คนลาวเดือดร้อนหนักข้าวของแพงไม่หยุดจนต้องออกไปหาอาหารเอง

18 พ.ย. 2567 - 08:10

  • บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในกรุงเวียงจันทน์เผยกับสำนักข่าว AFP ว่า พวกเขาไม่เคยเห็นการค้าขายที่ซบเซาแบบนี้ เนื่องจากคนลาวต้องเผชิญกับค่าเงินที่ลดลงตั้งแต่ช่วงโควิด-19

  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า เมื่อปี 2022 ราคาสินค้าพุ่งขึ้น 23% และ 31% เมื่อปีที่แล้ว และน่าจะแตะ 25% ในปีนี้

  • ลาวมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 108% ของจีดีพี

 laos-struggles-inflation-food-prices-rising-sharply-households-forage-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเทศลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์กำลังดิ้นรนต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด จนราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนลาวจำนวนมากต้องหันมาหาอาหารเอง ซ้ำประเทศยังต้องจมอยู่กับหนี้ก้อนโตที่กู้ยืมมาจากจีน 

ที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเวียงจันทน์ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเผยกับสำนักข่าว AFP ว่า พวกเขาไม่เคยเห็นการค้าขายที่ซบเซาแบบนี้ เนื่องจากคนลาวต้องเผชิญกับค่าเงินที่ลดลงตั้งแต่ช่วงโควิด-19   

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลให้ราคาสินค้าทะยานขึ้นทั่วโลก แต่ลาวกลับไม่สามารถหยุดยั้งภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า เมื่อปี 2022 ราคาสินค้าพุ่งขึ้น 23% และ 31% เมื่อปีที่แล้ว และน่าจะแตะ 25% ในปีนี้ 

หลายครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาอาหารหลัก อาทิ ข้าว น้ำตาล น้ำมันพืช และเนื้อไก่ เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อปีที่แล้ว 

การสำรวจครัวเรือนของธนาคารโลกเมื่อช่วงต้นปีพบว่า ครัวเรือนจำนวนมากขึ้นเริ่มเข้าตาจนในการจับจ่ายอาหารจนต้องออกไปหาอาหารเอง 

ที่ตลาดเช้าในกรุงเวียงจันทน์ เจ้าของร้านทองวัย 45 ปีรายหนึ่งเผยกับ AFP ว่า เมื่อก่อนลูกค้ามักจะมาซื้อสร้อยคอ แหวน และต่างหูสำหรับโอกาสพิเศษ แต่ตอนนี้ใครๆ ก็อยากนำของมีค่ามาขายแลกเงินสด 

“บางวันผมนั่งทั้งวันและไม่มีใครมาซื้อทองผมเลย” เจ้าของร้านเผยกับ AFP เมื่อเดือนที่แล้วโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพราะการพูดคุยกับสื่อต่างชาติในลาวที่ปกครองแบบเผด็จการและปกครองด้วยระบบพรรคเดียวจะมีความเสี่ยง

“ร้านผมเคยคึกคักแต่ตอนนี้กลับไม่มีใครซื้อทอง พวกเขามาขายเพื่อหาเงินกันหมด”

เจ้าของร้านทองวัย 45 ปีในกรุงเวียงจันทน์

หลังจากเปิดร้านทองมา 15 ปี เจ้าของร้านรายนี้บอกว่า เขาเริ่มกังวลกับอนาคตของกิจการของตัวเอง 

หนี้ที่ “ไม่ยั่งยืน” 

แม้ว่าเศรษฐกิจจะโตต่อเนื่องมา 3 ทศวรรษ แต่ลาวก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งจำกัด และแรงงานที่มีทักษะต่ำซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม 

ประชากรลาวมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 69 ปี และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเกือบ 1 ใน 3 คนมีภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดทั่วโลก 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลลาวกู้ยืมเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเพื่อนบ้านอย่างจีนเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายเขื่อน โดยตั้งเป้าเป็น “แบตเตอรี” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ธนาคารโลกเตือนในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หนี้สาธารณะซึ่งสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 108% ของจีดีพีเป็นหนี้ที่ “ไม่ยั่งยืน” 

การชำระหนี้กระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อโดยการลดค่าเงินกีบซึ่งมูลค่าลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และเกือบ 1 ใน 5 ในช่วง 9 เดือนแกของปีนี้ 

โปห์ ลินน์ อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์จาก ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) เผยกับ AFP ว่า “เนื่องจากลาวต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ค่าเงินกีบที่ลดลงส่งผลให้ราคาผู้บริโภคภายในประเทศและเงินเฟ้อสูงขึ้น อุปสงค์ในประเทศลดลง และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง” 

ลาวต้องจ่ายดอกเบี้ยรวม 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และเฉลี่ย 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวลดลงไปอีก 

AFP ติดต่อกระทรวงการคลังของลาวเพื่อขอความเห็นแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

 laos-struggles-inflation-food-prices-rising-sharply-households-forage-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 8 ต.ค. แสดงให้เห็นบรรดาแม่ค้านั่งรอลูกค้าในกรุงเวียงจันทน์ Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

การตอบสนอง “ช้าเกินไป” 

ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาชนลาวปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนสิงหาคม ส่วนรัฐบาลเปิดตัวแผนควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 20% เมื่อเดือนธันวาคม 

แต่ วิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศล จากธนาคารร่วมพัฒนาลาวกล่าวว่า รัฐบาลตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ “ช้าเกินไป”

“เพื่อขจัดปัญหาเศรษฐกิจนี้ คุณไม่สามารถทำธุรกรรมเดียวแล้วคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง คุณจำเป็นต้องทำหลายอย่าง”

วิวัฒนเผยกับ AFP

ธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลทำให้การเงินของประเทศมีเสถียรภาพได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ทำผ่านการเลื่อนเวลาชำระหนี้และจำกัดการใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการ 

อเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำลาวเตือนว่า มาตรการรัดเข็มขัดเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาว

“การลงทุนในมนุษย์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างต่อเนื่องจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตในระยะยาวของประเทศและความสามารถในการแข่งขันในตลาดในภูมิภาค”

อเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำลาว

ธนาคารโลกเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเพิ่มรายได้ด้วยการลดการลดหย่อนภาษีและพยายามปรับโครงสร้างหนี้ 

วิวัฒน์เผยว่า แม้ว่าลาวจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็สำคัญกับจีนมากเกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม ทั้งในแง่ของการเมืองและการเป็นขาสำคัญในเส้นทางโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่มีจุดหมายเพื่อเชื่อมตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับสิงคโปร์ 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนเผยกับ AFP ว่า ปักกิ่งกำลัง “ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยลาวลดภาระหนี้สิน”  

แต่คนลาวอาจต้องเผชิญความเจ็บปวดในระยะสั้น โดย ADB คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเหนือ 20% จนกว่าจะถึงปลายปีหน้าเป็นอย่างน้อย 

Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์