แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ แต่ประเทศไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาหลีใต้ก็มีจำนวน ‘ลดลงอย่างมาก’ โดยขณะนี้ตกลงไปอยู่อันดับที่ 3 ตามหลังเวียดนามและฟิลิปปินส์
องค์การการท่องเที่ยวเกาหลีระบุเมื่อวันจันทร์ (17 มิ.ย.) ว่า มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเยือนเกาหลีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้จำนวน 119,000 คน ลดลง 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในทางตรงกันข้าม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมกลับเพิ่มขึ้น 86.9% ในช่วงเวลานี้
- ในช่วงเวลานี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 470%
- ญี่ปุ่น 86%
- ชาวไต้หวันเพิ่มขึ้น 78%
- ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน เช่น ฟิลิปปินส์ 76%, อินโดนีเซีย 51%, มาเลเซีย 35%, เวียดนาม 29%, และสิงคโปร์ 11%
แม้เทียบกับระดับก่อนโควิด-19 แต่อัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยยังอยู่ใน ‘ระดับต่ำ’ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยมีเพียง 59% ของช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019
ในปี 2019 ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาหลีด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 572,000 คน แซงหน้าเวียดนาม 554,000 คน และฟิลิปปินส์ 504,000 คน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ประเทศไทยตกลงไปอยู่อันดับ 3 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 163,000 คน ตามหลังเวียดนาม 163,000 คน และฟิลิปปินส์ 158,000 คน
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเผยว่านักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงอันเป็นผลมาจากการปฏิเสธการเข้าประเทศจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวไทยหันไปหาประเทศที่มีขั้นตอนการเข้าประเทศที่ง่ายและสะดวก เช่น ญี่ปุ่นและจีน
K-ETA เบื้องหลังนักท่องเที่ยวไทย ‘ลดลง’

การเปิดตัวระบบ ‘K-ETA’ (Korea Electronic Travel Authorization) ซึ่งกำหนดให้นักเดินทางจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า 112 ประเทศต้องลงทะเบียนและขออนุมัติการเข้าประเทศทางออนไลน์ก่อนออกเดินทางไปเกาหลี
ทางเกาหลีใต้ยกเว้น K-ETA เป็นการชั่วคราวสำหรับ 22 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยกลับไม่รวมอยู่ด้วย
การปฏิเสธ K-ETA จำนวนมากและการขาดคำอธิบายที่ชัดเจนสำหรับการปฏิเสธเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนไทย นักเดินทางบางคนแม้จะได้รับการอนุมัติจาก K-ETA แล้ว ก็ยังถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเมื่อเดินทางมาถึงเกาหลี ซึ่งทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
เรื่องราวการปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีใต้เหล่านี้กลายเป็นประเด็นร้อนบนโซเชียลมีเดียของไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลง
ข้อกำหนดการเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับคนไทย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากคนไทยอพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้มากที่สุด (หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘ผีน้อย’) ซึ่งหลายคนมักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง รวมถึงความผิดด้านยาเสพติดและอาชญากรรมทางเพศ
กระทรวงยุติธรรมเน้นย้ำว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและไม่เลือกปฏิบัติต่อคนไทย ทั้งนี้พบว่าจำนวนคนไทยที่เข้าเกาหลีอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันคิดเป็น 78% ของคนไทยทั้งหมดที่นี่
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานการท่องเที่ยวตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคนต่อปี มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลงซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับการเดินทางมายังเกาหลี
“เกาหลีใต้เริ่มได้รับความนิยมน้อยลงสำหรับคนไทยในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจได้หากพิจารณาถึงผู้อพยพผิดกฎหมาย เราหวังว่าทางการจะให้ประเทศไทยได้รับการยกเว้นเป็นการชั่วคราวในปีนี้เป็นอย่างน้อย”
เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าว
ทั้งนี้ เกาหลีใต้และไทยกำหนดให้ปี 2023-2024 เป็น ‘ปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี-ไทย’ (Korea-Thailand Mutual Visit Year) โดยหวังว่าจะกระชับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