“รีเซ็ตประเทศครั้งใหญ่” นโยบายใหม่นายกฯ สิงคโปร์คนล่าสุด

22 ส.ค. 2567 - 09:34

  • ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ นายกฯ คนล่าสุดของสิงคโปร์แถลงนโยบาย “ต้องรีเซ็ตประเทศครั้งใหญ่” แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

  • นโยบายส่วนใหญ่จะสนับสนุนด้านการเงินของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ไปจนถึงคนว่างงาน และยังสนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัย รวมถึงให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วย

pm-lawrence-wong-sets-out-major-reset-policies-vision-for-singapore-SPACEBAR-Hero.jpg

สิงคโปร์กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ไปพร้อมกับผู้นำประเทศคนล่าสุด ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไปหมาดๆ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของประเทศหลังจากอยู่ใต้การนำรัฐบาลของ ‘ลี เซียนลุง’ มานานราว 2 ทศวรรษ

“การจะบรรลุความทะเยอทะยานครั้งใหม่นั้นต้องอาศัยการรีเซ็ตครั้งใหญ่...การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะเกิดขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า ผมต้องการความช่วยเหลือจากคุณเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เพราะการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่เรามุ่งหวังไว้จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในตัวเราทุกคน”

นายกฯ หว่อง กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกเนื่องในโอกาสการชุมนุมวันชาติเมื่อวันที่ 18 ส.ค.

และนี่คือประเด็น ‘รีเซ็ต’ ประเทศครั้งใหญ่ของสิงคโปร์ในยุคนายกฯ หว่อง 

1. เพิ่มวันลาเลี้ยงดูบุตร

พ่อแม่จะได้รับสิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรเพิ่มอีก 10 สัปดาห์ โดยคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันใช้สิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งจะมาแทนที่ข้อตกลงปัจจุบันที่สามีสามารถแบ่งสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของภรรยาได้สูงสุด 4 สัปดาห์จาก 16 สัปดาห์ที่ภรรยาได้รับ 

หว่อง กล่าวว่า “โครงการริเริ่มใหม่นี้จะเริ่มต้นด้วยการให้ลา 6 สัปดาห์สำหรับทารกที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2025 และจะเพิ่มเป็น 10 สัปดาห์เต็มในอีก 1 ปีต่อมา” โดยรวมแล้ว พ่อแม่จะได้รับสิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรเป็นเวลา 30 สัปดาห์หรือ 7.5 เดือนในปี 2026 

แม้ว่าในปี 2024 จะมีการเพิ่มระยะเวลาลาเพื่อเลี้ยงบุตรเป็นสองเท่าจาก 2 สัปดาห์เป็น 4 สัปดาห์ แต่ผู้จ้างงานก็มีดุลยพินิจที่จะเสนอว่าจะให้วันลาเพิ่มเติมหรือไม่ และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2025 เป็นต้นไป การลาเพิ่มเติมดังกล่าวจะกลายเป็นข้อบังคับ 

หว่องกล่าวว่า “จะสนับสนุนวันลาเพิ่มเติมแก่ผู้ที่ต้องการมีลูกคนที่ 3 หรือมีลูกเล็ก 3 คนขึ้นไป โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในงบประมาณปี 2025” 

2. มอบเงินช่วยเหลือคนว่างงานสูงสุด 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.05 แสนบาท)

โครงการสนับสนุนผู้หางานใหม่ ‘SkillsFuture’ จะให้การสนับสนุนทางการเงินชั่วคราวแก่คนว่างงาน พวกเขาจะได้รับเงินสูงสุดถึง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2.05 แสนบาท) ในระยะเวลาสูงสุด 6 เดือนในระหว่างที่พวกเขาเข้ารับการฝึกอบรม รับคำปรึกษาอาชีพ และการจับคู่ตำแหน่งงานว่าง 

เงินช่วยเหลือการฝึกอบรมใหม่ภายใต้โครงการ ‘SkillsFuture Level-Up' จะมีผลบังคับใช้ในปี 2025 เช่นกัน และชาวสิงคโปร์ทุกคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 1.02 แสนบาท) เมื่อเข้ารับการฝึกอบรมแบบเต็มเวลา โดยวงเงินช่วยเหลือสูงสุดอยู่ที่ 24 เดือน รวมเป็นเงิน 72,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.4 ล้านบาท) 

“นอกจากนี้ เงินจากโครงการ ‘SkillsFuture Credit’ จำนวน 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.37 แสนบาท) ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ก็ถูกโอนเข้าบัญชีชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพร้อมใช้งานแล้ว” หว่อง กล่าว 

3. ปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับคู่รัก คนโสด และผู้สูงอายุ

pm-lawrence-wong-sets-out-major-reset-policies-vision-for-singapore-SPACEBAR-Photo01.jpg

รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ห้องชุดมีราคาถูกลง และจะเพิ่มเงินอุดหนุนโครงการที่อยู่อาศัย ‘CPF’ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคู่สามีภรรยาที่มีรายได้น้อย ปัจจุบันเงินอุดหนุนดังกล่าวจะมอบให้ครอบครัวที่ซื้อห้องชุดใหม่สูงสุดถึง 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.7 ล้านบาท) 

ส่วนคนโสดที่ยื่นขอซื้อแฟลตแบบ ‘Build-To-Order' (BTO / สร้างตามสั่ง) จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อบ้านใกล้บ้านพ่อแม่ตั้งแต่กลางปี 2025 เป็นต้นไป ในปัจจุบัน คนที่แต่งงานแล้ว และพ่อแม่ของพวกเขาได้ซื้อแฟลตใหม่เพื่ออยู่อาศัยด้วยกันหรืออยู่ใกล้กันจะได้รับสิทธิ์ในการซื้อแฟลตแบบ BTO ก่อนใคร และในไม่ช้านี้ สิทธิ์จะขยายไปถึงพ่อแม่และลูกๆ ทุกคน ไม่ว่าจะแต่งงานแล้วหรือโสดก็ตาม 

