เงินสำรองลาวใกล้หมด-หนี้ท่วม อาจต้องยกหุ้นโรงไฟฟ้าใช้หนี้จีน

17 ก.ค. 2567 - 07:45

  • ลาวมีหนี้สาธารณะ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 108% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

  • ทุนสำรองระหว่างประเทศของลาว นับจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.ปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Laos-central-bank-shake-up-reveals-forex-crisis-China-dependence-SPACEBAR-Hero.jpg

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชีย นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารภายในธนาคารกลางแห่งสปป.ลาวเมื่อไม่นานมานี้ว่า สะท้อนให้เห็นภาพวิกฤตค่าเงินกีบของลาวได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังตอกย้ำว่า เศรษฐกิจลาวพึ่งพาทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่มากไป โดยการโยกย้าย บุนเหลือ สินไซวอละวง ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติลาว หลังจากดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 ปี เป็นสัญญาณล่าสุดที่สะท้อนถึงปัญหาหนี้สินของลาว 

ที่สำคัญ วิกฤตนี้อาจทำให้ลาวต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มจากรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อหยุดกระแสเงินสดไหลออกนอกประเทศ 

แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการที่สภาแห่งชาติของลาวมีมติเห็นชอบให้บุนเหลือ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติลาวจะเป็นแค่การโยกย้ายเขาไปนั่งตำแหน่งอื่นที่ท้าทายกว่าหรือว่าเป็นการไล่ออกจากตำแหน่ง แม้ว่าช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอภิปรายในสภา สันติภาพ พรมวิหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของลาวได้กล่าวถึงข้อบกพร่องของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติรายนี้ ที่ไม่สามารถเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวได้มากพอก็ตาม   

หลังจากโยกย้ายบุนเหลือแล้ว ได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติลาวคนใหม่คือ วัดทะนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการแบงก์ชาติที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญความท้าทายในภารกิจเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศ 

นายธนาคารซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อคนหนึ่งในอาเซียน ที่ทำงานร่วมกับธนาคารในลาว  มีความเห็นว่า การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดในธนาคารกลางลาว ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลในหมู่ผู้นำประเทศ เนื่องจากวิกฤติหนี้ต่างประเทศของลาวอยู่ในฐานะที่เรียกได้ว่าเลวร้ายลงเรื่อยๆ  

“ลาวไม่อยากผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้อยากเป็นหนี้ด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ด้วย เพราะจะมีผลกระทบทางการเมืองตามมา” นายธนาคารผู้ไม่เปิดเผยชื่อให้ความเห็น 

กระทรวงการคลังของลาวเผยแพร่ข้อมูลปี 2023 ที่ถือเป็นวงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุดว่า ลาวมีหนี้สาธารณะที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ (external public debt) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 

นอกจากนี้ ยังมีหนี้สาธารณะและหนี้ที่ค้ำประกันโดยภาครัฐ (Public and Publicly Guaranteed) ทั้งที่กู้ยืมในประเทศ และนอกประเทศจำนวน 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 108% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 

โดยมีหนี้ต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจากจีนมากถึง 5.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 48% ของจีดีพี  

ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวนับจนถึงสิ้นเดือนมี.ค. ปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และรัฐบาลลาวก็กำลังดิ้นรนที่จะเพิ่มทุนสำรองสกุลดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ 

ด้านแหล่งข่าวในรัฐบาลลาวเปิดเผยว่า ลาวมีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อปีประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2024 ถึงปี 2028 ขณะที่ รมว.คลังของลาว เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลต้องการเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหนี้  

ท่ามกลางปัญหาหนี้สาธารณะที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ลาวก็เจอปัญหามูลค่าของเงินกีบอ่อนค่าลงอย่างหนัก ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงอีก  เนื่องจากเศรษฐกิจของลาวพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก 

เงินดอลลาร์กลายเป็นที่ต้องการไม่เพียงแค่เพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังใช้ชำระค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภค และการลงทุนในประเทศด้วย  

ปัจจุบัน มีการซื้อขายเงินกีบของลาวอยู่ที่ประมาณ 21,500 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือต้องใช้เงินกีบไปแลกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวกว่าจะได้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2022 ที่เคยแลกได้ที่ 11,500 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงการอ่อนค่าของเงินกีบอย่างรุนแรง 

