จากกรณีของ ‘หมอพรทิพย์’ หรือ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในทริปล่าแสงเหนือ ที่ประเทศไอซ์แลนด์ และได้ถ่ายรูปขณะนอนบน ‘ลาวามอส’ (Lava Moss) และโพสต์บนอินสตาแกรมส่วนตัว แม้จะมีการชี้แจงและลบในภายหลัง แต่ชาวเน็ตก็แคปทันอยู่ดี จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรเหยียบ แต่ก็มีอีกฝั่งหนึ่งแย้งว่าคนอื่นก็เหยียบกันนะ

ภูเขาไฟเป็นที่รู้จักและนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวในไอซ์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งลาวาถูกปกคลุมด้วยพืชที่รูปร่างเหมือนตะไคร่น้ำ หรือต้นมอส ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่เปราะบาง และมีกว่า 600 ชนิด ซึ่งอยู่ได้แค่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส และสภาพภูมิอากาศเย็นชื้นโดยจะเป็นปกติในฤดูหนาวของไอซ์แลนด์
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามันจะดีและไร้อันตรายเมื่อทุ่งนี้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว แต่แปลว่าพื้นที่เหล่านั้นอาจเคยเป็นหลุมลาวา หรือเป็นหินที่ไม่แข็งแรงพอจะให้มนุษย์ไปยืนเหยียบรวมถึงการเดินบนนั้นได้ นอกจากนี้ ยังจะต้องระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพวกมันด้วย เนื่องจากมันเป็นพืชที่ใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน
เรื่องของหมอพรทิพย์ไม่ได้นับว่าเป็นดรามาครั้งแรก ในปี 2015 นักร้องดังอย่าง ‘จัสติน บีเบอร์’ เองก็เคยถูกรุมสวดยับเช่นกัน เนื่องจากมิวสิควิดีโอเพลง I’ll show you และทำให้เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของไอซ์แลนด์ต้องปิดพื้นที่ลาวามอสจากเหล่าแฟนๆ ของบีเบอร์ ที่ตั้งใจจะไปเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำมิวสิควิดีโอ แม้ว่าจะมีการปักป้ายเตือนว่าห้ามเข้าไปเหยียบก็ตาม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความท้าทายต่อสภาพแวดล้อมที่เปราะบางของไอซ์แลนด์ อันเนื่องมาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยว 2.3 ล้านคนมาเยือนประเทศหมู่เกาะแอตแลนติกเหนือ เทียบกับ 600,000 คนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 20% ต่อปีนั้นเกินสัดส่วนกับระบบที่จำเป็นในการปกป้องภูมิทัศน์ภูเขาไฟของไอซ์แลนด์
หลังจากเกิดเคสของบีเบอร์ กุดมุนดูร์ อินกิ กุดแบรนด์สสัน (Guðmundur Ingi Guðbrandsson) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า มันง่ายเกินไปที่จะตำหนิสถานการณ์ทั้งหมดว่าเกิดจากบีเบอร์ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เตือนให้ผู้มาเยือนที่มีชื่อเสียง หรือบรรดาอินฟลูเอนเซอร์คำนึงถึงผลที่ตามมาจากการกระทำไม่ยั้งคิด
เขากล่าวว่า พฤติกรรมที่ลุกลามของบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ทั้งหมดหากมีคนจำนวนมากตามมา ผู้มาเยือนบางคนก็มาทำเป็นพูดจาดีๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เปิดประตูให้ ซึ่งบางคนก็เสนอสินบนเล็กๆ น้อยๆ ให้ แม้จะรู้ว่ามันไม่ได้ผลก็ตาม
ทุ่งลาวาเอลธรอนซึ่งเป็นทุ่งมอสลาวาที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ได้ทำทางเดินและเชือกกั้น เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปเหยียบย่ำทำธรรมชาติเสียหาย แต่ที่ผ่านมาได้มีนักท่องเที่ยวหลายคนมักจะฝ่าฝืนเดินรุกล้ำเข้าไปถ่ายรูปกับทุ่งลาวามอสอย่างใกล้ชิด ทั้ง ยืน นอน นั่งเดิน บนทุ่งลาวา จนทำให้หน่วยงาน Visit Iceland ต้องออกมารณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปบนทุ่งลาวามอส เนื่องจากดินในทุ่งลาวาเอลธรอนมีความเปราะบางมาก มอสเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศของไอซ์แลนด์ และต้องใช้เวลานานกว่าจะเติบโต
ขณะที่เว็บไซต์ Guide to Iceland เองก็เขียนแนะนำนักท่องเที่ยวว่าห้ามลงไปเกลือกกลิ้งบนทุ่งมอสลาวา ซึ่งเรื่องนี้คนท้องถิ่นจะจริงจังกับเรื่องนี้มาก และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนท้องถิ่นเกลียดที่สุดสำหรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้
สุดท้ายนี้ แม้จะไม่มีกฏจริงจังจากรัฐว่า ‘ห้าม’ แต่ก็เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้อีกนานๆ