจากที่นี่ไม่มีบริการเก็บขยะในเมือง ชาวบ้านจึงต้องแยกขยะขยะทิ้งกันเอง และต้องแยกออกเป็นหมวดหมู่ไม่น้อยกว่า 45 ประเภทก่อนนำไปที่ศูนย์รวบรวมขยะเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นขยะจำพวกอาหาร โลหะ กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว ถาดอาหาร เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องจักร เป็นต้น โดยจะมีอาสาสมัครคอยตรวจสอบให้แน่ใจว่าชาวบ้านทิ้งขยะลงถูกถังหรือเปล่า 

สินค้าที่ยังอยู่ในสภาพดีจะถูกส่งไปที่ร้านรีไซเคิล ‘คุรุ คุรุ’ (วลีภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘หมุนเวียน’) ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้นที่สามารถนำสิ่งของที่ไม่ต้องการไปทิ้งได้ แถมชาวบ้านยังสามารถนำสินค้ากลับบ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้า เครื่องถ้วยชาม และของประดับ 

ซากาโนะเผยว่า ในตอนแรกที่เริ่มโครงการนี้ คนในเมืองพากันต่อต้านและคิดว่ามันเป็นเรื่องวุ่นวาย เพราะพวกเขาต้องแยกขยะหลายประเภท แล้วยังต้องเอามาไว้ที่ศูนย์แยกขยะอีก ในเวลานั้น ชาวบ้านคิดว่าหน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่และผลักภาระให้พวกเขา จึงต้องมีการประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้านบ่อยครั้ง เมื่อชาวบ้านลองลงมือทำกันอย่างจริงจัง พวกเขาก็รู้ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด 

ไม่เพียงเท่านี้ คามิกัตสึยังมีโรงเบียร์ ‘Kamikatsu's Rise & Win Brewing Co.’ ที่สร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้จากอาคารที่ถูกทำลาย ถือเป็นอนุสรณ์แห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง การผลิตเบียร์คราฟต์ของที่นี่จะใช้พืชผลทางการเกษตรภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ไร้ขยะ’ ชาวบ้านสามารถนำขวดมาเติมเบียร์คราฟต์ได้ แต่ทางโรงเบียร์ก็มีเหยือกแบบใช้ซ้ำสำหรับซื้อกลับบ้าน  

นอกจากนี้ก็ยังมี ‘Cafe Polestar’ ร้านกาแฟปลอดขยะ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นในการทำอาหาร และเมนูของร้านยังเปลี่ยนไปตามวัตถุดิบที่มีอยู่ด้วย ในส่วนของตัวอาคาร ทางร้านใช้วัสดุฉนวนกันความร้อนคุณภาพสูงและกระจกสองชั้นเพื่อประหยัดพลังงาน สำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านและนำแก้วมาเองก็จะได้ส่วนลด 

แยกขยะ...กิจกรรมสร้างสายสัมพันธ์

สังคมที่นี่ปลูกฝังให้ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะก่อนทิ้งเสมอ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันที่คนแก่เมืองอื่นๆ มักมีปัญหาว่าไม่มีคนดูแลจนรู้สึกเหงา แต่คนแก่ที่นี่กลับมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างดีจากการทำกิจกรรมแยกขยะที่ศูนย์ แถมชาวบ้านยังรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นว่าความพยายามของทุกคนช่วยลดขยะได้อย่างไรบ้าง และยังสามารถนำขยะบางส่วนไปขายนำรายได้เข้าเมืองได้อีกด้วย  

ตามรายงานของฟอรัมเศรษฐกิจโลกพบว่าในญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว ในเมืองคามิกัตซึก็ไม่ต่างกัน แต่คนแก่ในเมืองนี้มีความผูกพันกันแน่นแฟ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบคัดแยกและเก็บขยะนั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์ การเข้าสังคม และสุขภาพจิต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์