นักวิเคราะห์ชี้ สุดท้าย ‘ดีลการเมือง’ จะชี้ชะตาผู้ชนะและพลิกผลการเลือกตั้งไทย

27 เม.ย. 2566 - 04:57

  • นโยบายเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แต่ขึ้นอยู่กับการดีลกันหลังบ้านว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล

political-dealmaking-determine-winner-twist-thailand-election-outcomes-SPACEBAR-Thumbnail
บทความแสดงความคิดเห็นโดยนักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute และผู้สังเกตการณ์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า เส้นทางของรัฐบาลชุดใหม่ของไทยจะขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่นโยบายที่พรรคต่างๆ เสนอกันมา  

บทความของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ระบุว่า หลังจากยุบสภาฯ และกำหนดการเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคมนี้แต่ละพรรคก็แข่งขันกันด้วยนโยบายประชานิยม อาทิ พรรคเพื่อไทยประกาศจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่าเป็น 600 บาทภายในปี 2027 พรรคพลังประชารัฐประกาศเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการจาก 600 บาทเป็น 700 บาท ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติเกทับด้วยการประกาศเพิ่มเงินสวนนี้เป็น 1,000 บาท 

นโยบายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านโยบายประชานิยมที่ริเริ่มเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้วโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานสำหรับทุกพรรคการเมือง 

ทว่านโยบายเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง หรือว่านโยบายที่ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะสอดคล้องกับนโยบายของพรรคไหน แต่ขึ้นอยู่กับการดีลกันหลังบ้านว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล

พยายามสร้างพันธมิตร 

บทความระบุต่อว่า มีเพียงพรรคเดียวคือพรรคเพื่อไทยที่มีโอกาสได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ แต่ในบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ พรรคเพื่อไทยมีโอกาสน้อยที่สุดที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีศักยภาพ 

ในกรณีที่ ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเคยลงคะแนนท่วมท้นให้พลเอกประยุทธ์เมื่อปี 2019 เข้ามาร่วมกับ ส.ส. 500 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้แต่เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยก็ไม่รับประกันว่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก ส.ว. ไม่น่าจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย 

เพื่อให้ได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 376 จาก 750 เสียงในรัฐสภา นักการเมืองจากทุกจุดยืนทางการเมืองจะต้องสร้างพันธมิตรชั่วคราว แล้ววางลำดับความสำคัญของนโยบายและความแตกต่างทางอุดมคติไว้ก่อนเพื่อจับมือกันทางการเมือง โดยแนวโน้มดังกล่าวได้แสดงให้เห็นแล้วจากการย้ายพรรค และเส้นแบ่งอุดมการทางการเมืองที่คลุมเครือในบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ 

ดังนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศไทยในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับลักษณะของรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวน่าจะเป็นไปตามความต้องการคนที่ทำดีลทางการเมือง แม้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งของพรรค แต่ความชอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจไม่ได้ถูกสะท้อนให้เห็นในการกำหนดโครงสร้างรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง 

ผู้เขียนบทความคาดการณ์ว่ามี 3 สถานการณ์ที่เป็นไปได้ นั่นคือ 1.‘เป็นแบบเดิม’ คือ พรรคอนุรักษนิยมและพรรคเล็กจากรัฐบาลปัจจุบันรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 2.‘พรรคฝ่ายค้านแลนด์สไลด์’ ซึ่งจะพลิกให้รัฐบาลปัจจุบันกลายเป็นฝ่ายค้าน หรือ 3.‘ข้ามขั้วการเมือง’ โดยพรรคหลักจากรัฐบาลปัจจุบันจับมือกับพรรคฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาล ‘ปรองดองแห่งชาติ’  

ซึ่งหากผลออกมาเป็นสถานการณ์แรก พลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตรน่าจะนั่งเก้าอี้นายกฯ โดยมีพรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กๆ โดยมีเสียงจาก ส.ว.สนับสนุนเต็มที่ 

พรรคส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้เช่นเดียวกับที่ผ่านๆ มา เนื่องจากต้องงัดข้อกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรและฝ่ายต่างๆ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่กำลังดำเนินการอยู่น่าจะดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด อย่างไรก็ดี ด้วยความที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคใหญ่ในพรรคร่วม อาจเป็นไปได้ว่านโยบายสำคัญจริงๆ ของรัฐบาลสมัยหน้าคือการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาและการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

การเป็นผู้นำของพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร

ในกรณีที่เพื่อไทยแลนด์สไลด์ซึ่งเป็นการชัตดาวน์ ส.ว. เศรษฐา ทวีสิน หรือ แพทองธาร ชินวัตร อาจเป็นนายกฯ โดยคณะรัฐมนตรีจะประกอบไปด้วยนักธุรกิจและเทคโนแครตที่มีสายสัมพันธ์กับตระกูลชินวัตร และตัวแทนจากกลุ่มจังหวัดหรือครอบครัวจำนวนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนการเลือกตั้งแก่พรรคเพื่อไทยเป็นอย่างน้อยในเบื้องต้น 

คณะรัฐมนตรีอาจรวมสมาชิกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ก้าวหน้าและวาระรัฐสวัสดิการซึ่งดึงมาจากพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้แก้กฎหมายมาตรา 112 หรืการปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกลอาจไม่ประสบความสำเร็จภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยอาจบริหารโดยไม่สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอนุรักษนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนในตระกูลชินวัตรได้เป็นนายกฯ  

บทความระบุว่า วาระสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่นี้น่าจะอยู่ที่นโยบายที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของรากหญ้าและชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ดี รัฐบาลแบบนี้ก็อาจเป็นรัฐบาลที่สร้างความไร้เสถียรภาพมากที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแพทองธารได้เป็นนายกฯ 

แค่นามสกุลชินวัตรเพียงอย่างเดียวก็แสลงหูฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว การรัฐประหารเมื่อปี 2014 เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นตัวเร่งให้ประชาชนลงถนนหลังจากรับบาลพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งอาจเอต่อการกลับบ้านเกิดของทักษิณ 

รัฐบาลต่างขั้ว

สถานการณ์นี้อาจเกิดการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีการปฏิเสธแนวทางนี้มาโดยตลอด กับพรรคเล็กอื่นๆ อาทิ ประชาชาติ ชาติไทยพัฒนา แต่ไม่รวมพรรคก้าวไกล 

พลเอกประวิตรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเลือก ส.ว. รีแบรนด์ตัวเองเป็นนายทหารประชาธิปไตย และยังประกาศว่ารัฐบาลพลังประชารัฐจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเลือกนโยบายที่ดีที่สุดของทุกพรรค เพราะ “การเมืองที่อยู่ในใจผม คือการเมืองที่ไม่ต้องมีผู้ชนะเด็ดขาด ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ” และยังเน้นย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของตัวเองเปิดกว้างทำงานกับทุกคนไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร รวมทั้งพรรคเพื่อไทย 

หากการจับมือกับพรรคต่างขั้วเกิดขึ้น เพื่อไทยก็น่าจะคุม ครม. เป็นส่วนใหญ่ แล้วปล่อยเก้าอี้รัฐมนตรีหลักๆ ซึ่งมีความสำคัญไม่กี่เก้าอี้ อาทิ มหาดไทย กลาโหม และ/หรือรองนายกฯ ที่คุมตำรวจให้พลเอกประวิตร 

การยมอ่อนข้อนี้จะเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจภายในของพรรคเพื่อไทย การแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 256 ฉบับปี 2560 มีโอกาศเกิดขึ้นมากหากมีการจับมือกับพลเอกประวิตร เนื่องจากต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3  

อย่างไรก็ดี ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสถานการณ์ไหนหรือการรวมตัวกันแบบใดจะเกิดขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือ นโยบายต่างๆ ที่แต่ละพรรคหาเสียงไว้จะไม่ได้เป็นตัวตัดสินการร่วมรัฐบาล หรือแปลเป็นผลลัพธ์ของนโยบายที่สะท้อนถึงความชอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยอย่างถูกต้อง 

สรุปสั้นๆ คือ แนวนโยบายของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งแตกแยกออกเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมโยงกัน และเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงอันเกิดจากการแข่งขันกันเองภายในพรรคร่วมจะยังคงดำเนินต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์