ศาลมาเลเซีย ยกฟ้อง นาจิบ ราซัค คดีคอร์รัปชัน 1-MDB

29 พ.ย. 2567 - 04:40

  • นาจิบ ราซัค ถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน 6 กระทง

  • ศาลพิพากษายกฟ้องแต่ไม่ได้หมายความว่าจำเลยพ้นผิด

  • การยกฟ้องครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของสำนักงานอัยการสูงสุด

malaysia-drops1MDB-linked-charges-against-ex-pm-najib-SPACEBAR-Hero.jpg

ศาลสูงในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียยกฟ้อง อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค และอีร์วัน เซริการ์ อับดุลเลาะห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในข้อหาคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงกับการฉ้อโกงกองทุนแห่งชาติ 1-MDB มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยศาลในกรุงกัวลาลัมเปอร์พิพากษายกฟ้องแต่ไม่ได้หมายความว่าจำเลยพ้นผิด (discharge not amounting to an acquittal-DNAA) เนื่องจากคดีล่าช้าเพราะพนักงานอัยการไม่ได้ส่งเอกสารสำคัญให้แก่จำเลยก่อนที่คดีจะเริ่ม 

ทั้งนี้ แม้ศาลจะยกฟ้องและพนักงานอัยการยังมีสิทธิ์ยื่นฟ้องให้ข้อหาเดียวกันนี้ใหม่หรือรื้ออฟื้นคดีในภายหลังหากมีหลักฐานใหม่โดยที่จำเลยไม่มีสิทธิ์คัดค้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2019 ศาลสูงเคยสั่งยกฟ้อง (DNAA) นาจิบในข้อหาฟอกเงิน แต่ในวันต่อมามีการดำเนินคดีใหม่ในข้อหาเดิม ก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่านาจิบมีความผิดใรปี 2020  

นาจิบถูกดำเนินดคีหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวในกองทุน 1-MDB ของรัฐ ซึ่งทางการสหรัฐฯ และมาเลเซียระบุว่าเงินกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกยักย้ายถ่ายเทออกไประหว่างปี 2009-2014  

อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 71 ปีช่วยก่อตั้งกองทุน 1-MDB สมัยเป็นผู้นำมาเลเซียในปี 2009 มีความผิดในข้อหาคอร์รัปชันและฟอกเงินในคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวของกองทุนดังกล่าวและถูกพิพากษาจำคุก 12 ปีเมื่อปี 2022 ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์มาเลเซียจนเหลือโทษจำคุก 6 ปี 

เมื่อปี 2018 นาจิบและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถูกตั้งข้อหากระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนของรัฐมูลค่า 1,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่าง 1-MDB กับกองทุนInternational Petroleum Investment Company ของอาบูดาบี 6 กระทง โดยทั้งคู่ปฏิเสธข้อกล่าวหา 

การยกฟ้องครั้งล่าสุดนี้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับคดีที่ยังเหลืออยู่ของนาจิบ หลังจากเมื่อปีที่แล้วพนักงานอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1-MDB อีกคดีหนึ่ง 

ฮัลมี อัซรี อับดุล ฮาริม นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกาาด้านความเสี่ยงทางการเมือง Vriens & Partners กล่าวว่า การที่พนักงานอัยการไม่สามารถจัดหาเอกสารที่สำคัญสะท้อนให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพของสำนักงานอัยการสูงสุด 

“มันคือความไร้ประสิทธิภาพจากฝั่งสำนักงานอัยการสูงสุด 6 ปีก็เพียงพอสำหรับการจัดหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ถ้าพวกเขาไม่สามารถจัดหาเอกสาร โดยอ้างเหตุผลเรื่องความลับราชการ พนักงานอัยการควรถอนฟ้อง ตอนนี้หากสำนักงานอัยการสูงสุดยังต้องการดำเนินคดีต่อก็ต้องตั้งข้อหาใหม่”

 Photo by Mohd RASFAN / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์