ยานสำรวจของ NASA สร้างประวัติศาสตร์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด

25 ธ.ค. 2567 - 06:04

  • ยานอวกาศพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของ NASA มุ่งหน้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศภายนอกของดาวฤกษ์ เผชิญกับอุณหภูมิที่เลวร้ายและรังสีที่แผ่กระจาย

  • แต่ยานขาดการติดต่อสื่อสารเป็นเวลาหลายวันระหว่างเคลื่อนผ่านจุดร้อนระอุนี้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงเฝ้ารอสัญญาณซึ่งคาดว่าจะส่งมาถึงโลกในเวลา 05:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 28 ธันวาคม เพื่อดูว่ายานสำรวจจะรอดหรือไม่

spacecraft-attempts-closest-ever-approach-to-sun-SPACEBAR-Hero.jpg

ยานอวกาศพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของ NASA กำลังพยายามสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด มุ่งหน้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศภายนอกของดาวฤกษ์ เผชิญกับอุณหภูมิที่เลวร้ายและรังสีที่แผ่กระจาย 

ยานอวกาศไร้คนขับขาดการติดต่อสื่อสารเป็นเวลาหลายวันระหว่างเคลื่อนผ่านจุดที่ร้อนระอุนี้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงเฝ้ารอสัญญาณซึ่งคาดว่าจะส่งมาถึงโลกในเวลา 05:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 28 ธันวาคม เพื่อดูว่ายานสำรวจจะรอดหรือไม่ 

“เราหวังว่ายานดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น...มนุษย์ศึกษาดวงอาทิตย์มาหลายศตวรรษแล้ว แต่เราไม่สามารถสัมผัสบรรยากาศของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้จนกว่าจะได้ไปเยือนจริงๆ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสัมผัสบรรยากาศของดวงอาทิตย์ของเราได้อย่างแท้จริง เว้นแต่ว่าเราจะบินผ่านมัน” ดร.นิโคลา ฟ็อกซ์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ NASA บอกกับสำนักข่าว BBC 

ยาน Parker Solar Probe ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2018 มุ่งหน้าสู่ใจกลางระบบสุริยะ โคจรผ่านดวงอาทิตย์ไปแล้ว 21 ครั้ง และใกล้เข้ามาทุกที แต่การโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในคืนคริสต์มาสอีฟนั้นทำลายสถิติเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์ในระยะ 3.8 ล้านไมล์ (6.1 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งถือเป็นช่วงที่มนุษย์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด

แม้อาจฟังดูไม่ได้ใกล้ขนาดนั้น แต่ ดร.ฟ็อกซ์จาก NASA ได้อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า

“เราอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 93 ล้านไมล์ (ราว 149 ล้านกิโลเมตร) ดังนั้น หากเราวางดวงอาทิตย์และโลกไว้ห่างกัน 1 เมตร ยาน Parker Solar Probe ก็จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 4 เซนติเมตร นั่นถือว่าใกล้มาก”

ยานจะต้องทนต่ออุณหภูมิ 1,400 องศาเซลเซียส และรังสีที่อาจทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์บนยานเสียหายได้ แต่ยานได้รับการปกป้องด้วยแผ่นคาร์บอนคอมโพสิตหนา 11.5 ซม. (4.5 นิ้ว) ถึงกระนั้น กลยุทธ์ของยานอวกาศก็คือ ‘การพุ่งเข้าและออกอย่างรวดเร็ว’ 

อันที่จริงแล้ว ยานจะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยพุ่งด้วยความเร็ว 430,000 ไมล์ (692,016.2 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับการบินจากลอนดอนไปนิวยอร์กในเวลาไม่ถึง 30 วินาที ความเร็วของยาน Parker Solar Probe เกิดจากแรงดึงดูดอันมหาศาลที่รู้สึกได้ขณะที่ตกลงสู่ดวงอาทิตย์ 

นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ต่างรอคอยอย่างกระวนกระวายใจในช่วงคริสต์มาส ในขณะที่ยานอวกาศไม่สามารถติดต่อกับโลกได้ 

“ทันทีที่ยานสำรวจส่งสัญญาณกลับมา ทีมจะส่งข้อความเป็น ‘หัวใจสีเขียว’ ให้ฉัน เพื่อแจ้งให้ทราบว่ายานสำรวจปลอดภัยดี” ดร.ฟ็อกซ์ กล่าว พร้อมสารภาพว่าเธอรู้สึกประหม่ากับความกล้าบ้าบิ่นเช่นนี้ แต่เธอก็ศรัทธาในยานสำรวจ 

“ฉันเป็นห่วงยานอวกาศลำนี้ แต่เราได้ออกแบบมันให้ทนทานต่อสภาวะที่โหดร้ายเหล่านี้ได้จริงๆ มันเป็นยานอวกาศลำเล็กที่แข็งแกร่งมาก หากยานสำรวจสามารถผ่านพ้นความท้าทายนี้ไปได้ ยานจะปฏิบัติภารกิจเดินทางรอบดวงอาทิตย์ต่อไปในอนาคต” ดร.ฟ็อกซ์ กล่าว 

Photo by HO / NASA/Johns Hopkins APL / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์