ยูเนสโก เตือนการประท้วงในสเปนจะขยายวงกว้างขึ้น หากเจ้าหน้าที่ยุโรปล้มเหลวในการแก้ไขผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่มีต่อชีวิตผู้คนในท้องถิ่น หลังชุมชนท้องถิ่นแหล่งท่องเที่ยวดังรวมตัวประท้วงไล่นักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่องตั้งแต่หมู่เกาะคานารีจนถึงบาร์เซโลนา
ปีเตอร์ เดอบริน เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวในรายการ “Squawk Box Asia” เมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ว่า การประท้วงในสเปนจะขยายวงกว้างขึ้น หากเจ้าหน้าที่ยุโรปล้มเหลวในการแก้ไขผลกระทบด้านลบของการท่องเที่ยวมวลชนที่มีต่อชีวิตของประชาชน
“สถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนอย่างมาก การที่ภาคประชาสังคมเข้ามาและพยายามทำการเปลี่ยนแปลงนั้นสำคัญมาก เพราะท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับเลือกจากประชาชน พวกเขาต้องตอบสนองต่อสิ่งที่ประชาชนในเมืองของพวกเขาต้องการ” เดอบรินกล่าว
เดอบริน ยังยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ห้ามเรือสำราญขนาดใหญ่ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี 2021 โดยระบุว่า เนื่องจากผู้คนออกมาประท้วงเรื่องนี้ จึงไม่มีเรือสำราญแล่นผ่านแกรนด์คาแนลอีกต่อไป
ปัจจุบัน เรือสำราญจอดเทียบท่าห่างจากเวนิสมากขึ้น ซึ่งช่วยรักษาความสมบูรณ์ทางโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของตัวเมือง
สำนักงานท่าเรือทะเลเอเดรียติกเหนือ ระบุว่า ผู้โดยสารทางเรือยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ช่องทางแคบๆ นับพันคน โดยมีการคาดการณ์ว่า เวนิสจะดึงดูดผู้โดยสารเรือสำราญได้ประมาณ 540,000 คนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2023
ด้านสำนักข่าวยูโรนิวส์ รายงานว่า เวนิสบังคับใช้ภาษีการท่องเที่ยว 5 ยูโร (5.45 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดจำนวนผู้มาเยือนลงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ยังไม่ได้ผลจนถึงขณะนี้
ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ผู้อยู่อาศัยในบาร์เซโลนา ประเทศสเปนต้องเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากความนิยมในเมืองของตนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับเวนิส ซึ่งจากการสำรวจโดยสภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนาในปี 2023 พบว่า จำนวนประชาชนที่เชื่อว่าการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ต่อเมืองนี้ลดลงทุกปี ในขณะที่ผู้ที่เห็นว่าเป็นอันตรายมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ต้นเดือนที่ผ่านมา มีชาวสเปนหลายพันคนออกมาเดินขบวน ถือป้ายไล่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามถนนสายสำคัญๆ ในเมืองบาร์เซโลนา เช่นป้ายหนึ่งที่มีข้อความว่า “Tourist Your Luxury Trip My Daily Misery” (ทริปการท่องเที่ยวหรูหราของพวกคุณเป็น ความทุกข์ยากทุกวันของพวกฉัน) สะท้อนถึงความรู้สึกไม่พอใจของชาวเมือง และยังมีการใช้ปืนฉีดน้ำไล่ฉีดนักท่องเที่ยวต่างชาติตามร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ แถมยังมีการใช้เทปหนาแบบตำรวจปิดกั้นทางเข้าโรงแรมและร้านกาแฟหลายแห่ง
เมื่อปีที่แล้ว สเปนรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากถึง 85 ล้านคน รองจากฝรั่งเศสที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวกว่า 100 ล้านคน มากที่สุดในยุโรป สาเหตุที่คนไปเที่ยวสเปนกันมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ส่วนเมืองบาร์เซโลนา มีท่าเรือสำราญตั้งอยู่ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเช้า-เย็นกลับเข้ามาเที่ยวจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวเมือง
เมืองบาร์เซโลนา มีประชากร 1.6 ล้านคน ปีที่แล้ว รองรับนักท่องเที่ยว 7.8 ล้านคน และมีการสร้างโรงแรมเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ส่วนค่าเช่าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 68% ชาวเมืองจึงเดือดร้อนและลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่นักท่องเที่ยวอย่างที่เป็นข่าว
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ชาวหมู่เกาะคานารีประมาณ 57,000 คนก็ออกมาประท้วงบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนโมเดลการท่องเที่ยวแบบมวลชนที่ทำให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง โดยใช้สโลแกนว่า “หมู่เกาะคานารีก็มีขีดจำกัด” และมีผู้ประท้วงบางคนพากันร้องตะโกนพร้อมกับถือป้ายว่า “หมู่เกาะคานารีไม่ได้มีไว้ขาย” หรือป้ายที่เรียกร้องให้มีการระงับการท่องเที่ยวในเกาะ
การประท้วงครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมประมาณ 20 กลุ่มที่มองว่า การท่องเที่ยวที่มากเกินไปส่งผลให้เกิดรูปแบบทางเศรษฐกิจที่เป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและทำลายสิ่งแวดล้อม
ผู้ประท้วงต้องการให้ทางการของหมู่เกาะคานารีจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวและเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ระงับการท่องเที่ยวเป็นเวลาชั่วคราว และหยุดการขายที่ดินให้แก่คนนอกที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่หมู่เกาะคานารี
หมู่เกาะคานารีตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเพราะสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาไฟและสภาพอากาศที่มีแสงแดดตลอดทั้งปี
ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังหมู่เกาะคานารีมากถึง 16 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 7 เท่าของประชากรในเกาะซึ่งอยู่ที่ 2.2 ล้านคน
Photo by Josep LAGO / AFP