การเดินทางถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่ต้องอยู่บนท้องถนนในการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน แล้วเคยคำนวณมั้ยว่าแต่ละวันเราใช้เวลาไปกับการเดินทางเท่าไร?
งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาความเกี่ยวข้องกันระหว่างการเดินทางและความสุขได้ข้อสรุปตรงกันว่า ยิ่งใช้เวลาเดินทางนานยิ่งกระทบกับความวิตกกังวล ความสุข และสุขภาพโดยทั่วไป งานวิจัยชิ้นหนึ่งให้เหตุผลว่า การเดินทางนานๆ ทำให้เรามีเวลาส่วนตัวสำหรับทำกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลาย ใช้เวลากับครอบครัว และกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งการนอนน้อยลง
นอกจากนี้ การที่เราใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานเพราะรถติดอย่างหนักและต้องเสียเวลารอรถขนส่งสาธารณะยังทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยตรง
งานวิจัยของทีมวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ จองอินชล จากแผนกจิตเวชศาสตร์แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอาจู ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Korean Medical Science (JKMS) เมื่อปีที่แล้วยืนยันถึงความความพันธ์กันระหว่างเวลาที่ใช้ในการเดินทางและสุขภาพจิตว่า สุขภาพจิตจะแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญทางการแพทย์เมื่อการเดินทางไปและกลับจากที่ทำงานใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะในพนักงานผู้หญิงและพนักงานออฟฟิศในเมืองใหญ่ๆ
ทีมวิจัยสำรวจเวลาเดินทางของผู้ใหญ่ 29,458 คนที่เดินทางทุกวันและทำแบบสอบถามเพื่อวัดดัชนีความสุข โดยใช้คำถามดัชนีความสุขขององค์การอนามัยโลก ซึ่งรวมทั้ง 5 คำถามเกี่ยวกับสภาพของสุขภาพจิตในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนตอบแบบสอบถาม โดยมีคะแนนตั้งแต่ 1-30 ขึ้นอยู่กับคำตอบ หากคะแนนน้อยกว่า 13 ถือว่าเสี่ยงซึมเศร้าสูง
ผลการวิเคราะห์ออกมาว่า ยิ่งต้องเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองนาน ดัชนีความสุขยิ่งลดลง เมื่อเปรียบเทียบกัน คนที่ใช้เวลาเดินทางไปทำงาน 60-90 นาทีมีแนวโน้มจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึมเศร้าสูงมากกว่าคนที่ใช้เวลาเดินทางไปทำงาน 20 นาที 1.11 เท่า ส่วนคนที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 80 นาทีมีแนวโน้มถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึมเศร้าสูงมากกว่าถึง 1.17 เท่า
สำหรับคนที่อยู่ในเมืองเล็กในแถบชนบท โอกาสที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเพียง 1.02 เท่า แม้จะใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานกว่า 60 นาทีก็ตาม
ในแง่ของเพศ หากต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานๆ ผู้หญิงจะเครียดมากกว่าผู้ชาย พนักงานหญิงที่เดินทางจากเมืองใหญ่ๆ ซึ่งต้องใช้เวลา 60-79 นาที เสี่ยงซึมเศร้ามากกว่าพนักงานหญิงที่ใช้เวลาเดินทาง 20 นาทีถึง 1.18 เท่า ขณะที่พนักงานชายมีความเสี่ยงเป็นซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 1.06 เท่า
ทีมวิจัยระบุว่า “เวลานอนและเวลาว่างที่ลดลงอันเนื่องมาจากการใช้เวลาเดินทางไปทำงานนาน เสียงรบกวนต่างๆ ระหว่างเดินทาง การสัมผัสกับผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจทำให้ดัชนีความสุขลดลง ทำให้เกิดความเครียดเล็กน้อย”
นอกจากนี้ การสำรวจของนิตยสาร Time Out Magazine เมื่อปี 2018 ยังพบว่า การเดินทางที่สั้นกว่าปกติ (15-30 นาที เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกรุงลอนดอนซึ่งอยู่ที่ 39 นาที) กระตุ้นความสุขของชาวลอนดอนได้มากกว่าการมีเซ็กซ์
และไม่แน่ชัดว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่ประเทศที่มี่ความสุขที่สุดในโลก 10 ประเทศ (ตามที่รายงานความสุขโลกขององค์การสหประชาชาติจัดอันดับ) ทั้งหมดใช้เวลาเดินทางไปทำงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ 41.6 นาที นอร์เวย์ ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกใช้เวลาเดินทาง 1 ขาเพียง 33 นาที เดนมาร์ก 29 นาที และฟินแลนด์และสวีเดน 21 นาที

พนักงานแฮปปี้งานก็ออกมาดี
ความสุขของพนักงานยังเป็นผลดีกับบริษัทด้วย ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์ริกพบว่า ความสุขของพนักงานทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 12%
ถ้าเพิ่มเงินเดือนชดเชยเรื่องการเดินทางได้มั้ย
รายงานของกระทรวงสถิติของอังกฤษ (ONS) บอกว่า ไม่ได้ เนื่องจากความสุขของบุคคลคนหนึ่งเชื่อมโยงกับการเดินทาง โดยผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยอื่นๆ อาทิ รายได้ที่สูงขึ้น หรือบ้านที่ดีขึ้น อาจไม่ได้ชดเชยผลกระทบแง่ลบที่คนทำงานได้รับจากการเดินทางไปทำงาน
ใช้เวลาเท่าไรถึงจะดี
คำตอบคือ การเดินทางที่ดีไม่ใช่การไม่เดินทางเลย การศึกษาพนักงานกว่า 1,000 คนในซานฟรานซิสโกพบว่า การเดินทางที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาคือ 16 นาที
ดูเหมือนว่าคนเราชอบการทิ้งระยะระหว่างที่บ้านกับที่ทำงาน เพราะบางคนอาจใช้ช่วงเวลาเดินทางนี้เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาในการลดความกดดันจากสิ่งที่พบเจอในแต่ละวัน และข้อเท็จจริงนี้มีวิทยาศาสตร์สนับสนุนด้วย โดยงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การเดินทางที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย อาทิ เดิน ปั่นจักรยาน ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ และอาจสำคัญกับความสุขเท่าๆ กับการแต่งงาน หรือการได้เงินเดือนเพิ่ม
ริชาร์ด มอร์ริส ซีอีโอของ Regus เผยว่า “การปล่อยให้พนักงานเสียเวลาโดยไม่เกิดประโยชน์ไปกับการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองและทำงานตามเวลาที่กำหนด ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุควิกตอเรียควรจะหมดไปได้แล้ว ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กขนาดใหญ่ควรมีตัวเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นที่ทำให้พนักงานได้ทำงานใกล้ๆ บ้านและปรับเปลี่ยนชั่วโมงทำงานเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของพวกเขามากขึ้น”
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP