‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ บนเส้นทางของการต่อสู้เรื่อง ‘ที่ดิน’ ผ่านมุมมองสื่ออังกฤษ

27 มิ.ย. 2566 - 07:22

  • ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทย-จีน ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน บัดนี้ ได้ถูกล้อมรอบไปด้วยโครงการก่อสร้างมากมาย พร้อมกับคดีความในศาล

  • อ่านเรื่องราวศาลเจ้าแม่ทับทิม ในมุมมองของสื่ออังกฤษ The Guardain

shrine-holding-out-against-gentrification-of-bangkok-SPACEBAR-Hero
‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ เป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรุงเทพฯ ซึ่งบริเวณด้านในของศาลล้อมรอบไปด้วยงานแกะสลักสีทองอร่าม มีรูปปั้นเทพธิดาซึ่งเป็นที่เคารพบูชาเป็นพิเศษในหมู่ชุมชนชาวจีนจำนวนมาก รวมทั้งครอบครัวที่มีถิ่นฐานในประเทศไทย  

กลับกันที่ทางเข้าศาลที่เดิมประดับประดาไปด้วยโคมไฟสีแดงและสีทอง ในตอนนี้เต็มไปด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และบล็อกคอนกรีตสีเทาที่ติดตั้งนั่งร้าน ผ้าใบกันน้ำ อุปกรณ์และเครื่องมือก่อสร้าง มีการแยกไซต์ก่อสร้างกับศาลเจ้าออกจากกันเพียงรั้วเมทัลชีทเท่านั้น ซึ่งรั้วนี้ก็มีโอกาสที่จะถูกรื้อถอนออกเพื่อดำเนินการก่อสร้าง 

The Guardian สื่อของอังกฤษได้เขียนถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่หายากของอาคารเก่าแก่ที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงเมื่อเผชิญกับพื้นที่ที่แผ่ขยายไปทั่วพื้นที่ของกรุงเทพฯ เมืองที่ครอบงำมากขึ้นด้วยห้างสรรพสินค้าหรูหรา อาคารสำนักงานกระจกแวววาว และแฟลตสูงระฟ้า อีกทั้งศาลเจ้าแห่งนี้ ยังมีเรื่องของการต่อสู้ทางกฎหมายที่ดุเดือดระหว่างชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ PMCU ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 1,150 ไร่ ในใจกลางเมืองหลวง รวมถึงพื้นที่ที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ 

นักรณรงค์ กล่าวว่า PMCU กำลังหาทางขับไล่ผู้ดูแลศาลเจ้า นก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย และเรียกร้องค่าเสียหาย 122 ล้านบาท โดยการตัดสินมีกำหนดในวันที่ 31 สิงหาคมนี้  

“เราต้องต่อสู้ไม่เพียงแต่เพื่อศาลเจ้าเท่านั้น แต่เพื่อประชาชนด้วย” เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ นักศึกษาที่ช่วยรณรงค์กล่าว โดยเขายังเป็นโปรดิวเซอร์ของสารคดีเรื่อง The Last Breath of SamYan ที่เพิ่งผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้  ซึ่งมีรายละเอียดของการต่อสู้ของพวกเขา พร้อมกล่าวเสริมว่า คดีนี้ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการแบ่งแยกพื้นที่ในเมือง โดยผู้อยู่อาศัยในเมืองจะถูกคิดราคาด้วยการขึ้นค่าเช่า  

“คนส่วนใหญ่ในโลกคิดว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะทำลายล้างอารยธรรมของมนุษย์ แต่ผมจะบอกว่าการแบ่งพื้นที่ต่างหากที่จะทำลายอารยธรรมของผู้คน ซึ่งมันจะไม่มีเอกลักษณ์ของชุมชนอีกต่อไป” เสฏฐนันท์กล่าว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5tbNHUCkICoUyzjzgxVHdY/0ea6b98e7b4c20ebf4a495b97d12cda0/shrine-holding-out-against-gentrification-of-bangkok-SPACEBAR-Photo01
Photo: Manan VATSYAYANA
PMCU กล่าวว่า การฟื้นฟูพื้นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการระบุว่า ได้สร้างศาลเจ้าใหม่แทนที่ศาลเจ้าปัจจุบันแล้วในพื้นที่สวนจุฬา 100 ปี ที่ล้อมรอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถในร่ม ห้องน้ำ ใกล้ชุมชน และ อาหารอร่อยหลากหลาย 