สถิตย์ แถลงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ให้ความเห็นกับนิกเคอิเอเชียว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดยั้งแผนการของรัฐบาลลาวในการเพิ่มทุนสำรองเงินดอลลาร์  

“ปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในลาวได้รับคำสั่งให้อัดฉีดเงินกองทุนสกุลต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มเงินกองทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐเป็นสองเท่าในงบฯ และผู้ส่งออกในลาวก็ถูกกดดันให้ต้องฝากเงินรายได้ในรูปดอลลาร์สหรัฐไว้ในธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น” สถิตย์  กล่าว 

แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกลับมีมุมมองว่า เมื่อเจอปัญหารุมเร้าแบบนี้ ลาวอาจกลับไปใช้วิธีการเดิมๆ ในการแก้ปัญหาหนี้ 

 “เอมมา อัลเลน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศลาว ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) บอกว่า ถ้าแหล่งทุนที่ไม่ใช่การก่อหนี้ไม่เพียงพอ ลาวก็อาจกลับไปใช้วิธีเดิมๆ คือ สร้างหนี้ใหม่เพื่อนำมาโปะหนี้เก่า พร้อมให้คำแนะนำว่ารัฐบาลลาวจำเป็นต้องจัดการปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคเพื่อปรับปรุงอันดับเครดิตของประเทศให้ดีขึ้น  เพื่อให้ลาวสามารถเข้าถึงตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้   

อีกวิธีหนึ่งที่อัลเลนเห็นว่า ไม่ควรมองข้ามคือ การยอมเจรจากับจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 1 ของลาวในขณะนี้  

“โทชิโระ นิชิซาวะ” นักวิชาการจากญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับลาว ให้ความเห็นว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนเลื่อนการชำระหนี้ให้ลาวมาตั้งแต่ปี 2020 และลาวยังทำข้อตกลงสวอปกับธนาคารกลางจีน (PBOC) เพื่อช่วยเพิ่มทุนสำรองต่างประเทศจากที่มีอยู่เดิมประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนปี 2563 เป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.ปี 2024  

 ขณะที่ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานคาดการณ์เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่าทุนสำรองต่างประเทศสุทธิของลาวซึ่งไม่รวมข้อตกลงสวอปจะเพียงพอรองรับการนำเข้าสินค้า และบริการจากต่างประเทศได้แค่ 1 เดือนเท่านั้น

สำหรับประเด็นนี้ นิชิซาวะ ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของรัฐบาลลาว มีความเห็นว่า วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวในระยะสั้นคือ การรักษาทุนสำรองต่างประเทศเอาไว้ ไม่ให้รั่วไหลออกไปทางเจ้าหนี้จีน ด้วยการขอเลื่อนการชำระหนี้ และทำข้อตกลงสวอปต่อเนื่องต่อไปป นี่เป็นวิธีของลาวในการจัดการปัญหาหนี้ต่างประเทศให้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้  

ข้อมูลเชิงสถิติของรัฐบาลลาว ระบุว่า ในปี 2024 ลาวได้ขอเลื่อนการชำระหนี้ไปแล้ว 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมสะสมเป็น 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา  

ทั้งนี้ สื่อต่างๆ เคยรายงานเกี่ยวกับการทำข้อตกลงสวอปของลาวช่วงก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า มีตั้งแต่ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน (debt-for-equity swap) หรือการยกหนี้บางส่วนให้ โดยแลกกับการเพิ่มสัดส่วนการเป็นเจ้าของในกิจการของรัฐบาลลาว เช่น โรงไฟฟ้า และข้อตกลงสวอปค่าเงินระหว่างแบงก์ชาติ เช่น ข้อตกลงสวอปค่าเงินหยวน-กีบ เพื่อช่วยเหลือลาวในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19  

รายงานชิ้นนี้ของนิกเคอิเอเชีย ระบุด้วยว่า รัฐบาลลาวเคยเสนอการแปลงหนี้เป็นทุนแลกกับการถือหุ้นเพิ่มในบริษัทโรงไฟฟ้าของลาว รวมถึงแลกกับที่ดินที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในกรุงเวียงจันทน์  

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองรายหนึ่ง ให้มุมมองว่า การแปลงหนี้เป็นทุนกับบริษัทจีน เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง และรัฐบาลลาวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องคอร์รัปชัน บวกกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจและโกรธแค้นรัฐบาลมากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์