แจกทั่วอาเซียน! สิงคโปร์-ไทย-อินโดฯ ตบเท้าแจกเงินประชาชนแก้วิกฤตเงินเฟ้อ

19 ก.พ. 2567 - 07:45

  • สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ต่างเข็นมาตรการแจกเงินสดออกมาสู้วิกฤตค่าครองชีพแพง

  • หลายประเทศแจกเงินควบคู่ไปกับการเพิ่มภาษี อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย

singapore-thailand-and-hand-out-cash-to-ease-inflation-pain-SPACEBAR-Hero.jpg

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า หลายประเทศในอาเซียนแจกเงินประชาชนเพิ่มโดยตรงไปยังครัวเรือนต่างๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเงินเฟ้อ แม้ว่าจะยังมีคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อการคลังที่ตึงตัวอยู่แล้ว 

การประกาศงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ของสิงคโปร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ก.พ.) ระบุว่าจะแจกคูปองช็อปปิงให้ชาวสิงคโปร์ครัวเรือนละ 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ (16,027 บาท) โดยจะแจก 2 รอบคือเดือน มิ.ย.และ ม.ค.ปีหน้า หลังจากเพิ่งแจกคูปอง 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (13,355 บาท) ไปเมื่อเดือนที่แล้ว 

ลอเรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์เน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นระหว่างการแถลงงบประมาณว่า “ในงบประมาณนี้ผมจะสนับสนุนครัวเรือนมากขึ้น” 

การแจกคูปองครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาชน เนื่องจากชาวสิงคโปร์เริ่มได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง 

สำนักงานสถิติสิงคโปร์ระบุว่า ราคาอาหารตามศูนย์อาหารและร้านอาหารริมทางในสิงคโปร์ทะยานขึ้น 15% ระหว่างปี 2019-2023 และการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่าราคาข้าวมันไก่ขยับขึ้นราว 20% ภายใน 2 ปี 

เจ้าหน้าที่เทคนิครายหนึ่งเผยว่า “ค่าครองชีพในสิงคโปร์เริ่มสูงเกินไปแล้ว” 

นอกจากสิงคโปร์ยังมีประเทศอื่นๆ ที่เลือกแจกเงินเช่นกัน 

รัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ของไทยมีแผนใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาทเพื่อแจกเงินดิจิทัลวอลล็ต 10,000 บาทให้คนไทยทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปที่เข้าเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด นับเป็นโครงการแจกเงินครั้งใหญ่และใช้งบประมาณมากที่สุดจนถึงขณะนี้ 

ส่วนมาเลเซียก็ขยายการแจกเงินสดให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อยจาก 8,000 ล้านริงกิต (60,208 ล้านบาท) เมื่อปี 2023 เป็น 10,000 ล้านริงกิต (75,113 ล้านบาท) ในปีนี้ ฟิลิปปินส์จะแจกเงิน 5,000 เปโซ (3,202 บาท) ให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 23,000 เปโซ 

Nikkei Asia รายงานว่า สำหรับนักการเมือง มาตรการลักษณะนี้สามารถใช้เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง หรือช่วยหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการเมือง อย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของไทยก็ถูกชูเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว 

ในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ประกาศแจกเงินเดือนละ 200,000 รูเปียห์ (459 บาท) ให้ครอบครัวที่มี่รายได้น้อย ประกาศนี้ออกมาก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลมีเจตนาหนุนการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของ ปราโบโว สุเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เพิ่งคว้าชัย 

เมื่อภาวะเงินเฟ้อของหลายประเทศในอาเซียนเริ่มคลี่คลาย จึงเกิดคำถามตามมาว่าการแจกเงินสดโดยตรงเช่นนี้จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเผยกับสำนักข่าว Reuters เมื่อเดือน ม.ค.ว่า การกระตุ้นการเติบโตระยะยาว “ไม่ใช่แค่การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น”

บางรัฐบาลพยายามหาทางจำกัดจำนวนคนที่จะได้รับงินช่วยเหลือเหล่านี้เพื่อให้ใช้งบประมาณน้อยลง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมาตรการเหล่านี้ก็ยังเป็นภาระของการคลังอยู่ดี 

มาโกโตะ ไซโตะ จาก NLI Research Institute สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเงินของญี่ปุ่นเผยว่า การแจกเงินของไทย “น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่จะกระทบต่อสุขภาพการคลัง”

หลายประเทศในอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินหลังต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 การแจกเงินของสิงคโปร์และมาเลเซียมาพร้อมกับการขึ้นภาษี โดยสิงคโปร์เพิ่มภาษีสินค้าและบริการจาก 8% เป็น 9% เมื่อเดือน ม.ค. ส่วนมาเลเซียมีแผนจะเพิ่มภาษีบริการจาก 6% เป็น 8% ในปีนี้ 

Photo by AFP / Jack TAYLOR

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์