‘Right to disconnect’ ไม่ตอบแชท ไม่รับสายนอกเวลางาน! ประเทศไหนทำแล้วบ้าง

27 ส.ค. 2567 - 09:46

  • ออสเตรเลียเพิ่งประกาศบังคับใช้กฎหมาย ‘Right to disconnect’ เมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานทำงานล่วงเวลาโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

  • พาไปทำความรู้จักการใช้สิทธิ์ ‘Right to disconnect’ ต้องใช้ในสถานการณ์ไหน?

  • แล้วมีประเทศไหนที่บังใช้กฎหมายนี้อีกบ้าง?

right-to-disconnect-laws-begun-what-you-should-know-SPACEBAR-Hero.jpg

เชื่อว่าหลายคนคงเจอกับสถานการณ์นี้บ่อยครั้งในช่วงเลิกงาน หรือวันหยุด “ฝากแก้งานนี้เพิ่มอีกนิดหน่อยนะ ขอพรุ่งนี้เช้า” “รบกวนวันหยุดครับ ฝากหาข้อมูลนี้เพิ่มเติมครับ” “ฝากงานวันหยุด ขอภายในจันทร์นี้นะ” แน่นอนว่าคงเป็นข้อความที่เราไม่อยากจะเห็นในแจ้งเตือนโทรศัพท์กันทีเดียวล่ะ แต่จะทำไงได้ล่ะนอกจากต้องตอบกลับไปว่า “ค่าาาา” “ได้ค่าาา” “โอเคครับ” “รับทราบครับผม” ทั้งๆ ที่ในใจอยากจะกรี๊ดออกมาว่านี่เลิกงานแล้วนะ นอกเวลางานแล้ว วันนี้วันหยุดพักผ่อนนะ แต่ทำไงได้ล่ะถ้ามีงานเข้ามาก็ต้องทำไง 

แต่สิ่งนี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปสำหรับมนุษย์เงินเดือนในออสเตรเลีย เพราะกฎหมายฉบับใหม่อนุญาตให้ ‘พนักงานมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะไม่ติดต่อสื่อสาร หรือคุยเรื่องงานทั้งหมดนอกเวลางานหากมองแล้วว่าไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนอะไร’ หรือที่เรียกว่า ‘Right to disconnect’ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 26 ส.ค. สำหรับบริษัทที่มีพนักงาน 15 คนขึ้นไป แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 15 คนจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2025 

สิทธิ์ ‘Right to disconnect’ บังคับใช้ยังไง?

right-to-disconnect-laws-begun-what-you-should-know-SPACEBAR-Photo01.jpg

สิทธิ์ ‘Right to disconnect’ จะอนุญาตให้พนักงานปิดแจ้งเตือนหลังเลิกงานและเลือกที่จะไม่ติดต่อสื่อสารเรื่องงานนอกเวลาหากว่าเรื่องนั้นไม่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องดูแลครอบครัว 

ในกรณีที่พนักงานสามารถไม่ตอบแชท หรือสื่อสารกับนายจ้างนอกเวลางานแล้วเข่าข่าย ‘สมเหตุสมผล’ ยกตัวอย่างเช่น : หากพนักงานออฟฟิศรับสายนายจ้างซึ่งสั่งให้เข้าสู่ระบบและตอบอีเมลเร่งด่วน แต่พอเปิดอีเมลแล้วพบว่าอีเมลดังกล่าวไม่เร่งด่วนเลย กรณีนี้ถือว่า ‘สมเหตุสมผล’ ที่พนักงานจะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน

และนี่คือปัจจัยที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องตัดสินใจว่าการติดต่อนอกเวลาทำงานมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ : 

  • ความเร่งด่วนของเหตุผลในการติดต่อ 
  • วิธีการติดต่อ (เช่น การโทรศัพท์อาจถือว่าก่อกวนมากกว่าการส่งอีเมล) 
  • การติดต่อก่อให้เกิดการรบกวนต่อพนักงานมากเพียงใด 
  • ได้รับค่าตอบแทนสำหรับการทำงานนอกเวลาปกติหรือไม่ 
  • บทบาทของพนักงาน และระดับความรับผิดชอบของพนักงานภายในองค์กร 
  • สถานการณ์ส่วนบุคคลของพนักงาน รวมถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัว

แต่กรณีที่พนักงานปฏิเสธตอบแชท หรือสื่อสารกับนายจ้างนอกเวลาที่เข้าข่าย ‘ไม่สมเหตุสมผล’ ยกตัวอย่างเช่น : หากนายจ้างร้านค้าปลีกดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเห็นว่าพนักงานลืมปิดไฟหรือเปิดคอมพิวเตอร์ค้างไว้ แล้วติดต่อพนักงานนอกเวลาทำการเพื่อแจ้งให้ทราบ แต่พนักงานปฏิเสธการติดต่อถือเป็นเรื่อง ‘ไม่สมเหตุสมผล’ ที่พนักงานจะปฏิเสธ 

