ใครที่รู้สึกนอนไม่พอต้องอ่านข่าวนี้ เพราะมีผลวิจัยบอกว่า การนอนตื่นสายในช่วงวันหยุดสามารถชดเชยเวลาที่นอนไม่พอในในช่วงวันทำงานได้
ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sleep Research ระบุว่า การนอนหลับพักผ่อนเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้หากคนคนนั้นได้รับผลกระทบจากการนอนไม่พอระหว่างวันทำงาน
นักวิจัยระบุว่า “ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าการนอนไม่พอในช่วงวันทำงานไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากมีการนอนหลับพักผ่อนในระดับกลางหรือยาวในช่วงวันหยุด สิ่งนี้ชี้แนะว่าการนอนไม่พอในช่วงวันทำงานอาจชดเชยได้ด้วยการนอนในวันหยุด”
นักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านความเครียดของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มศึกษาผู้คน 38,000 คนตั้งแต่ปี 1997-2010 การสำรวจนิสัยการนอนของผู้เข้าร่วมเหล่านี้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 65 ปีที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงทุกคืนมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่นอนอย่างน้อยคืนละ 6 ชั่วโมงถึง 65%
นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า คนที่นอน 5 ชั่วโมงหรือน้อยกว่าในช่วงวันทำงาน แต่นอนตั้งแต่ 8 ชั่วโมงขึ้นไปในช่วงวันหยุด อัตราการเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น
ทอร์บยอร์น โอเคสเตดต์ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยเผยว่า “คนที่นอนน้อยทั้งในช่วงวันทำงานและช่วงวันหยุดมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับคนที่นอนมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ถึงอย่างนั้นคนที่นอนน้อยในช่วงวันทำงานสามารถนอนมากขึ้นชดเชยได้ในช่วงวันหยุด”
อีกงานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยการแพทย์หนานจิงของจีนที่ติดตามชีวิตคน 3,400 คนเพื่อดูว่าวงจรการนอนหลับมีผลกระทบกับสุขภาพอย่างไรพบว่า การนอนเพิ่มขึ้นอีก 2 ชั่วโมงในช่วงวันหยุดช่วยลดโอกาสการเกิดหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง 63% โดยเฉพาะในผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงในช่วงวันทำงาน
พูดง่ายๆ ก็คือ การนอนน้อยในช่วงวันทำงานอาจจะไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสียทีเดียวตราบใดที่เรายังนอนชดเชยในช่วงวันหยุด
น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ได้
การนอนน้อยเกินไปเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและไต ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน รวมทั้งมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น ส่วนการนอนมากเกินไปก็กลับกลายเป็นผลเสียได้เช่นกัน งานวิจัยพบว่าคนที่นอนมากกว่าวันละ 9 ชั่วโมงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับปัญหาสขภาพอื่น อาทิ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ และเพิ่มโอกาสการเสียชีวิต
โอเคสเตดต์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านความเครียดของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มเผยว่า คนที่นอนมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงทุกวัน มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 25% เมื่อเทียบกับคนที่นอนวันละ 6-7 ชั่วโมง
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดการนอนมากเกินไปถึงเพิ่มโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นักวิจัยแนะนำว่าอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น เช่น โลหิตจาง ซึมเศร้า หรือการมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนร่างกาย
นอน-ตื่นไม่ปกติก็เสี่ยง
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2021 การไม่เข้านอนและตื่นนอนตามเวลาปกติ (ตื่นสาย หรือนอนดึก) มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
ลิซา อาร์ทิส รองประธานกรรมการบริหาร The Sleep Charity ชี้ว่า การเข้านอนและการตื่นนอนในเวลาเดิมๆ ตลอดเวลาจะช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น “การนอนตื่นสายบ้างเป็นบางโอกาสไม่มีอันตราย โดยรวมแล้วการอยู่บนเตียงนานขึ้นมีส่วนดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา มันทำหน้าที่เป็นฟังก์ชันในการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทุกคนก็ตื่นสายกันทั้งนั้นแหละในช่วงวันหยุด มันช่วยบาลานซ์การนอนไม่พอ แต่ต้องไม่ลืมว่าการนอนเก็บเวลาสะสมไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดจากการนอนไม่พอได้ทุกอย่าง”