จากกรณีรัฐบาลไทยเตรียมดึงต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์จนเกิดความกังวลว่าคอนโดจะตกไปอยู่ในมือชาวต่างชาติจนคนไทยไม่มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
ความกังวลของคนไทยเคยเกิดขึ้นในสิงคโปร์มาแล้ว การกว้านซื้อคอนโดของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นปัญหาในสิงคโปร์จนร้อนถึงรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการเพื่อลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้นสวนทางที่อื่นๆ อาทิ ลอนดอน นิวยอร์ก ซึ่งราคาที่อยู่อาศัยลดลงอันเนื่องมาจากการขึ้นดอกเบี้ย
ข้อมูลของรัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า ราคาบ้านในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น10.6% ในปี 2021 ปีต่อมาขยับขึ้นอีก 8.6% โดยผู้ชื้อชาวจีนมีสัดส่วน 25% ของผู้ซื้อคอนโดชาวต่างชาติทั้งหมดในสิงคโปร์ในปี 2022
เดือนเมษายนปีที่แล้วรัฐบาลสิงคโปร์จึงออกมาตรการภาษีมาลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์และการซื้อของชาวต่างชาติ ด้วยการเพิ่มภาษีอากรแสตมป์เพิ่มเติม (ABSD) เป็นสองเท่าตัวจาก 30% เป็น 60% สำหรับชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่สูงที่สุดในโลก
ขณะที่ชาวสิงคโปร์ไม่ต้องจ่าย ABSD สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ครั้งแรก และต้องจ่าย 20% สำหรับการซื้อหลังที่สอง ชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรจ่าย 5% สำหรับบ้านหลังแรก และ 30% สำหรับหลังที่สอง
มาตรการลดความร้อนแรงของราคานี้นับเป็นครั้งที่สองที่มีการเพิ่มภาษี ABSD ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากเพิ่มจาก 20% เป็น 30% เมื่อเดือนธันวาคม 2021 ทว่า แม้ ABSD จะขยับมาอยู่ที่ 30% แต่สัดส่วนผู้ซื้อชาวต่างชาติก็ยังเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023
ไตรมาสแรกของปี 2023 อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมือง ผู้ซื้อชาวต่างชาติต้องจ่ายเงินมากกว่าผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ 14% ต่อตารางฟุต และมากกว่าผู้ซื้อที่มีถื่นที่อยู่ถาวร 16% ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมือง ผู้ซื้อชาวต่างชาติต้องจ่ายเงินมากกว่าผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ 7% และมากกว่าผู้ซื้อที่มีถื่นที่อยู่ถาวร 10%
เดสมอนด์ ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาชาติของสิงคโปร์ระบุว่าการเพิ่มภาษี ABSD เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อ “ตัดไฟแต่ต้นลม” เพื่อลดความต้องการการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในช่วงที่ดอกเบี้ยพุ่งขึ้น และว่า ชาวสิงคโปร์ที่จ่ายค่าอากรแสตมป์เพียงเล็กน้อยในการซื้อบ้านจะต้องมาก่อน
Bloomberg ระบุว่า หากชาวต่างชาติต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคา 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสิงคโปร์ พวกเขาต้องจ่ายภาษี 65% หรือราว 3.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เมืองหลักที่เป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ เมืองอื่นเรียกเก็บภาษีน้อยกว่ามาก อาทิ แวนคูเวอร์และฮ่องกง ชาวต่างชาติต้องจ่ายภาษี 29%, ลอนดอน เมลเบิร์น และซิดนีย์ 14% ส่วนในนิวยอร์กภาษีค่อนข้างต่ำคืออยู่ที่ 4.3%

หลังรัฐบาลประกาศมาตรการนี้ก็มีทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
Citigroup ถึงกับระบุว่าการเพิ่ม ABSD เป็นมาตรการที่ “โหด” และว่าจะส่งผลในแง่ลบชั่วคราวกับผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย
ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์หลายคนมองว่า มาตรการนี้อาจไม่ได้กระทบกับคนที่กระเป๋าหนักทันที อาทิ ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์หรูที่มีลูกค้าเป็นชาวจีนรายหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อเผยว่า “ผมไม่แน่ใจว่ามาตรการนี้จะกระทบกับผู้ซื้อระดับบนสุด โดยเฉพาะกลุ่มคนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวันที่กลายเป็นผู้มีถิ่นอาศัยถาวรแล้ว” และคริสตีน ซุน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและปรึกษาของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ OrangeTee & Tie เผยว่า “ฉันแปลกใจมาก มันเหมือนการแช่แข็งมากกว่าการลดความร้อนแรง”
โล เกีย เหมิง จาก Dentons Rodyk มองว่า ชาวต่างชาติที่กระเป๋าหนักอาจตัดสินใจเช่าก่อน ระหว่างนั้นก็ทำเรื่องขอเป็นผู้มีถิ่นอาศัยถาวร พอได้แล้วค่อยซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อยกว่า
ส่วนอิสมาอิล กาฟูร์ ซีอีโอของ PropNex เผยว่า ชาวต่างชาติอาจทบทวนการซื้อที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์อย่างจริงจัง เพราะพวกเขามีตัวเลือกอื่นในอีกหลายเมืองทั่วโลก “ชาวต่างชาติที่ซื้อบ้าน 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ที่นี่ตอนนี้ต้องจ่ายภาษี ABSD 12 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเงินจำนวนนี้พวกเขาสามารถซื้อบ้านหรู ในมืองที่น่าอยู่อย่างเมลเบิร์น ลอนดอนได้สบายๆ”
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเขตเมืองของ Savills Singapore พบว่า มาตรการเพิ่มภาษีครั้งล่าสุดนี้สามารถลดความต้องการของชาวต่างชาติได้ โดยในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วชาวต่างชาติซื้ออพาร์ตเมนต์เพียง 57 ห้อง ลดลงจากเดือนเมษายน 50%
Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP