หลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทยกำลังถูกสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดจนธุรกิจท้องถิ่นต้องล้มหายตายจากไป อย่างโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในเมืองบันดุงของอินโดนีเซีย ยอดขายและรายได้เริ่มลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ TikTok Shop ที่ขายสินค้าราคาถูกจากโรงงานผลิตในจีนถึงผู้บริโภคโดยตรงเปิดตัวที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2021
เฉพาะปีนี้คนงานในโรงงานสิ่งทอ โรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าราว 49,000 คนถูกเลย์ออฟ เนื่องจากโรงงานในจังหวัดบันเติน ชวาตะวันตก และชวากลางต้องปิดตัวลง
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซุลกิฟลิ ฮาซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซียประกาศว่า รัฐบาลจะเก็บภาษีสิ่งทอนำเข้าสูงสุดไม่เกิน 200% ซึ่งเพิ่มจากอัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบันหลายเท่าตัว และบอกว่ากำลังพิจารณาภาษีใหม่เพื่อรับมือกับการนำเข้าเซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากมีเสียงเรียกร้องมาจากภาคธุรกิจ
ประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็กำลังเคลื่อนไหวเพื่อตั้งกำแพงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
เมื่อเดือนมกราคม มาเลเซียเก็บภาษีการขาย 10% จากสินค้านำเข้าที่ซื้อจากช่องทางออนไลน์มูลค่าต่ำกว่า 500 ริงกิต (3,880 บาท) จากที่ก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการขาย ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิตที่ใช้กับสินค้าที่ราคาสูงกว่านี้ ส่วนไทยประกาศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าน้อยกว่า 1,500 บาท
อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยกับ Nikkei Asia ว่า “จีดีพีกว่า 15% ของไทยมีจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องการนักท่องเที่ยวจากจีน เราพึ่งพาตลาดจีนในการส่งออกสินค้า และเราต้องการการลงทุนโดยตรงจากจีน (FDI)”
Nikkei Asia รายงานว่า สำหรับรัฐบาลของประเทศในอาเซียน การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนกำลังสร้างปัญหา เพราะในขณะที่ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตในประเทศกำลังต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับกำลังชักจูงบริษัทจีนให้ลงทุนในการผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง
การจัดลำดับความสำคัญเหล่านี้ให้สมดุลกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในจีนทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง และทำให้บริษัทจีนมีสินค้าคงคลังส่วนเกินที่ต้องเคลียร์ออกให้ได้ในราคาต่ำที่สุด สิ่งนี้กำลังขยายการเสียดุลทางการค้าของอาเซียนกับจีน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับการนำเข้ามากขึ้น
การคำนวณของนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs พบว่า ปีที่แล้วอาเซียนและบรรดาตลาดเกิดใหม่ในเอเชียนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 1 ใน 3 ของสินค้าที่จีนส่งออกทั้งหมด แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของจีดีพีโลกเท่านั้น
จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับ 2 ของสินค้าส่งออกไทยรองจากสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดในแง่ของมูลค่า การเสียดุลการค้าของไทยต่อจีนมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากขาดดุล 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็น 36,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว การเสียดุลการค้าของมาเลเซียต่อจีนยิ่งหนักกว่าของไทย จาก 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 14,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินโดนีเซียดีกว่าใครเพื่อนจากอานิสงส์ของการส่งออกโลหะไปจีนเพิ่มขึ้น ทำให้ได้ดุลการค้าจากจีน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว แต่ช่วงครึ่งแรกของปีนี้อินโดนีเซียขาดดุลการค้าให้จีนไปแล้ว 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ
ความไม่สมดุลของการค้าขายกันนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บรรดาบริษัทจีนและคู่ค้าต่างชาติย้ายฐานการผลิตและประกอบจากจีนมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และปัจจัยอื่นๆ
“จีนมองว่าการลงทุนในประเทศอื่นเป็นกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง”
ชาร์ลส์ จอร์แดน นักวิเคราะห์จากบริษัทด้านการวิจัยนโยบาย Rhodium Group เผยกับ Nikkei Asia
การเคลื่อนย้ายของซัพพลายเชนนี้ทำให้จีนต้องการวัตถุดิบและสินค้าที่ถูกผลิตออกมาเพื่อใช้สำหรับผลิตสินค้าชนิดอื่นๆ ในขั้นตอนต่อไปจากอาเซียนน้อยลง แต่กลับทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นที่ต้องการในอาเซียนมากขึ้น ในหลายกรณีสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย (สินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเพื่อนาไปบริโภค) ถูกส่งไปยังตลาดตะวันตก ไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคมอาเซียนส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากกว่าจีนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำลายสถิติของจีนในฐานะตลาดส่งออกอันดับต้นๆ ของอาเซียน
ส่วนเวียดนามและอาเซียนในภาพรวมนั้น นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC มองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อนข้างเป็นประโยชน์ต่อดุลการค้า รายงานของ HSBC ระบุว่า “อิทธิพลของอาเซียนในตลาดโลกลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากอานิสงส์ของการค้าขายกับจีน” แต่ก็ยอมรับว่า อาเซียนขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นจากราว 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐช่วงที่โควิด-19 ระบาด เป็นเกือบ 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้
การเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางการค้าใหม่ๆ ด้วย อาทิ เดือนที่แล้วสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีแผงโซล่าเซลล์ที่ผลิตโดยบริษัทจีนในกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามสูงถึง 250%
ปี 2022 บริษัทผลิตแผงโซล่าเซลล์ของจีน 4 แห่งถูกจับได้ว่าเลี่ยงภาษีสำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรงด้วยการส่งออกสินค้าผ่านประเทศในอาเซียน
อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานสีเขียวอื่นๆ ของอาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้เพราะบริษัทบริษัทจีนที่พยายามเลี่ยงกำแพงภาษีของประเทศตะวันตก แต่นั่นก็มาพร้อมความเสี่ยง จอร์แดนเผยว่า “ความเสี่ยงของประเทศตลาดเกิดใหม่คือรัฐบาลตะวันตกจะตรวจสอบซัพพลายเชนในเชิงลึกยิ่งขึ้น”
รัฐบาลอาเซียนกำลังอ้าแขนรับการลงทุนเหล่านี้ในภาคส่วนของการผลิตสินค้าสีเขียว อาทิ รัฐบาลไทยดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่าง BYD และ Great Wall Motor ด้วยการอนุญาตให้นำเข้ารถโดยไม่ต้องเสียภาษีในขณะที่กำลังสร้างโรงงานผลิต และยังให้รวมรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามานี้ในโครงการอุดหนุนให้คนไทยซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีเงินได้ให้ผู้ผลิตเหล่านี้ด้วย
มาตรการจูงใจเหล่านี้เป็นประโยชน์กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่ขณะเดียวกันการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจากจีนมากขึ้นก็ส่งผลกระทบกับ Honda Motor และค่ายอื่นๆ ที่ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว
สมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเผยกับ Nikkei Asia ว่า “ปีนี้ยอดสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ลดลง 40% แล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในท้องถิ่นลดเวลาปฏิบัติงานเหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 วันเท่านั้น เนื่องจากความต้องการลดลง”
