ข่าวร้ายสาย(ชา)เขียว ผงมัทฉะญี่ปุ่นฮิตไปทั่วโลกจนขาดตลาดดันราคาพุ่ง

30 พ.ย. 2567 - 03:30

  • ร้านชาหลายเจ้าในญี่ปุ่นต้องขึ้นป้ายประกาศจำกัดการซื้อ บางร้านสินค้าหมด

  • ตามปกติญี่ปุ่นจะเก็บเกี่ยวใบชาเขียวปีละครั้ง โดยจะเริ่มช่วงเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.

matcha-shortage-in-japan-felt-globally-SPACEBAR-Hero.jpg

ตอนนี้ผงมัทฉะจากญี่ปุ่นกำลังขาดตลาดครั้งใหญ่จนบางร้านต้องหยุดจำหน่ายชั่วคราว หรือหากมีของก็ต้องจำกัดปริมาณการซื้อ กระทบตลาดชาเขียวทั่วโลกจนราคาขยับขึ้นตาม 

ความต้องการพุ่ง 

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ชาเขียวได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ เอเชีย ยุโรป หรือแม้กระทั่งในไทยเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทรนด์รักสุขภาพ และอีกส่วนหนึ่งมาจากโซเชียลมีเดียและคนดัง อาทิ เซเรนา วิลเลียม นักเทนนิสขวัญใจชาวโลก กวินเน็ธ พัลโทรว์ นักแสดงฮอลลีวูด และนางแบบอย่าง เบลลา ฮาดิด

ความต้องการที่มากขึ้นนี้สร้างความท้าทายให้กับผู้ผลิตชาเขียว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งมัทฉะคุณภาพสูง

ภาพที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นผู้คนต่อคิวยาวเหยียดและป้ายประกาศของร้านชาเขียวเจ้าใหญ่ๆ ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นแจ้งลูกค้าว่าสินค้าหมดหรือจำกัดการซื้อ  

เว็บไซต์ของร้าน Marukyu Koyamaen ประกาศไว้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่า “เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์มัทฉะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ความต้องการในปัจจุบันจึงเกินกำลังการผลิตของเรา ส่งผลให้สต็อกสินค้าของเราเหลือน้อยมากในขณะนี้” 

เช่นเดียวกับร้าน Ippodo Tea ที่ประกาศระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มัทฉะบางชนิดชั่วคราว เนื่องจากไม่มีสินค้าเพราะทางร้านไม่สามารถผลิตให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นกะทันหัน Ippodo Tea แจ้งความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า จะระงับการจำหน่ายชั่วคราวไปจนถึงต้นปี 2025 และขณะนี้ผลิตภัณฑ์มัทฉะอื่นๆ ก็เริ่มเหลือน้อยแล้วเช่นกัน 

อีกร้านหนึ่งตั้งป้ายแจ้งลูกค้าว่า “ทางร้านจำหน่ายมัทฉะจำนวนมากตั้งแต่เดือน มิ.ย.จนถึง ก.ย. จนวัตถุดิบเกือบหมดแล้ว และเนื่องจากมีการจำกัดปริมาณการซื้อ ทางร้านจึงมีสินค้าจำนวนจำกัด ดังนั้นการซื้อมัทฉะจะยากมากจนกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือน มิ.ย.ปีหน้า สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในเกียวโต โตเกียว และที่อื่นๆ เช่นกัน”

matcha-shortage-in-japan-felt-globally-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ป้ายประกาศแจ้งลูกค้าของร้านชาแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว Photo by SCEYNTHIEAR/LEMON8

เกิดอะไรขึ้น 

Sazen Tea ร้านชาชื่อดังในญี่ปุ่นเผยสาเหตุที่มัทฉะขาดตลาดว่า ความต้องการมัทฉะที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน "ทำให้ทุกคนประหลาดใจ" ส่งผลให้ผู้ผลิตผลิตไม่ทันความต้องการ เนื่องจากผู้ผลิตชาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวซึ่งยังพึ่งพาวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม เก็บด้วยมือทีละยอด ใช้เครื่องบดหินแกรนิตเพื่อรักษาคุณภาพ ทำให้มีกำลังการผลิตจำกัด 

