หลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ วันแรกเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ก็กลายเป็นที่จับตามองไปทุกอย่าง ทุกความเคลื่อนไหวที่ทรัมป์ทำโดยเฉพาะคำสั่งบริหารที่เขาลงนามไปซึ่งไม่รู้ว่าแต่ละฉบับจะดำเนินการต่อไปได้ไหม หรืออาจต้องเจออุปสรรคมากมายจนต้องยกเลิก
และนี่คือ ‘6 คำสั่งบริหาร’ ที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดถึงความเป็นไปได้ว่าจะดำเนินการต่อได้หรือไม่
1. ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ / เป็นไปได้

คำสั่งบริหารระบุว่าข้อตกลงปารีสไม่ได้สะท้อนถึงค่านิยมของประเทศ หรือเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยคำสั่งดังกล่าวขอให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติยื่นคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการเพื่อถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ‘ทันที’
-มีอุปสรรคอะไรบ้าง?-
ประเทศใดๆ ก็สามารถถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยสภาพอากาศโลกได้ แต่กฎระเบียบของสหประชาชาติระบุว่า กระบวนการถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวอาจยืดเยื้อ
ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์ประกาศว่าเขาตั้งใจที่จะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงเมื่อปี 2017 แต่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี 2020 ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็กลับมาเข้าร่วมอีกครั้งไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่งในปี 2021
-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น-
สหรัฐฯ มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 11% ของโลก ทำให้เป็นประเทศผู้ก่อมลพิษมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความพยายามทั่วโลกในการจำกัดการปล่อยก๊าซ
การถอนตัวในอดีตก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความไว้วางใจต่อผู้นำด้านสภาพอากาศ และเกิดคำถามตามมาว่าข้อตกลงนั้นมีประสิทธิผลหรือไม่
การถอนตัวดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายของทรัมป์ในการส่งเสริมการผลิตน้ำมันและก๊าซในประเทศ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่แล้วก็ตาม ถือเป็นการกลับลำของทรัมป์หลายประการในการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลของไบเดน
2. การยุติสิทธิพลเมืองโดยกำเนิด / เป็นไปได้ยากมาก

คำสั่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติสิทธิการเป็นพลเมืองโดยกำเนิดสำหรับเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ จากพ่อแม่ที่อพยพมาอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว
มีรายงานว่าฝ่ายบริหารจะบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวโดยการยึดเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือเดินทาง จากบุคคลที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าไม่มีสิทธิได้รับสัญชาติ
-มีอุปสรรคอะไรบ้าง?-
หลักการเป็นพลเมืองโดยกำเนิดถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ระบุว่า “บุคคลทุกคนที่เกิด หรือผ่านการเข้าเมืองในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา”
การท้าทายทางกฎหมายกำลังเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งมีผู้อ้างว่าคำสั่งนี้ ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อค่านิยมพื้นฐานของอเมริกา
“ท้ายที่สุดแล้ว ศาลจะเป็นผู้ตัดสินเรื่องนี้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทรัมป์สามารถตัดสินใจเองได้” ไซกฤษณะ ประกาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ กล่าวกับสำนักข่าว BBC
-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น-
หากทรัมป์สามารถบังคับใช้คำสั่งนี้ได้สำเร็จ ทรัมป์ขู่ว่าจะมีการเนรเทศจำนวนมาก ซึ่งอาจรวมถึงผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิพลเมืองโดยกำเนิด แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้อาจต้องตัดสินโดยศาลฎีกาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน
3. ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) / เป็นไปได้