บริษัทหลายแห่งในอาเซียนต่างก็ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน ปีที่แล้วบริษัทกว่า 1,300 แห่งในไทยต้องปิดตัวลง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 60% นอกจากนี้ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคมยังมีโรงงานอีก 500 แห่งปิดตัวลง มีคนตกงาน 15,342 คน
เหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดของไทย การบุกตลาดของเหล็กราคาถูกจากจีนทำให้ปีที่แล้วการผลิตเหล็กภายในประเทศลดลง 497,000 ตัน หรือคิดเป็น 7%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์คำนวณออกมาว่า การหายไปของเหล็กไทยทุกๆ 100,000 ตันจะทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 0.2% ส่วน วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเผยว่า การล่มสลายของการผลิตเหล็กในประเทศไทยอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

การส่งสินค้าจีนออกมาตีตลาดประเทศอื่นไม่เพียงแต่ทำให้รายได้ภายในของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงเท่านั้น แต่สินค้าราคาถูกจากจีนยังกระทบกับยอดขายของผู้ส่งออกในอาเซียนในตลาดต่างประเทศอื่นด้วย
Nikkei Asia รายงานต่อว่า การผงาดขึ้นมาของแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์อย่าง Shopee ของสิงคโปร์ Lazada ของอาลีบาบา และ TikTok Shop ของไบต์แดนซ์ ทำให้ผู้ส่งออกจีนมีสะพานทอดมายังลูกค้าในอาเซียน
ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works ในสิงคโปร์ระบุว่า ปีที่แล้วแพลตฟอร์มออนไลน์ในอาเซียนทำยอดขายสินค้ารวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มได้ถึง 114,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนหน้า 15%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มเก็บภาษีสินค้าจากจีนแล้ว แต่ วิลเลียม อู่ ประธานสมาคมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางของมาเลเซียบอกว่า ภาษี 10% ที่มาเลเซียเริ่มเก็บเมื่อเดือนมกราคมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนมากนัก
นอกเหนือจากอาเซียนแล้ว ประเทศในเอเชียอื่นๆ ก็กำลังต่อสู่กับสินค้าจากจีนเช่นกัน เช่น เกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของเอเชีย ขาดดุลการค้าให้จีนครั้งแรกในรอบ 31 ปีเมื่อปีที่แล้ว และแม้ว่าบริษัทในเกาหลีใต้จะยังนำหน้าจีนในเรื่องสินค้าไฮเทคอย่างเซมิคอนดักเตอร์ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า คนเกาหลีใต้เริ่มมองหาตัวเลือกอื่นที่ถูกกว่าสำหรับสินค้าพื้นฐานอย่างเครื่องใช้ในบ้าน เสื้อผ้า และเครื่องประดับ บริษัทต่างๆ ก็เริ่มหันไปใช้สินค้าที่ไฮเทคกว่าจากจีน ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแบตเตอรี
นักวิเคราะห์มองว่าการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีนทำให้บริษัทในเกาหลีใต้ล้มละลายมากขึ้น เฉพาะครึ่งแรกของปีนี้มีบริษัทล้มละลายแล้วเกือบ 1,000 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 724 แห่งในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทว่าแทนที่จะควบคุมการนำเข้าจากจีน รัฐบาลเกาหลีใต้กลับจับมือตกลงขยายข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่แล้วกับจีน แต่อย่างน้อยก็ยังหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องดุลการค้ากับจีนด้วยการให้ความสำคัญกับตลาดยุโรป และสหรัฐฯ ที่เพิ่งขยับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ การเปลี่ยนเป้าหมายนี้ช่วยให้การส่งออกของเกาหลีใต้เติบโต (เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน) ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา
ออสเตรเลียก็พยายามมองหาตลาดที่หลากหลายมากขึ้นนอกจากตลาดจีนหลังจากรัฐบาลจีนสั่งแบนการนำเข้าไวน์ เนื้อวัว ซุง ถ่านหิน และสินค้าอื่นจากออสเตรเลีย แม้ว่าปีที่ผ่านมากำแพงการค้าเหล่านี้จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ถูกทางการจีนแบน เช่น ขนสัตว์จากนิวซีแลนด์ เหล้าจากฝรั่งเศส กล้วยจากฟิลิปปินส์
ทุเรียนจากไทยก็ต้องระวังเช่นกันหากวันใดวันหนึ่งเกิดความตึงเครียดระหว่างไทยกับจีนขึ้นมา