ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ ‘Clade Ib’ อันตราย! ติดง่ายกว่าโควิด และมันขยับเข้าใกล้ไทยเรื่อยๆ

20 ส.ค. 2567 - 10:07

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศยกระดับสถานการณ์โรคระบาดเอ็มพอกซ์ (mpox) หรือฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความน่ากังวลระดับโลก (PHEIC) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

  • สวีเดน และฟิลิปปินส์ พบผู้ป่วยติดเชื้อ mpox สายพันธุ์ใหม่ ‘Clade Ib’ ทำให้หลายประเทศในเอเชียตื่นตัว เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

  • สายพันธุ์ใหม่ที่ว่านี้ว่ากันว่า ‘อันตราย’ ‘รุนแรง’ และที่สำคัญ ‘ติดง่ายกว่าโควิด-19’

now-mpox-global-health-emergency-will-it-trigger-another-pandemic-SPACEBAR-Hero.jpg

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศยกระดับสถานการณ์โรคระบาดเอ็มพอกซ์ หรือฝีดาษลิง (Mpox / monkeypox) ในพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความน่ากังวลระดับโลก (PHEIC) เมื่อวันพุธ (14 ส.ค.) เนื่องจากไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วทวีปแอฟริกา และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ทวีปอื่นๆ หลังพบผู้ป่วยในแอฟริกาในปีนี้มากกว่า 14,000 ราย รวมถึงคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 500 กว่าคนแล้ว 

ต่อมาในวันที่ 15 ส.ค. ก็พบผู้ป่วยนอกแอฟริกา ‘รายแรก’ !!! 

WHO ได้ออกประกาศเตือนว่า อาจพบผู้ติดเชื้อ mpox สายพันธุ์ใหม่ ‘Clade Ib’ ที่อันตรายกว่าเดิม หลังจากสวีเดนประกาศพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นคนแรกนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งถือเป็นสัญญาณแรกของการแพร่ระบาดนอกทวีปแอฟริกา 

และล่าสุดฝีดาษลิงระบาดเข้าใกล้ไทยขึ้นทุกที หลังพบผู้ป่วยชายชาวฟิลิปปินส์วัย 33 ปีติดเชื้อทั้งที่ไม่มีประวัติเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน ทำให้ประเทศในเอเชียกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

แล้วเหตุใด ‘ฝีดาษลิง’ ถึงแพร่กระจายเร็ว?

now-mpox-global-health-emergency-will-it-trigger-another-pandemic-SPACEBAR-Photo01.jpg

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรค ‘mpox’ ซึ่งเดิมเรียกว่า ‘monkeypox’ หรือฝีดาษลิง ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษปี 1950 แต่มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าไวรัสชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไวรัสดังกล่าวสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น 

สิ่งแรกที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับโรคที่เคยเรียกว่าโรคฝีดาษลิงก็คือ จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลิงเลย

“โรคนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในลิงในห้องทดลองที่เดนมาร์ก และสามารถแพร่เชื้อไปยังลิงได้ แต่ลิงไม่ใช่แหล่งกักเก็บโรคหลัก เราคิดว่าแหล่งกักเก็บโรค คือ สัตว์ที่สามารถแพร่โรคได้ แต่จะไม่ป่วยหรือตายเพราะโรค...เป็นเวลานานแล้วที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าโรคในลิงเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์มากที่สุดเนื่องจากเรามีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน และนั่นเป็นเรื่องจริง...”

ซาเกน ฟรีอันต์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนียในสหรัฐฯ กล่าว

การระบาดของโรค mpox ในช่วงไม่นานมานี้ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกตื่นตระหนก เนื่องจาก mpox แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในเดือนสิงหาคม 2024 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa CDC) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หลัง mpox สายพันธุ์ใหม่ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก และคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และรวันดา 

เมื่อไม่นานมานี้ ไวรัส mpox สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Clade Ib’ ถูกพบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งดูเหมือนว่าจะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าผ่านการสัมผัสใกล้ชิด

ทั้งนี้ mpox แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ :

  • สายพันธุ์กลุ่ม 1 เรียกว่า ‘Clade I’ เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง ทำให้เกิดอาการป่วยและเสียชีวิตได้รุนแรงกว่ากลุ่ม 2 ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า การระบาดบางครั้งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึง 10% แม้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นล่าสุดจะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าก็ตาม ส่วนสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในคองโก และแอฟริกาอยู่ในขณะนี้ก็กลายพันธุ์มาจากกลุ่มนี้เรียกว่า ‘Clade Ib’ 
  • สายพันธุ์กลุ่ม 2 เรียกว่า ‘Clade II’ หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกนั้นเคยระบาดรุนแรงนอกแอฟริกาในปี 2022 จนต้องประกาศเป็น ‘ภาวะฉุกเฉิน’ ติดเชื้อง่ายกว่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่ากลุ่ม ‘Clade I’ และไม่ค่อยอันตรายถึงชีวิต ตามข้อมูลของ CDC ระบุว่า ผู้ป่วยมากกว่า 99.9% รอดชีวิตจากสายพันธุ์นี้

‘Mpox’ ต่างจาก ‘โควิด-19’ ยังไง?

mpox มีความคล้ายคลึงกับโควิด-19 แต่ mpox จะใช้เวลาแพร่กระจายช้ากว่าโควิด-19

และเชื้อ mpox ไม่ได้แพร่กระจายง่ายนัก แต่เชื้อนี้ต้องอาศัยการสัมผัสทางกายอย่างใกล้ชิด ซึ่งมักจะใช้เวลานาน จึงจะแพร่จากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนได้

แมเดลีน บาร์รอน จากสมาคมจุลชีววิทยาแห่งสหรัฐฯ (ASM) กล่าวว่า “เชื้อ mpox เกิดจากการสัมผัสกับผู้ที่มีผื่นติดเชื้อ เช่น รอยโรค สะเก็ด และของเหลวในร่างกาย นอกจากนี้ คุณยังสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสสิ่งของที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส” 

แม้ว่านักวิจัยจะตรวจพบ DNA จากไวรัส mpox ในน้ำอสุจิแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไวรัสจะแพร่กระจายในลักษณะนี้เสมอไป 

การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘New England Journal of Medicine’ พบว่า การติดเชื้อ 98% ใน 16 ประเทศระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2022 เกิดขึ้นกับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพียงเรื่องบังเอิญก็ได้ แต่เมื่อโรคเข้าสู่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง โรคดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปในชุมชนนั้น และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า mpox แพร่กระจายในกลุ่มประชากรชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า mpox แพร่ระบาดไปยังผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง  

“เราไม่ทราบว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายได้เฉพาะผ่านช่องทางการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ผ่านทางสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าการสัมผัสที่ใกล้ชิดจะเป็นตัวส่งเสริมการแพร่ระบาด” บาร์รอน กล่าว 

แม้ว่าโอกาสเสียชีวิตจะค่อนข้างต่ำ แต่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงก็บอกว่า ‘มันยาวนาน น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากจะเป็นหรอก’ นอกจากนี้อาการติดเชื้อเริ่มแรกจะคล้ายกับการติดเชื้อ HIV “ผู้ป่วยอาจมีอาการเหมือนไข้หวัดในช่วงแรกๆ เช่น มีไข้ ปวดหัว หรืออาการอื่นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผื่นจะลุกลามหลายระยะ อาจมีรอยโรคขึ้นที่ปาก เท้า และบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นตุ่มหนองได้” บาร์รอน กล่าว 

หากถามว่า ‘mpox’ จะกลายเป็นโรคระบาดทั่วโรคไหม? ผู้เชี่ยวชาญตอบว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้” ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า “ความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปในประเทศที่ไม่มีการระบาดของโรค mpox ในขณะนี้ยังคง ‘ต่ำ’” 

แต่สายพันธุ์ใหม่ ‘Clade Ib’ ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อนอกแอฟริกาก็ประมาทไม่ได้!!! 

‘Clade Ib’ เป็นสายพันธุ์ที่กำลังการระบาดในปัจจุบัน และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของ ‘Clade I’ ที่มีการระบาดในคองโก แต่ตอนนี้พบผู้ป่วยสายพันธุ์ใหม่ในสวีเดน และฟิลิปปินส์ประเทศละ 1 ราย ซึ่งดูเหมือนว่าสายพันธุ์ ‘Clade Ib’ จะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าผ่านการสัมผัสใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์   

กลุ่มผู้ป่วย mpox สายพันธุ์ ‘Clade Ib’ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกบ่งชี้ว่าไวรัสดังกล่าวมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไวรัสมีอัตราการกลายพันธุ์สูง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในรหัสพันธุกรรมที่อาจช่วยให้ไวรัสแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น 

หลายประเทศในเอเชียตื่นตัวเฝ้าระวังการระบาด

now-mpox-global-health-emergency-will-it-trigger-another-pandemic-SPACEBAR-Photo02.jpg

-จีน-

เจ้าหน้าที่ศุลกากรของจีนประกาศว่า พวกเขาจะเข้มงวดการเฝ้าระวังที่ท่าเรือเข้าออก ประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีผู้ป่วยโรค mpox โดยมีอาการ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดหลัง หรือผื่น จะต้องแจ้งอาการของตัวเองต่อศุลกากร 

เครื่องบินและเรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงสินค้าที่เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ mpox ก็จะได้รับการฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน 

มาตรการเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดี (18 ส.ค.) และจะบังคับใช้ต่อไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า 

-อินเดีย-

เจ้าหน้าที่กล่าวในแถลงการณ์ว่า ตรวจพบเชื้อ mpox เคสล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศ 

ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติของอินเดีย (NCDC) จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขก็ประกาศว่าพวกเขาจะเพิ่มการเฝ้าระวัง รวมถึงปรับปรุงความสามารถในการทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลและคลินิก ยังได้รับมอบหมายให้เพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับไวรัสอีกด้วย 

-ญี่ปุ่น-

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Japan Times ระบุว่า ทางการญี่ปุ่นมีแผนที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อ mpox และการแพร่กระจายของเชื้อนี้ในหมู่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าและออกจากประเทศ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประเทศจะบังคับใช้มาตรการใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่ 

เคอิโซ ทาเคมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ญี่ปุ่นกำลังเตรียมส่งวัคซีนที่ผลิตในประเทศไปยังคองโก...” 

-เกาหลีใต้-

สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (KDCA) กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ของโรค์ mpox จะยัง ‘จัดการได้’ ภายใต้มาตรการที่มีอยู่ แต่ทางการจะยังคงเสริมความพยายามในการกักกันและเฝ้าระวัง 

ตามรายงานของสำนักข่าว Korea Times ระบุว่า ในระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจที่จะบังคับใช้มาตรการกักกันสำหรับผู้ที่บินตรงจากประเทศที่มี ‘นักวิจัยด้านระบาดวิทยาและแพทย์สาธารณสุขประจำสถานที่นั้นๆ’ และตัดสินใจที่จะไม่ออกคำเตือนวิกฤตซ้ำอีก ซึ่งถูกยกเลิกเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว 

เกาหลีใต้ยังวางแผนที่จะเพิ่มการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่มีอาการไปพบแพทย์ทันที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์