จับตาลาวนั่งประธานอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญชี้ความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญ

31 ม.ค. 2567 - 06:30

  • นักวิเคราะห์ชี้ว่าการเป็นประธานอาเซียนของลาวอาจไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญของอาเซียนได้มากนัก

  • ลาวเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ดังนั้นจึงน่าจับตามองว่าลาวจะพยายามขอความช่วยเหลือจากจีนเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาหรือไม่

laos-asean-2024-chair-challenges-china-sea-myanmar-SPACEBAR-Hero.jpg

ผู้เชี่ยวชาญชี้ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับหลายๆ ประเทศ และความรุนแรงในเมียนมาถือเป็นความท้าทายของลาวในฐานะประธานอาเซียน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างลาวกับจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญ 

สมัยที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนก็มีความหวังว่าอินโดนีเซียจะช่วยแก้ปัญหาทั้งสองนี้ได้ แต่ก็ไม่ค่อยมีความก้าวหน้าอะไร เมื่อลาวประเทศที่เล็กและยากจนที่สุดก้าวขึ้นมาแทนที่อินโดนีเซีย บรรดานักวิเคราะห์ก็ไม่ได้มองว่าลาวในฐานะประธานอาเซียนจะแก้ปัญหานี้ได้ดีนัก 

ซาเฟียห์ มูฮิบัต ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศในอินโดนีเซียเผยกับ AP ว่า

มีความคาดหวังมากมายตอนอินโดนีเซียเป็นประธาน และบางความคาดหวังก็ไม่เป็นไปตามที่คาด เมื่ออินโดนีเซียส่งไม้ต่อให้ลาว ผมมองว่าความคาดหวังค่อนข้างต่ำในแง่ของสิ่งที่ลาวจะทำได้จริงๆ

หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากกการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยของอองซานซูจีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 อาเซียนก็บรรลุแผน “ฉันทามติ 5 ข้อ” เพื่อความสงบ แต่นับตั้งแต่นั้นมาเมียนมาก็เพิกเฉยต่อแผนดังกล่าว ขณะเดียวกันวิกฤตด้านมนุษยธรรมก็ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า กว่า 2.6 ล้านคนต้องพยพออกจากบ้านเนื่องจากความรุนแรงทวีขึ้น 

ช่วงนั้นแม้อินโดนีเซียจะพบปะกับผู้มีอำนาจในเมียนมากว่า 180 ครั้งก็ไม่สามารถบรรลุความก้าวหน้าใดๆ  

มูฮัมหมัด ไฟซาล จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศจาก S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์เผยกับ AP ว่า

จริงๆ แล้วอาเซียนมีแต้มต่อน้อยมากในเรื่องเมียนมา เมียนมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาเซียนเลย พวกเขาไม่ได้สนใจฉันทามติ 5 ข้อนั่นเลย

ระหว่างเป็นประธานอาเซียน อินโดนีเซียได้ก่อตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษอาเซียน และนักการทูตลาวซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในสำนักงานนี้เคยเดินทางไปเมียนมาเพื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมา  นอกจากนี้อินโดนีเซียยังก่อตั้งกลไกทรอยกาซึ่งประกอบด้วยประธานอาเซียนในปัจจุบัน อดีต และประเทศที่จะขึ้นมาเป็นประธานในลำดับถัดไป ซึ่งขณะนี้คือ อินโดนีเซีย ลาว และมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนลาวในระหว่างที่เป็นประธานอาเซียน  

ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำลาวปี 2020-2023 ซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่กับศูนย์เอเชียแปซิฟิกเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงในฮาวายเผยกับ AP ว่า “อาเซียนจะดูมีภาษีมากขึ้นหากสามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้...ทรอยกานี้เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะกิจโดยสมาชิกอาเซียนโดยความเห็นพ้องของลาว ผมมองว่าลาวกำลังต้องการความช่วยเหลือ” 

ไฟซาลเผยกับ AP ว่า “พวกเขาต้องการรักษาความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนกับรัฐบาลทหารเมียนมา และคิดว่าหากรัฐบาลทหารยังอยู่ในอำนาจจะเป็นประโยชน์กับพวกเขา แต่ในความเป็นจริงมันอาจไม่ใช่” 

ตอนนี้รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเสียท่าให้กับปฏิบัติการโจมตีของกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยที่ร่วมมือกันถล่มกองทัพตั้งแต่เดือนตุลาคม 

ส่วนจีนถูกมองว่าให้การสนับสนุนทางอ้อมกับกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) เนื่องจากจีนเริ่มไม่พอใจเรื่องการค้ายาเสพติดและเหตุอาชญากรรมตามแนวชายแดนจีนที่ติดกับเมียนมา และจีนยังมีอิทธิพลอย่างรุนแรงกับรัฐบาลทหารเมียนมา 

ไฟซาลเผยว่า ลาวเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ดังนั้นจึงน่าจับตามองว่าลาวจะพยายามขอความช่วยเหลือจากจีนเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาหรือไม่ “มันค่อนข้างชัดเจนว่าทั้งรัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มกบฏอื่นๆ ต่างพยายามหาแรงสนับสนุนจากจีน” 

ฝ่ายจีนรักษาท่าทีว่าจะไม่เข้าไปยุ่มยามกับการเมืองภายในของประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าจีนจะอยากมีบทบาทมากขึ้นในการยุติความขัดแย้งในเมียนมาหรือไม่ หากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ยอมให้จีนทำเช่นนั้น 

หลายประเทศในอาเซียนมีความขัดแย้งกับจีนในประเด็นการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญในการเดินเรือ ทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไนต่างก็อ้างสิทธิ์พื้นที่เกาะ ปะการัง และทรัพยากรใต้ทะเลในทะเลจีนใต้ อินโดนีเซียก็กังวลเรื่องการรุกล้ำของจีนในน่านน้ำของเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย 

ความขัดแย้งทางทะเลระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปีที่แล้ว สร้างความกังวลว่าความขัดแย้งนี้อาจเป็นชนวนสู่ความขัดแย้งใหญ่ที่ลากสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรของฟิลิปปินส์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อเดือนธันวาคมจีนประกาศว่าจะเดินหน้ากดดันทางทหารกับฟิลิปปินส์ต่อ และฟิลิปปินส์ก็เริ่มไม่พอใจที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นไม่สนับสนุน 

ไฟซาลมองว่า สถานการณ์นี้ไม่น่าจะเปลี่ยนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของลาว เนื่องจากลาวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน แม้ว่าระหว่างการเป็นประธานอาเซียนในปี 2016 ลาวสามารถสร้างสมดุลระหว่างทุกฝ่ายด้วยการประนีประนอมที่ภายหลังถูกเรียกว่าเป็นการประนีประนอมที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่แฮปปี้เหมือนกัน 

แต่ไฟซาลบอกว่า หลังจากนั้นลาวก็เริ่มเป็นหนี้จีนจากโครงการโครงสร้างฟื้นฐานหลายโครงการ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีน-ลาว 

“พวกเขาจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากจีน เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาจีนในทุกเรื่อง” ไฟซาลระบุ “ผมเชื่อว่าลาวจะพยายามคงสถานะเดิมไว้ ไม่ทำอะไรเพิ่มเติม เพียงแค่รักษาสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้เท่านั้น”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์