นอกจากนี้ ทางการเองก็กำลังศึกษาแนวทางในการปรับปรุงบ้านที่มีอยู่ให้เหมาะกับผู้สูงอายุมากขึ้นสำหรับพลเมืองที่ต้องการอยู่อาศัยในวัยชรา แล้วก็เปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุมากขึ้นที่มาพร้อมกับบริการการดูแล และบริการทางสังคมอีกด้วย 

4. ปรับปรุงโครงการการศึกษาสำหรับเด็กเก่งที่มีความสามารถพิเศษ

แม้ว่าสิงคโปร์จะมีระบบการศึกษาที่มั่นคง แต่ก็เต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความวิตกกังวล ความกดดัน และความเครียดได้ 

“สิ่งสำคัญคือการหันกลับมาเน้นที่วัตถุประสงค์ของการศึกษา นั่นคือการจุดประกายความสุขในการเรียนรู้ และการช่วยให้เด็กทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่” หว่อง กล่าว 

รูปแบบปัจจุบันของโครงการการศึกษาสำหรับเด็กเก่งที่มีความสามารถพิเศษในโรงเรียนประถมศึกษาจะถูกยกเลิกและจะแทนที่ด้วยวิธีการใหม่ที่จะทำให้โรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งมีโครงการของตัวเองเพื่อขยายความสามารถของผู้เรียน 

5. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาแม่ขั้นสูง

pm-lawrence-wong-sets-out-major-reset-policies-vision-for-singapore-SPACEBAR-Photo02.jpg

นักเรียนจำนวนมากจะสามารถเลือกเรียนวิชาภาษาแม่ขั้นสูงได้ และมีแผนที่จะลดเกณฑ์การมีสิทธิ์เข้าเรียน เนื่องจากในปัจจุบัน หากนักเรียนต้องการเรียนภาษาจีนขั้นสูง (HCL) ในระดับมัธยมศึกษานั้น นักเรียนจะต้องได้คะแนนสอบปลายภาคประถมศึกษาตามที่กำหนดจึงจะมีสิทธิ์เข้าเรียน ทั้งนี้ ไม่รวมนักเรียนที่เรียนภาษาจีนได้ดีแต่คะแนนสอบระดับชาติสิงคโปร์ (PSLE) ไม่ผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนด 

การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้นักเรียนที่เก่งภาษาจีนสามารถเรียน HCL ได้ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขณะเดียวกัน นักเรียนที่ต้องการเรียนภาษามาเลย์ขั้นสูงและภาษาทมิฬขั้นสูงก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน 

6. สนามกีฬาในร่มตามแผนแม่บท ‘Kallang Alive’

หว่อง กล่าวว่า จะมีการสร้างสนามกีฬาในร่มแห่งใหม่ซึ่งมีความจุ 18,000 ที่นั่งภายใต้แผนแม่บท ‘กัลลัง อไลฟ์’ (Kallang Alive) เพื่อรองรับการแข่งขันระดับชั้นนำแทนที่สนามกีฬาในร่มในปัจจุบันที่มีอายุ 35 ปีแล้ว นอกจากนี้ ก็จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักกีฬาทีมสิงคโปร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์การกีฬาใหม่  

แผนแม่บทนี้มุ่งหวังที่จะพัฒนาเขตกัลลังให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์สำหรับชาวสิงคโปร์ทุกระดับความสามารถ ทุกคนสามารถเล่นกีฬาได้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความผูกพันในครอบครัวให้มีสุขภาพดีไปด้วย ทั้งนี้ถนนสายหลักที่วิ่งผ่านเขตกัลลังจะถูกแปลงเป็นถนนคนเดินในชุมชนพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และโปรแกรมกีฬา 

7. สร้างพื้นที่อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเล

pm-lawrence-wong-sets-out-major-reset-policies-vision-for-singapore-SPACEBAR-Photo03.jpg

รัฐบาลของหว่องมีแผนจะสร้างเขตที่อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเลที่มีความยาว 120 กม. ประมาณ 5 เขต ได้แก่ : 

  • บริเวณพื้นที่นิโคลล์ และกัมปงบูกิส จะมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสันทนาการใหม่ 
  • ส่วนตรงโซนทันจงรู ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยที่อยู่อาศัยส่วนตัวอยู่แล้ว จะมีการสร้างแฟลตของโครงการที่อยู่อาศัย ‘HDB’ เพิ่ม 
  • สำหรับละแวกมารีน่าใต้ และมารีน่าตะวันออก จะสร้างบ้านใหม่มากกว่า 10,000 หลัง พื้นที่เหล่านี้จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่่เป็นมิตรกับรถยนต์ มีเครือข่ายจักรยานและถนนที่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้า รวมถึงมีบริการรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ด้วย  

8. วิทยาลัยอิสลามศึกษาแห่งใหม่สิงคโปร์

pm-lawrence-wong-sets-out-major-reset-policies-vision-for-singapore-SPACEBAR-Photo04.jpg

รัฐบาลหว่องมีแผนว่าจะสร้างวิทยาลัยการศึกษาอิสลามของสิงคโปร์แห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นสถานที่บ่มเพาะผู้นำอิสลามของสิงคโปร์ในอนาคต “รัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการสร้างชุมชนชาวมาเลย์/มุสลิมที่ทันสมัยและก้าวหน้า โดยยังคงรักษาประเพณีและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาไว” หว่อง กล่าว 

หว่องมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่าทุกคนในชุมชนจะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของสิงคโปร์และสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์