ประกาศ ‘เกณฑ์ทหาร’ เมียนมาจุดชนวนไฟโกรธา
การเกณฑ์ทหารเมียนมาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารและกลุ่มกบฏกำลังจุดชนวนความไม่พอใจและโกรธเคืองให้ประชาชนเป็นอย่างมากจนเกิดเป็นกระแสต่อต้าน
ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปีในเมียนมา จะต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่ขีดจำกัดอายุสูงสุดจะเพิ่มเป็น 45 ปีสำหรับผู้ชาย และ 35 ปีสำหรับผู้หญิง หากพวกเขามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (เช่น การแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์) โดยผู้เชี่ยวชาญจะเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 3 ปี และทหารเกณฑ์ทุกคนสามารถถูกบังคับให้รับราชการ 5 ปีในช่วงภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับในปัจจุบัน
การประกาศดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดความกังวลและความกลัวในหมู่พ่อแม่ทั่วเมียนมาทันที รวมถึงในเมืองใหญ่ๆ เช่น ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งการเกณฑ์ทหารมีน้อยเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับพื้นที่ชนบท
แม้กระทั่งก่อนที่กฎหมายจะถูกนำมาใช้ กองทหารของรัฐบาลทหารมักจะรวบรวมพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพื่อใช้เป็นลูกหาบหรือโล่มนุษย์ (human shields) และบ่อยครั้งที่พลเรือนถูกบังคับให้เดินนำหน้ากองทหารในพื้นที่ที่ต้องสงสัยกับทุ่นระเบิด และพื้นที่ที่อาจมีการซุ่มโจมตี ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในการเกณฑ์ทหาร
พล.ต.ซอมินตุน โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวเมื่อวันจันทร์ (12 ก.พ.) ว่า “กฎหมายดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ และเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ” นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า “รัฐบาลทหารวางแผนที่จะบังคับใช้กฎหมายในเดือนเมษายน โดยจะรับสมัครชุดแรกจำนวน 5,000 คน” แต่ไม่มีการระบุรายละเอียด
ถึงครารัฐบาลทหาร ‘จนมุม’

นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 รัฐบาลพม่าได้พยายามปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน ทั้งจับกุมตามอำเภอใจ การวิสามัญฆาตกรรม การวางระเบิดพลเรือนอย่างกว้างขวางทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล การทรมาน และโจมตีด้วยการลอบวางเพลิง
“ในขณะเดียวกัน ณ ห้วงเวลานี้ ‘มินอ่องหล่าย’ ผู้นำรัฐประหารก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยากที่สุดต่ออำนาจของเขา และเขากำลังพยายามใช้กำลังสนับสนุน” นักวิจารณ์กล่าว โดยชี้ให้เห็นว่ากองทัพของมินอ่องหล่ายมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จำนวนทหารหนีละทิ้งหน้าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากสาธารณชนด้วย
เขาจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารเพื่อเติมเต็มระดับกองทหาร แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็กำลังทำลายการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ อีก นักวิจารณ์กล่าว
พลเมืองตกอยู่ในอาการ ‘หวั่นวิตก’
พื้นที่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ที่เคยมีผู้คนพลุกพล่านในตอนเย็น แต่สัปดาห์นี้เมืองเหล่านี้กลับเหมือนถูกหลอกหลอน ชาวบ้านกล่าวว่า ร้านค้าต่างๆ จะปิดเร็วขึ้น แม้แต่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ยังต้องรีบกลับบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กองกำลังทหารลากออกไปหลังพลบค่ำ
“ตอนนี้เราอยู่ในความหวาดกลัว ฉันนอนไม่หลับเลย” คุณแม่ลูก 6 ในเมืองเซาท์ดากอน นครย่างกุ้งกล่าว ซึ่งลูก 3 คนของเธออยู่ในช่วงอายุเกณฑ์ทหาร
“กองกำลังของรัฐบาลทหารสามารถจับกุมเยาวชนได้ตลอดเวลา ตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอน…ไม่ว่าจะนอกบ้านหรือที่บ้าน” หญิงคนหนึ่งในเมืองซันชวง นครย่างกุ้งบอก
ลินเท็ตอองเล่าว่า “การใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและบังคับให้ประชาชนฆ่ากัน…คนหนุ่มสาวที่ถูกเกณฑ์ทหารจะถูกส่งไปยังแนวหน้าเพื่อต่อสู้กับกองกำลังต่อต้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาจะใช้ในความรุนแรงต่อพลเรือนด้วย” เขากล่าว
ไม่ขอสู้เพื่อรัฐบาลเผด็จการ!

ไม่กี่ชั่วโมงหลังประกาศดังกล่าว เยาวชนจำนวนมากก็โพสต์แสดงความคิดเห็นมากมายบนเฟซบุ๊ก และบอกว่าพวกเขาจะเข้าร่วมกองกำลังต่อต้านหรือหลบหนีไปยังพื้นที่ที่ได้รับการปลดปล่อยหรือประเทศอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับกองกำลังทหารที่โหดร้าย
“ฉันจะไม่มอบชีวิตและจิตวิญญาณให้กับระบอบรัฐประหาร” อลินน์ ชาวเมืองมัณฑะเลย์วัย 20 ปีกล่าวอย่างโกรธเคือง เธอเป็นเป้าหมายหลักในการเกณฑ์ทหาร แม้ว่าเธอจะถูกจำคุกเนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารก็ตาม
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งตั้งคำถามว่า “นายพลทหารควรส่งบุตรชายและบุตรสาวของตัวเองไปยังแนวหน้าหรือไม่? แทนที่จะเกณฑ์เยาวชนของครอบครัวอื่นไหม?”
“แม้แต่ทหารของพวกเขายังไม่ต้องการต่อสู้และกำลังหนี แต่ตอนนี้พวกเขาวางแผนที่จะบังคับให้คนหนุ่มสาวตายเพื่อพวกเขา” คนหนึ่งโพสต์
บางคนโพสต์ว่า “พวกเขาจะไม่มีวันต่อสู้เพื่อให้ระบอบการปกครองของ มินอ่องหล่าย ยังคงอยู่ในอำนาจ”
“เราจะไม่รับใช้พวกเขาหรือฆ่าคนของเราเอง” อีกคนหนึ่งโพสต์
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า “การเคลื่อนไหวเกณฑ์ทหารของรัฐบาลอาจส่งผลย้อนกลับและสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลด้วยการสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นสมัครใจเข้าร่วมกับกองกำลัง PDF และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร”
Photo by AFP