ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเยือนเกาหลีเหนือในวันนี้ (19 มิ.ย.) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศและเพื่อกระชับสัมพันธ์กับ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ รวมไปถึงความต้องการของรัสเซียในการจัดหาอาวุธจากเกาหลีเหนือเพื่อใช้ต่อสู้ในสงครามกับยูเครน
SPACEBAR พาย้อนดูว่าที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศให้ความช่วยเหลืออะไรกันบ้าง...
รัสเซียช่วยเกาหลีเหนืออย่างไรบ้าง?

มีรายงานว่านอกจากจีนที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของเกาหลีเหนือ และเป็นพันธมิตรทางการทูตที่เชื่อถือได้มากที่สุดแล้ว เกาหลีเหนือก็ยังมีทั้งรัสเซียและจีนด้วยที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเกาหลีเหนือหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ อ้างว่ารัสเซียได้จัดส่งปิโตรเลียมที่กลั่นแล้วไปยังเกาหลีเหนือในปริมาณที่มีรายงานว่า ‘เกินขีดจำกัดที่กำหนด’ โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
จอห์น เคอร์บี โฆษกความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวกล่าวว่า “การที่ท่าเรือพาณิชย์ของทั้งสองประเทศอยู่ใกล้กัน ส่งผลให้การจัดหาน้ำมันดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด การปิดชายแดนที่เกิดขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความสามารถในการค้าขายของเกาหลีเหนือลดลงอย่างมาก และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางของประเทศ”
เชื่อกันว่าคิมจองอึนมีเสบียงอาหารและพลังงานจากรัสเซียเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลน
ข้อแลกเปลี่ยนระหว่าง ‘เกาหลีเหนือ’ และ ‘รัสเซีย’

เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก แต่ก็มีสินค้าอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมมิตรภาพระหว่างปูตินและคิมจองอึน นั่นก็คือ ‘ยุทโธปกรณ์ทางทหาร’
หลังจากพวกเขาพบกันที่เมืองวลาดิวอสต็อกเมื่อ 9 เดือนก่อน มีรายงานว่าผู้นำทั้งสองได้ทำข้อตกลงโดยรัสเซียจะต้องแบ่งปันความรู้ทางเทคโนโลยีช่วยเหลือโครงการอวกาศของเกาหลีเหนือเพื่อแลกกับอาวุธยุทโธปกรณ์และอาวุธที่ใช้ในยูเครน
แม้ว่ารัสเซียจะบอกว่ารายงานข้อตกลงด้านอาวุธดังกล่าวนั้น ‘ไร้สาระ’ แต่ก็มีหลักฐานว่า รัสเซียใช้ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในยูเครน “เกาหลีใต้ระบุว่าตู้คอนเทนเนอร์อย่างน้อย 10,000 ตู้ที่ส่งจากทางเกาหลีเหนือไปยังรัสเซีย ซึ่งเชื่อกันว่าบรรจุกระสุนปืนใหญ่และอาวุธอื่นๆ” ชินวอนซิก รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg
นอกจากอาวุธแล้ว เกาหลีเหนือยังมีอุตสาหกรรมส่งออกในด้านทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ คนงานถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อหาเงินตราต่างประเทศ และทางรัสเซียเองก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นอะไร ขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียได้หารือเกี่ยวกับการจ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือ 20,000-50,000 คน ซึ่งขัดต่อคำสั่งของสหประชาชาติที่กำหนดให้คนงานทั้งหมดถูกส่งตัวกลับประเทศภายในสิ้นปี 2009
มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่การเยือนครั้งล่าสุดของปูติน?
หลังจากปูตินเยือนเปียงยางครั้งสุดท้ายในปี 2000 รัสเซียซึ่งตอนนั้นเป็นสมาชิกของกลุ่ม G8 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก) ส่วนเกาหลีเหนือซึ่งในขณะนั้นปกครองโดย คิมจองอิล พ่อของคิมจองอึน
24 ผ่านไป แน่นอนว่าบรรยากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกันจนจำไม่ได้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกาหลีเหนือได้รับแรงหนุนจากปูตินและคิมจองอึนเองก็มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนเกาหลีเหนือให้กลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างแท้จริงมาโดยตลอดด้วยการทดสอบยิงขีปนาวุธมาตั้งแต่ปี 2006
ตลอดจนสงครามครั้งใหญ่ของรัสเซียในการรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ไหนจะการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ทำลายสถิติในปีเดียวกันนั้น ซึ่งนั่นส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศยิ่งแยกตัวออกจากกลุ่มนานาประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน มันกลับขับเคลื่อนให้ทั้งปูตินและคิมจองอึนร่วมมือกันท้าทายสหรัฐฯ ที่เป็น ‘ศัตรู’ และพันธมิตรสหรัฐฯ ในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
แน่นอนว่าการพบปะครั้งล่าสุดของปูตินและคิมจองอึนนั้นมีความสำคัญสำหรับพวกเขาทั้งคู่ และส่งสัญญาณให้โลกได้เห็นถึงพันธมิตรอันแน่นแฟ้นที่ทั้ง 2 ประเทศมีให้กัน