นอกจากนี้ มัทฉะต้องผลิตจากใบชาที่ควบคุมแสงในการปลูกนั่นคือ เทนฉะ และตอนนี้เทนฉะที่ว่านี้กำลังขาดตลาด แม้ว่าใบชาเทนฉะจะเก็บแช่แข็งไว้ได้หลายปี แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ก็ทำให้ใบชาเทนฉะในสต็อกร่อยหรออย่างรวดเร็ว 

Sazen Tea ระบุว่า “ทางแก้ของปัญหานี้ดูเหมือนง่าย นั่นคือ ผ็ู้ผลิตต้องผลิตและเก็บสต็อกเทนฉะเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการขยายโรงงานผลิต แต่การดำเนินการนี้ต้องใช้เวลาและการลงทุนจำนวนมาก” 

เก็บปีละครั้ง 

ที่ญี่ปุ่นจะเก็บใบชาเขียวกันปีละครั้ง และผู้ผลิตหลายเจ้าคาดว่าสินค้าในสต็อกจะหมดก่อนจะถึงฤดูการเก็บเกี่ยวครั้งถัดไป ซึ่งโดยปกติจะเริ่มในเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.  

สหกรณ์ชาจังหวัดเกียวโต ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดจำหน่ายชาในเกียวโตบอกกับสื่อท้องถิ่นว่า แม้ว่าจะมีการทำไร่ชาเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปีกว่าจะเก็บเกี่ยวใบชาใหม่ได้

matcha-shortage-in-japan-felt-globally-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: เกษตรกรในเมืองฟุจิเอดะ จังหวัดชิสึโอกะของญี่ปุ่น เก็บใบชาเขียว Photo by AFP / CHARLY TRIBALLEAU

กระทบสาย(ชา)เขียวที่ไหนบ้าง 

สำนักข่าว Sydney Morning Herald  ของออสเตรเลียรายงานว่า คาเฟ่บางแห่งในออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากการที่ผงมัทฉะขาดตลาดในญี่ปุ่น 

เมกุมิ คานาอิเกะ ผู้จัดการร้านชา Simply Native ในซิดนีย์เล่าว่า ยอดขายชาเขียวของร้านเธอเพิ่มขึ้นถึง 250% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และตอนนี้ซัพพลายเออร์ผงชาเขียวในญี่ปุ่นเริ่มจำกัดจำนวนการสั่งซื้อแล้ว ส่วนอีกร้านหนึ่งบอกว่าต้องรอการส่งสินค้าล็อตใหม่จากญี่ปุ่นราว 3 เดือน 

The Straits Times รายงานว่า ร้านชา คาเฟ่ และซูเปอร์มาร์เก็ตบางเจ้าในสิงคโปร์ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน บางร้านต้องขึ้นราคาสินค้า 10-15% ตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผงมัทฉะ Rikyuen กระป๋องขนาด 30 กรัมขยับราคาจาก 36 ดอลลาร์สิงคโปร์ (920 บาท) เป็น 40 ดอลลาร์สิงคโปร์ (1,022 บาท)   

ส่วนร้าน Tealife Singapore ที่จำหน่ายทางออนไลน์เผยว่า มีความต้องกานมัทฉะมากขึ้น ยอดขายของปีนี้มากกว่าของปีก่อนกว่า 2 เท่าตัว โดยขณะนี้ทางร้านต้องประกาศจำกัดการขาย เนื่องจากเดือนนี้ได้รับสินค้าจากซัพพลายเออร์เพียง 40% ของปริมาณที่สั่งซื้อปกติ บางร้านเจอปัญหาขนส่งล่าช้าตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน ซึ่งทางร้านแก้ด้วยการสั่งครั้งละน้อยๆ แต่สั่งบ่อย ส่งผลให้ค่าขนส่งสูงขึ้น 

ขณะที่ผู้บริโภคบางรายในสิงคโปร์หันไปพึ่งร้านค้าออนไลน์ซึ่งคนที่นำมาขายต่อบวกราคาเพิ่ม 3-4 เท่าของราคาปกติ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์