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจาก WHO เนื่องจากองค์กรจัดการกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างผิดพลาด
ทรัมป์แสดงความรู้สึกไม่พอใจ WHO หลังจากรับรู้ว่า WHO ถูกครอบงำ และอ่อนข้อต่อจีน ซึ่งเขาเชื่อมานานแล้วว่า ‘จีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของไวรัส’ นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังระบุถึง ‘การจ่ายเงินที่ไม่เป็นธรรม’ ที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายให้กับ WHO อีกด้วย
-มีอุปสรรคอะไรบ้าง?-
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ทรัมป์สั่งถอนสหรัฐฯ ออกจาก WHO ซึ่งเขาสั่งในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่ง แต่ในภายหลัง ไบเดนก็สั่งสหรัฐฯ กลับเข้ามาใหม่
การถอนตัวของสหรัฐฯ จะไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะถึงปี 2026 เป็นอย่างเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน
-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น-
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลกบางคนอธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น ‘หายนะ’ ‘ย่อยยับ’ ‘สร้างความเสียหาย’ เนื่องจากในบรรดาประเทศสมาชิก 196 ประเทศ สหรัฐฯ เป็นผู้ให้ทุนรายบุคคลรายใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนสนับสนุนเกือบ 1 ใน 5 ของงบประมาณทั้งหมดของ WHO
เป็นไปได้ที่เงินทุนอาจหายไปในชั่วข้ามคืน และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของ WHO ในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน
นักวิทยาศาสตร์บางคนยังกังวลว่าการกระทำดังกล่าวอาจทำให้สหรัฐฯ ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในการเข้าถึงโครงการต่างๆ เช่น การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด และการจัดลำดับสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งใช้ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของชาวอเมริกัน รวมถึงกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติสหรัฐฯ ในที่สุด
แต่บางคนโต้แย้งว่าการที่สหรัฐฯ ถอนตัวอาจกระตุ้นให้มีการปฏิรูปการทำงานของ WHO ซึ่งจะทำให้เป็นองค์กรที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุขของผู้คนทั่วโลกได้ดีขึ้น
4. เปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก / เป็นไปได้

คำสั่งบริหารฉบับนี้เรียกร้องให้ ‘อ่าวเม็กซิโก’ เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น ‘อ่าวอเมริกา’ โดยทรัมป์สามารถเปลี่ยนชื่ออ่าวบนเอกสารอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้
-มีอุปสรรคอะไรบ้าง?-
ทรัมป์ไม่สามารถบังคับให้ประเทศ หรือบริษัทอื่นเปลี่ยนชื่อได้ ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน ยังคงมีการระบุชื่อ ‘อ่าวเม็กซิโก’ บน Google Maps อยู่
-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น-
ไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการสำหรับการตั้งชื่อพื้นที่ทางทะเล แม้จะมีหน่วยงานที่พยายามหาทางแก้ไขข้อพิพาทดังกล่าวหากว่ามันเกิดขึ้น ดังนั้น เม็กซิโกจึงสามารถยื่นข้อโต้แย้งอย่างเป็นทางการได้ และพันธมิตรของสหรัฐฯ และเม็กซิโกก็อาจเข้าไปพัวพันกับข้อพิพาททางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบามแห่งเม็กซิโก ก็ออกมาตอบโต้ต่อคำสั่งดังกล่าวว่า “สหรัฐฯ สามารถเรียกอ่าวนี้ว่า ‘อ่าวอเมริกา’ ได้ แต่สิ่งนี้จะไม่เปลี่ยนสิ่งที่เม็กซิโกและส่วนอื่นๆ ของโลกเรียก”
5. สหรัฐฯ รองรับแค่ 2 เพศ : ชาย-หญิง / เป็นไปได้ยาก

