ข้าวลูกผสม! นักวิทย์ปลูกเซลล์เนื้อในเมล็ดข้าวครั้งแรกชี้เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี

15 ก.พ. 2567 - 07:00

  •  ข้าวลูกผสมนี้จะมีโปรตีนมากกว่าข้าวปกติ 8% และไขมันมากกว่า 7%

scientists-grow-beef-cells-in-rice-for-first-time-SPACEBAR-Hero.jpg

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากเกาหลีใต้คิดค้นข้าวลูกผสมที่จะให้ทั้งโปรตีนและลดการปล่อยคาร์บอนไปพร้อมๆ กัน ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อวัวลงในเมล็ดข้าวเป็นครั้งแรก เพื่อให้ได้ “อาหารลูกผสม” ที่เต็มไปด้วยสารอาหารและรสชาติดี ทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ทุกคนเอื้อมถึง 

ทีมวิจัยเผยว่าข้าวลูกผสมนี้จะมีโปรตีนมากกว่าข้าวปกติ 8% และไขมันมากกว่า 7% โดยทุกๆ 100 กรัมของโปรตีนที่ผลิตได้ ข้าวลูกผสมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 6.27 กิโลกรัม ในขณะที่เนื้อวัวปล่อยมากกว่า 8 เท่าซึ่งอยู่ที่ 49.89 กิโลกรัม  

ทีมวิจัยมีแผนจำหน่ายข้าวลูกผสมนี้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต สนนราคากิโลกรัมละประมาณ 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ (80.56 บาท) ขณะที่เนื้อวัวแพงกว่า 6 เท่า โดยมีราคาราว 14.88 ดอลลาร์สหรัฐ (537 บาท)  

พัคโซฮยอน จากมหาวิทยาลัยยอนเซย์ในเกาหลีใต้เผยว่า “ปกติเรามักจะได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่การผลิตเนื้อสัตว์ต้องใช้ทรัพยากรมากมายรวมทั้งน้ำ ทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ลองจินตนาการถึงการได้รับสารอาหารทั้งหมดที่เราต้องการจากข้าวโปรตีนเพาะเลี้ยงดูสิ ข้าวอุดมไปด้วยสารอาหารอยู่แล้ว แต่การเพิ่มเซลล์จากปศุสัตว์ช่วยเพิ่มสารอาหารได้อีก”

พัคยังเผยอีกว่า “ฉันไม่ได้คาดหวังว่าเซลล์จะเติบโตได้ดีในข้าว แต่ตอนนี้ฉันเห็นโลกของความแป็นไปได้สำหรับอาหารลูกผสมที่ได้จากเมล็ดข้าวนี้ วันหนึ่งมันอาจถูกใช้เป็นอาหารบรรเทาความอดอยาก อาหารทางทหาร หรือแม้แต่อาหารในอวกาศได้”

scientists-grow-beef-cells-in-rice-for-first-time-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Yonsei University

ส่วนขั้นตอนการทำข้าวลูกผสมนั้น ทีมวิจัยเริ่มด้วยการเคลือบเมล็ดข้าวด้วยเจลาตินจากปลา เพื่อให้เซลล์เนื้อวัวยึดเกาะได้ง่าย จากนั้นใส่กล้ามเนื้อของวัวและสเต็มเซลล์จากไขมันลงในเมล็ดข้าว แล้วเพาะเลี้ยงในจานเพาะเชื้อ 11 วัน 

ทีมวิจัยระบุว่า ข้าวลูกผสมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ผ่านข้อกำหนดความปลอดภัยทางอาหารและมีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นอาการแพ้อาหารต่ำ 

หลังจากนี้ทีมนักวิจัยมีแผนจะพิ่มคุณค่าทางอาหารให้กับข้าวลูกผสมนี้ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมในเมล็ดข้าวให้ดีขึ้นเพื่อให้เหมาะสำหรับการเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน 

นีล วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารทางการเกษตรและศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาชนบทและภูมิภาคจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียพูดถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีความสนใจพัฒนาทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้ชี้แนะถึงความเป็นไปได้ของข้าวลูกผสมที่มีสารอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงเกือบ 8 เท่า และยังราคาถูกกว่า 6 เท่า” 

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Matter

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์