อย่างไรก็ตาม เพ็ญประภา ผู้ดูแลศาลเจ้าแห่งนี้ กล่าวว่า ศาลเจ้าหลังใหม่นี้ไม่ได้ออกแบบตามธรรมเนียมปฏิบัติ และเธอตั้งใจแน่วแน่ว่ารักษาประเพณีที่สืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่นจากครอบครัวของสามีผู้ล่วงลับ  

สำหรับหลายๆ คน ศาลเจ้ามีความเกี่ยวพันกับประวัติครอบครัว วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน วัย 74 ปี กล่าวว่า ป้าทวดของเขาเดินไปที่นั่นทุกวันเพื่อสักการะเจ้าแม่ 

วิโรจน์กล่าวเสริมว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้คนมาหลบภัยในศาลเจ้า ประวัติของศาลเจ้ามีอายุย้อนกลับไปประมาณหนึ่งศตวรรษ แม้ว่าจะมีการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วหลังจากเกิดไฟไหม้ ‘นี่คือประวัติศาสตร์ ชีวิต บันทึกทางประวัติศาสตร์’ 

พื้นที่โดยรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นแต่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวจีน และเป็นที่รู้จักในด้านร้านค้าช่างและกลายเป็นที่รู้จักในด้านของแหล่งอาหาร  

“ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่เดินขวักไขว่มาที่ร้านอาหาร แต่การเปิดห้างสรรพสินค้าทำให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น และนอกจากค่าเช่าที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ร้านอาหารหลายแห่งไม่สามารถดำรงอยู่ได้" อดีตเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวในพื้นที่กล่าวพร้อมบอกด้วยว่า เขาเองก็ไม่แน่ใจว่าร้านอาหารของครอบครัวจะอยู่ในพื้นที่นี้ได้อีกนานแค่ไหน  

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แสดงในสารคดี Last Breath of SamYan กล่าวว่า กรณีของศาลเจ้าแม่ทับทิมในบางแง่มุมสะท้อนถึงรูปแบบของพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่ง คนจะรู้ว่าเขาเป็นใคร ที่ไปซื้อทรัพย์สินจนที่ดินชั้นดีในกรุงเทพฯ ตกเป็นของเจ้าของจริงๆ น้อยมาก เช่นเดียวกันกับชุมชนเก่าแก่ที่ถูกกวาดล้าง มีห้างสรรพสินค้าถูกสร้างขึ้น คอนโดหรูถูกสร้างขึ้น 

‘แต่กรณีของศาลเจ้าแม่ทับทิมได้รับความสนใจเพราะเจ้าของบ้านในคดีนี้เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งควรปกป้องมรดกชิ้นนี้’ วาสนากล่าวพร้อมบอกว่า และเพราะเป็น ‘นักศึกษา’ ที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ กลายเป็นว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นในหมู่ของนักศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดก และสืบค้นประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติในปี 1932 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  

แหล่งข่าวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตน ระบุว่า มหาวิทยาลัยต้องการย้ายศาลเจ้าเพื่อให้ใกล้ชิดกับสมาชิกในชุมชน มหาวิทยาลัยได้เสนอที่จะขุดและย้ายโครงสร้าง แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธ  

“จากมุมมองของมหาวิทยาลัย เพียงต้องการที่จะบรรเทาความขัดแย้งนี้” แหล่งข่าวกล่าวพร้อมเสริมว่า ได้มีการสร้างศาลเจ้าใหม่และที่อยู่อาศัยให้กับผู้ดูแลแล้ว 

ด้าน เพ็ญประภา กล่าวว่า ศาลเจ้าหลังใหม่นี้ไม่ได้ออกแบบอย่างถูกวิธี และไม่มีที่ให้เธออยู่ในฐานะผู้ดูแล ซึ่งเธอเองก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ของเธอ รวมถึงต้องคอยจุดตะเกียงให้กับผู้ที่มาเยือน ทุกศาลเจ้าต้องมีผู้ดูแล อย่างน้อยก็หนึ่งคน อย่างไรก็ตาม เธอเองก็ยืนยันว่าจะต้องต่อสู้จนถึงที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์