“นโยบายของสหรัฐฯ คือการยอมรับเพศ 2 เพศ ได้แก่ ชายและหญิง เพศเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และต้องยึดถือตามความเป็นจริงพื้นฐานที่ไม่อาจโต้แย้งได้” แถลงการณ์ระบุ พร้อมเสริมว่ารัฐบาลกลางจะใช้คำว่า ‘เพศ’ ไม่ใช่ ‘เพศสภาพ’
ทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์โต้แย้งว่าข้อกำหนดในการเรียกบุคคลข้ามเพศในสถานที่ราชการและสถานที่ทำงานด้วยคำสรรพนามที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา ถือเป็นการละเมิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ว่าด้วยเสรีภาพในการพูดและการนับถือศาสนา
รัฐต่างๆ เช่น แคนซัส และมอนทานา ได้ตรากฎหมายพื่อบรรจุคำจำกัดความทางชีววิทยาของเพศไว้ในกฎหมายแล้ว
-มีอุปสรรคอะไรบ้าง?-
มีแนวโน้มว่าคำสั่งบริหารดังกล่าวจะเผชิญกับ ‘ความท้าทายทางกฎหมาย’ “เราจะต่อสู้กับข้อกำหนดที่เป็นอันตรายเหล่านี้ด้วยทุกสิ่งที่เรามี” กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (HRC) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคน LGBTQ+ กล่าว
ความท้าทายเหล่านี้อาจต้องไปถึงศาลฎีกาสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าคำตัดสินอาจโน้มเอียงไปทางทรัมป์ เพราะเสียงข้างมากส่วนใหญ่เป็นอนุรักษนิยม
-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น-
เรือนจำและสถานที่ต่างๆ เช่น สถานพักพิงสำหรับผู้อพยพและเหยื่อการข่มขืน จะถูกแยกตามเพศภายใต้แผนดังกล่าว ซึ่งนักรณรงค์ระบุว่าจะช่วยปกป้องผู้หญิงได้ แต่กลุ่มสิทธิของคนข้ามเพศบอกว่าอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความรุนแรงกับผู้หญิงข้ามเพศได้
เอกสารประจำตัวอย่างเป็นทางการ รวมถึงหนังสือเดินทางและวีซ่า จะต้องระบุว่าบุคคลนั้นเป็น ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ พลเมืองสหรัฐฯ จะไม่สามารถเลือก ‘X’ เป็นตัวเลือกที่สามได้อีกต่อไป
6. ประกาศให้แก๊งค้ายาเป็น ‘องค์กรก่อการร้ายต่างชาติ’ / เป็นไปได้ยาก

คำสั่งบริหารฉบับนี้ระบุว่ากลุ่มค้ายา ‘มีส่วนร่วมในแคมเปญความรุนแรงและการก่อการร้าย’ ทั่วทั้งซีกโลก และทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับอาชญากรรม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังระบุด้วยว่านโยบายของสหรัฐฯ คือ ‘การกำจัดแก๊งเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปในสหรัฐฯ’ โดยจะให้เวลาหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ 14 วันในการเสนอกลุ่มที่จะถูกกำหนด และเตรียมพร้อมที่จะเร่งดำเนินการเนรเทศแก๊งเหล่านั้นออกจากสหรัฐฯ
-มีอุปสรรคอะไรบ้าง?-
การกำหนดให้แก๊งค้ายาเป็นกลุ่มก่อการร้ายอาจเปิดโอกาสให้มีการดำเนินคดีกับพลเมืองสหรัฐฯ หรือแม้แต่ธุรกิจที่ถูกกฎหมายที่พบว่ามีความเกี่ยวพันกับแก๊งเหล่านี้ (ถูกตั้งข้อหาช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย เพราะถูกรีดไถเพื่อจ่ายเงินให้แก๊งค้ายา) นอกจากนี้ การกำหนดดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เช่น เม็กซิโก ซึ่งออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยว่าควรเคารพอธิปไตยของประเทศ
-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น-
- ประการแรก การกำหนดแก๊งเหล่านี้ให้เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศอาจใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินการทางทหารต่อเป้าหมายในเม็กซิโก หรือประเทศอื่นๆ ที่มีกลุ่ม หรือแก๊งในลักษณะเดียวกันปฏิบัติการอยู่ก็ได้
- ประการที่สอง รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังอาจต้องจัดสรรทรัพยากรและเครื่องมือทางกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับแก๊งค้ายาและกลุ่มอาชญากรอื่นๆ
(Photo by Jim WATSON / AFP)