ไทยอย่าชะล่าใจ นอกจากทุเรียนเวียดนาม ยังมีทุเรียนจากไห่หนานของจีนเองด้วย

24 มิ.ย. 2567 - 09:00

  • ผลผลิตทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนานของจีนล็อตแรกเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว

  • การปลูกทุเรียนของไห่หนานยังต้องเผชิญความท้าทาย อาทิ กำลังการผลิตที่จำกัด และสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน รวมทั้งไต้ฝุ่น

rise-of-hainan-durian-wake-up-call-for-thai-growers-and-exporters-SPACEBAR-Hero.jpg

ชาวสวนไทยที่ส่งออกทุเรียนไปจีนอย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะนอกจากทุเรียนจากเวียดนามจะหายใจรดต้นคอเราแล้ว ทุเรียนจากไห่หนานของจีนเองก็กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเช่นกัน 

สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในเมืองเซี่ยเหมินของจีนระบุว่า จีนสามารถผลิตทุเรียนที่มณฑลไห่หนาน หรือไหหลำได้แล้ว ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมทุเรียนของจีน และผู้ส่งออกไทยควรมองหาช่องทางปรับปรุงคุณภาพและความสดใหม่ของทุเรียนไทยเพื่อรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกทุเรียนเบอร์ต้นๆ ทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก 

รายงานจากสำนักข่าว China News Service ของจีนระบุว่า จีนปลูกทุเรียนอย่างกว้างขวางในพื้นที่เมืองซันย่าและเมืองยี่ไฉในไห่หนาน โดยทุเรียนเติบโตได้ดีมีขนาดเท่าลูกวอลเลย์บอล คาดว่าผลผลิตล็อตแรกจากไห่หนานจะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ และในปีนี้มีต้นทุเรียนเริ่มออกผลราว 500 ต้น 

พื้นที่ไห่หนานเริ่มปลูกทุเรียนเมื่อราว 4 ปีที่แล้ว และปีนี้เป็นปีแรกที่ต้นทุเรียนจะออกผล โดยต้นทุเรียนอายุ 4 ปีจะให้ผลราว 19 ลูกต่อต้น แต่ละลูกหนักราว 2 กิโลกรัม ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของไห่หนานจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้สูงสุดในเดือนกรกฎาคม

rise-of-hainan-durian-wake-up-call-for-thai-growers-and-exporters-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Facebook/This Is Hainan

จากการคาดการณ์พบว่าไห่หนานมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 41,250 ไร่ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดีการปลูกทุเรียนของไห่หนานยังต้องเผชิญความท้าทาย อาทิ กำลังการผลิตที่จำกัด และสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน รวมทั้งไต้ฝุ่น กิ่งก้านทุเรียนที่เปราะบางทำให้ต้านทานลมแรงได้ยาก 

แม้ว่าการปลูกทุเรียนที่ไห่หนานจะประสบความสำเร็จ แต่ภูมิประเทศที่นั่นยังไม่เหมาะกับทุเรียนที่ชอบอากาศราว 25-30 องศาเซลเซียส 

ทุเรียนไห่หนานข้าสู่ตลาดจีนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 เดือน คือออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยสนนราคาอยู่ที่ 60 หยวน (303 บาท) ต่อ 0.5 กิโลกรัม และเนื่องจากพื้นที่ปลูกยังมีจำกัดทำให้ผลผลิตออกมาน้อน ราคาจึงค่อนข้างสูง 

“เมื่อจีนสามารถผลิตทุเรียนไห่หนานได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในอุตสาหกรรมทุเรียน อย่างไรก็ดีทุเรียนไห่หนานจะไม่กระทบกับการนำเข้าทุเรียนจากไทย เนื่องจากยังมีปริมาณจำกัด แต่ถึงอย่างนั้นไทยก็ไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากตลาดทุเรียนไทยอาจเผชิญการแข่งขันจากทุเรียนไห่หนานที่กำลังเติบโตและได้รับการยอมรับ” 

ทว่าหากพูดถึงเรื่องรสชาติน่าจะไม่น่าห่วง เพราะมีการพูดกันว่าทุเรียนไห่หนานรสชาติค่อนข้างอ่อน ส่วนเนื้อสัมผัสขาดความครีมมี่ ส่วนเนื้อบางครั้งเหมือนกล้วยที่ยังไม่สุก ที่คนส่วนใหญ่พูดถึงคือ “เกือบจะไม่มีรสชาติเลย” และที่คนที่ได้ลองชิมบรรยายสรรพคุณไว้ตรงกันคือ “แห้ง แข็ง ไม่มีรสชาติ” 

ข้อมูลของ Global Trade Atlas ระบุว่า ปัจจุบันจีนนำเข้าทุเรียนสดจาก 3 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์  

ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยมากที่สุดที่ 121,398 ตัน มูลค่า 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,328 ล้านบาท) คิดเป็น 65.6% ของส่วนแบ่งตลาด ลดลงมา 48.7% ส่วนเวียดนามเป็นอันดับ 2 ที่ 79,186 ตัน มูลค่า 369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว  13,551.34 ล้านบาท) คิดเป็น 33.8% เพิ่มขึ้น82.9% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 1,778 ตัน มูลค่า 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 213 ล้านบาท) มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 0.5%   

Photo by Facebook/This Is Hainan

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์