ในบ้านเรา “รถแดงเชียงใหม่” กำลังเจอวิกฤตหนัก เพราะผู้โดยสารน้อยลง เนื่องจากพากันไปใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันแทน เช่นเดียวกับ “รถจี๊ปนีย์” หรือสองแถวที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของฟิลิปปินส์ที่กำลังจะหายไปจากท้องถนนเร็วๆ นี้
รถจี๊ปนีย์เข้ามาโลดแล่นบนท้องถนนของฟิลิปปินส์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นการนำรถจี๊ปที่กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งไว้มาดัดแปลง เพื่อขนส่งทั้งผู้โดยสาร สินค้า หรือแม้กระทั่งเคยเป็นยานพาหนะของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเมื่อครั้งเยือนฟิลิปปินส์ในปี 2015
เรียกได้ว่าจี๊ปนีย์เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของระบบการขนส่งของฟิลิปปินส์ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่ค่อยดี และยังราคาจับต้องได้สำหรับชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะคนยากคนจนที่อาศัยอยู่ในเขตที่รถแท็กซี่เข้าไม่ถึง คืออยู่ที่ 13 เปโซ หรือ 8 บาทเท่านั้น
แต่ที่กำลังจะทำให้รถจี๊ปนีย์ “ราชาแห่งท้องถนนฟิลิปปินส์” กำลังจะหายไปคือ นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนรถแบบเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นรถมินิบัสที่ใช้เครื่องยนต์ที่ได้มาตรฐานยูโรหรือมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมาพร้อมกับฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย อาทิ ไว-ไฟ กล้องซีซีทีวี และแอร์
แต่รถมินิบัสแบบใหม่นี้มาพร้อมกับราคาค่าตัวสูงถึงคันละ 2.8 ล้านเปโซ (1,745,427 บาท) ในขณะที่รถจี๊ปนีย์แบบดั้งเดิมราคา 150,000-200,000 เปโซ (93,492-124,657 บาท) ทำให้ผู้ขับบางคนเอื้อมไม่ถึง
รถจี๊ปนีย์ทุกคันต่อขึ้นมาแบบพิเศษและมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นพระแม่มารี ไปจนถึงนักบาสเก็ตบอลชื่อดัง หรือการ์ตูน แต่รถมินิบัสจะหน้าตาต่างจากรถจี๊ปนีย์ ทำให้เกิดความกังวลว่าความเป็น “ไอคอนิค” จะหายไปจากท้องถนน
ฝั่งผู้ให้บริการรถจี๊ปนีย์บอกว่าไม้ได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลง แต่รถมินิบัสแบบใหม่ราคาสูงเกินไป หากซื้อรถพวกเขาต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนใหญ่จนอาจไม่ได้ลืมตาอ้าปากเลย หรืออาจจ่ายค่างวดรถไม่ไหวจนถูกยึดรถและต้องตกงานในที่สุด
ยาน อาเตียนซา ตัวแทนของผู้ขับรถผู้ให้บริการรถจี๊ปนีย์เผยว่า “ปัญหาที่เรามองเห็นตอนนี้คือค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนรถ ผู้ให้บริการรายเล็กและคนขับอาจจ่ายไม่ไหว และในท้ายที่สุดผู้ให้บริการรายใหญ่จะเข้ามาครองตลาด” ส่วนโจเซฟ ซาบาดู คนขับรถเผยกับ CNN Philippines ว่า “เราจ่ายไม่ไหวจริงๆ...ถึงเราจะกู้เงินก็ไม่ไหว เราคงเป็นหนี้ไปจนตาย”
ด้านผู้ใช้บริการก็กังวลว่าการนำรถใหม่เข้ามาแทนที่รถจี๊ปนีย์แบบเก่าจะทำให้ค่าโดยสารสูงขึ้น
ส่วนรัฐบาลชี้แจงว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเงินสำหรับรถใหม่ และการเข้าร่วมสหกรณ์จะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธนาคาร และไม่ได้ถอดรถจี๊ปนีย์ออกทันที แต่จะค่อยๆ ปรับโดยใช้เวลา 5-8 ปี

นอกจากนี้ การปลดระวางรถจี๊ปนีย์จะกระทบกับแรงงานที่ต้องอาศัยรถจี๊ปนีย์ในการหาเลี้ยงชีพ อาทิ ช่างซ่อมรถ จนมีบางคนเสนอว่า แทนที่จะปลดระวาง รัฐบาลควรรักษารถจี๊ปนีย์แบบดั้งเดิมไว้ แล้วเปลี่ยนเฉพาะเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดแทน
แผนการปลดระวางรถจี๊ปนีย์เกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต เมื่อปี 2017 ที่มองว่าการเปลี่ยนรถจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศของกรุงมะนิลาและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ รัฐบาลปัจจุบันก็เห็นด้วยกับการเดินหน้าแผนการนี้ต่อ โดยเดิมดูเตร์เตขีดเส้นตายไว้ที่ปี 2018 แต่กระทรวงคมนาคมประกาศเลื่อนออกไปหลังคนขับรวมตัวประท้วง จนมาถึงเส้นตายสุดท้ายเมื่อปลายปีที่แล้ว
อนาคตของรถที่เป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองประเทศดูมืดมนเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคือ จี๊ปนีย์ฟิลิปปินส์กำลังถูกรัฐปฏิรูป แต่รถแดงเชียงใหม่ถูกผู้บริโภคปฏิรูป
AFP / Noel CELIS