หากพนักงานแสดงความกังวลเกี่ยวกับการติดต่อนอกเวลางานอย่างต่อเนื่องของนายจ้าง นายจ้างอาจถูกปรับเป็นเงิน 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ (6.1 แสนบาท)  

ทั้งนี้ หากพนักงานใช้สิทธิ์ ‘Right to disconnect’ แล้วเกิดข้อพิพาท ทั้งนายจ้างและพนักงานจะต้องหารือและแก้ไขในที่ทำงานก่อน แต่หากสถานการณ์บานปลาย พนักงานและนายจ้างจะต้องไปศาลระดับชาติด้านความสัมพันธ์ในที่ทำงานของออสเตรเลีย (Fair Work Commission) เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบสิทธิ์ ‘Right to disconnect’ นะ!!! 

กฎหมายดังกล่าวผ่านสภาในช่วงต้นปีนี้ แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มนายจ้างที่กล่าวว่า ‘กฎหมายนี้เร่งรีบและมีข้อบกพร่อง’ อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานด้วย 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจในพื้นที่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้ “มันเป็นเพียงความคิดลมๆ แล้งๆ ธุรกิจต่างๆ ไม่ได้รับการปรึกษาหารืออะไรเลยเกี่ยวกับประเด็นนี้” แอนดรูว์ แม็คเคลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมออสเตรเลีย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้  

ประเทศไหนที่พนักงานมีสิทธิ์ที่จะไม่ตอบแชทนอกเวลางานบ้าง?

right-to-disconnect-laws-begun-what-you-should-know-SPACEBAR-Photo02.jpg

-ฝรั่งเศส-

ฝรั่งเศสเป็นผู้บุกเบิกบังคับใช้กฎหมาย ‘Right to disconnect’ ในปี 2017 โดยกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนต้องกำหนดเวลาเฉพาะที่พนักงานไม่ต้องตอบกลับอีเมล หรือตอบข้อความเกี่ยวกับงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพและชีวิตครอบครัวของพนักงานหากว่าต้องคุยงานนอกเวลาตลอด 

-สเปน-

ในปี 2021 สเปนได้ประกาศใช้กฎหมาย ‘Right to disconnect’ โดยที่พนักงานไม่จำเป็นต้องตอบแชทนอกเวลางาน เพื่อที่จะปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงาน และลดความเครียดจากการทำงาน 

-เบลเยียม-

สำหรับเบลเยียมนั้นได้บังคับใช้กฎหมาย ‘Right to disconnect’ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในปี 2018 และต่อมาก็ได้ขยายสิทธิ์ดังกล่าวไปยังภาคเอกชนสำหรับบริษัทที่มีพนักงาน 20 คนขึ้นไป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2023 ทั้งนี้ก็เพื่อรับประกันว่าพนักงานทุกคนจะไม่ถูกรบกวนการติดต่อเรื่องงานจากนายจ้าง 

-อิตาลี-

อิตาลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่วมบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอนุญาตให้พนักงานไม่จำเป็นต้องรับสาย หรือตอบอีเมลที่เกี่ยวข้องกับงานนอกเวลางาน เพื่อแยกเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวออกจากกัน รวมทั้งเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วย 

-ไอร์แลนด์-

ไอร์แลนด์ได้นำกฎหมาย ‘Right to disconnect’ มาใช้ในปี 2018 หลังจากตระหนักแล้วว่าารตอบแชทตอบอีเมลนอกเวลางานอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตของพนักงาน โดยกฎหมายนี้สนับสนุนให้พนักงานพักจากการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับงานนอกเวลางาน  เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงานที่ดีขึ้น 

-โปรตุเกส-

โปรตุเกสได้ประกาศใช้กฎหมาย ‘Right to disconnect’ ในปี 2020 มีผลบังคับใช้สำหรับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10 คนขึ้นไปจะถูกห้ามติดต่อกันเรื่องงานหากไม่ใช่เวลางาน เพื่อให้พนักงานใช้เวลาส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ก็ยังมีประเทศอื่นๆ อีก เช่น 

  • ลักเซมเบิร์ก 
  • เนเธอร์แลนด์ 
  • สโลวาเกีย 
  • อาร์เจนตินา 
  • ชิลี 
  • เม็กซิโก 
  • ฟิลิปปินส์ 
  • เกาหลีใต้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์