ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเฝ้าดู “หมูเด้ง” ดีดดิ้นโชว์ความซุกซนกลายเป็นความสุขของใครหลายๆ คน จนล่าสุดทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียวทำไลฟ์สตรีมเอาใจแฟนคลับให้ได้ดูกันตลอด 24 ชั่วโมง บางคนดูไปยิ้มไปจนเพลินไถดูคลิปไปหลายนาที
แต่บอกเลยว่านี่ไม่ใช่เรื่องเสียเวลาเปล่าแน่นอน เพราะมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า การได้ดูคลิปสัตว์น่ารักๆ แบบนี้ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มหาวิทยาลัยลีดส์ในสหราชอาณาจักร และการท่องเที่ยวเวสเทิร์นออสเตรเลียร่วมกันศึกษาวิจัยว่าการดูภาพหรือคลิปสัตว์น่ารักๆ ส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และความวิตกกังวลอย่างไร โดยให้ผู้เข้าร่วม 19 คน (15 คนเป็นนักศึกษาที่กำลังจะเข้าห้องสอบในอีก 1 ชั่วโมงครึ่งหลังการวิจัยนี้ และอีก 4 คนเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนด้านวิชากรซึ่งระบุว่าพวกเขารู้สึกเครียดในการทำงาน) นั่งดูคลิปลูกแมว ลูกสุนัข ลูกกอริลลา และตัวควอกกาของออสเตรเลียที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นเวลา 30 นาที

ทีมวิจัยตั้งใจเลือกทำการวิจัยกับผู้เข้าร่วมในช่วงการสอบในฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงเวลาที่ความเครียดอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาแพทย์
ทีมวิจัยตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมทุกคนทั้งก่อนและหลังการวิจัยเพื่อวัดผลกระทบด้านร่างกาย และให้ทำแบบประเมินความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในขณะนั้น (state-trait anxiety inventory) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านจิตใจ
ผลปรากฏว่า ความดันโลหิตเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมลดลงจาก 136/88 เหลือ 115/71 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอยู่ในช่วงความดันโลหิตที่เหมาะสมทางการแพทย์ ขณะที่อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยลดลง 6.5% มาอยู่ที่ 67.4 ครั้งต่อนาที โดยอัตราการเต้นของหัวใจผู้เข้าร่วมรายหนึ่งลดลงถึง 24.4% จาก 90 ครั้งต่อนาทีเหลือ 68 ครั้งต่อนาที ส่วนระดับความวิตกกังวลลดลงเฉลี่ย 35% โดยความวิตกกังวลของผู้เข้าร่วมบางคนลดลงเกือบ 50%
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังบอกว่าการวิจัยนี้ “ผ่อนคลาย” และ “สนุกสนาน” จนลืมเรื่องการสอบไปเลย
อันเดรีย อุทลีย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยลีดส์เผยว่า “ตลอดระยะเวลาวิจัย อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมทุกคนลดลงมาอยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ และมีความเครียดและวิตกกังวลดลง...ชัดเจนว่านักศึกษาจะเครียดก่อนการสอบ อัตราการเต้าของหัวใจและความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สูงขึ้นก่อนการวิจัยของเราจะเริ่ม และในบางคนยังสูงกว่านั้นอีก ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับความเครียดที่สูงขึ้นของผู้เข้าร่วมเหล่านั้น”
ปรากฏกการณ์นี้อาจเรียกว่าเป็น “baby schema” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ลักษณะที่บอกถึงความน่ารัก โดยมนุษย์มักจะถูกดึงดูดโดยสิ่งมีชีวิตที่ศีรษะใหญ่ มีตากลมโตอยู่ใกล้ๆ กับจุดศูนย์กลางของใบหน้า แก้มยุ้ย และหน้าผากใหญ่ เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์จะต้องดูแลปกป้องเด็กน้อย โดยที่ความรู้สึกเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับลูกสัตว์ด้วย
นอกจากนี้ การศึกษาของ ฮิโรชิ นิตโตะโนะ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นยังพบว่า ผู้เข้าร่วมที่ดูภาพลูกสุนัข วิดีโอ Grumpy Cat หรือดูกล้องแพนด้าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะและสมาธิ เพราะการดูวิดีโอสัตว์ช่วยให้โฟกัสของเราแคบลง จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น
โอลาฟ ครีโอลสัน นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียเผยว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีความสุขระเบิดออกมาในระยะสั้น ซึ่งทำให้กระบวนการที่สมองใช้ในการรับข้อมูลและตัดสินใจดีขึ้นในระยะสั้น การมองสิ่งที่น่ารักกระตุ้นสมองส่วนอะมิกดาลา (สมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์) และพื้นที่ส่วนอื่นของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ซึ่งเพิ่มกระบวนการคิดอื่นๆ”
ภาพน่ารักๆ ทำให้โดปามีนหลั่งออกมาในสมองในลักษณะเดียวกับระบบการให้ความรู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุขที่กระตุ้นโดยยาเสพติดอย่างโคเคน ทำให้เกิดความต้องการที่จะได้สิ่งนั้นอีก โดยที่เราก็รู้ตัวด้วยว่าเราต้องการ นอกจากนี้ ภาพสัตว์ยังกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์ โดยปล่อยฮอร์โมนอย่างออกซิโทซิน หรือฮอร์โมนแห่งความรัก ที่ทำให้เกิดสายใยความผูกพันจากการให้นมบุตร การกอด หรือการมีเซ็กซ์
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP