เมื่อ ‘ความอดอยาก’ กำลังจะกลายเป็น ‘อาวุธสงคราม’
เมื่อความรุนแรงและความโหดร้ายของสงครามอิสราเอล-ฮามาสได้พรากครอบครัวและชีวิตผู้คนหลายพันคนจากไป ขณะเดียวกันขีปนาวุธที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างยิงใส่กันนั้น ไม่เพียงแต่เป็นอาวุธที่ทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น ทว่า ‘ความอดอยาก’ ก็กำลังจะถูกนำมาใช้เป็น ‘อาวุธสงคราม’ ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ภายหลังจากที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา อิสราเอลได้ตัดสินใจปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ พร้อมทั้งตัดเสบียงอาหาร น้ำ ไฟฟ้า รวมถึงเชื้อเพลิงเข้าไปยังดินแดนแห่งนี้ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮามาส และยังถล่มดินแดนดังกล่าวอย่างไม่ลดละ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 6,600 ราย ตามการระบุของทางการในฉนวนกาซา
โดยปกติที่ยังไม่ได้มีการปิดล้อมโดยสมบูรณ์จะเห็นได้ว่าคุณภาพและวิถีชีวิตของพลเมืองก็แย่มากๆ อยู่แล้ว เมื่อเกิดสงครามขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำความทุกข์ยากลำบากให้พวกเขามากขึ้นไปอีก
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเองก็ได้ออกมาเตือนถึงหายนะด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานของสหประชาชาติก็ร้องขอให้อิสราเอลอนุญาตให้รถบรรทุกช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซามากขึ้น ซึ่งในตอนนี้ผ่านเข้าไปได้ไม่ถึง 70 คันด้วยซ้ำนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น
…กลายเป็นอีกหนึ่งอาวุธร้ายที่ทำลายชีวิตได้…
ในแถลงการณ์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา อ็อกซ์แฟม (Oxfam / กลุ่มพันธมิตรนานาชาติเพื่อกำจัดความยากจน) กล่าวว่า “อาหารที่ถูกส่งเข้าไปในฉนวนกาซานับตั้งแต่มีการปิดล้อมทั้งหมดมีเพียง 2% เท่านั้น…เพื่อเอาชนะวิกฤตอาหารเร่งด่วนจึงจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกประมาณ 104 คันต่อวันเพื่อส่งอาหารเข้าไปที่นั่น”
แซลลี่ อาบี คาลิล ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลางของอ็อกซ์แฟมเผยว่า
“สถานการณ์นี้กำลังน่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมนุษยชาติอยู่ที่ไหน? พลเรือนหลายล้านคนกำลังถูกลงโทษเหมารวม (collectively punished)…ไม่มีเหตุผลใดที่พวกเขาจะใช้ ‘ความอดอยาก’ เป็น ‘อาวุธสงคราม’ และผู้นำโลกไม่สามารถนั่งดูได้ต่อไปได้อีกแล้ว พวกเขาต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้”
“ทุกๆ วัน สถานการณ์เลวร้ายลง เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง น้ำดื่มของพวกเขามีมลพิษปนเปื้อน และถูกปันส่วนไปใช้มากมาย และในไม่ช้ามันอาจจะหมดไปหากไม่มีการส่งรถบรรทุกความช่วยเหลือเข้าไปเพิ่ม คิดดูสิว่าพลเมืองต้องอดทนมากเพียงใด” คาลิลกล่าวเสริม
ทั้งนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระบุว่า “ห้ามไม่ให้ ‘การอดอยาก’ เป็นหนึ่งในวิธีการทำสงคราม” ขณะที่อ็อกซ์แฟมยังเผยอีกว่า “มีความชัดเจนอย่างเจ็บปวดว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาที่เป็นอยู่นั้นสอดคล้องกับข้อห้ามดังกล่าว”
นอกจากนี้ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และประเทศสมาชิกป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้ และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที เพื่อให้สามารถจัดหาอาหาร เชื้อเพลิง น้ำ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นทั้งหมดได้
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า “ยาและเวชภัณฑ์ได้ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่สำคัญ 3 แห่งในฉนวนกาซาตอนใต้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังจำเป็นต้องส่งไปทางตอนเหนือด้วยเช่นเดียวกัน”
การรอดชีวิตจากสงครามนับเป็น ‘ปาฏิหาริย์’

“การรอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศนั้นเปรียบเสมือน ‘ปาฏิหาริย์’…หลังการโจมตี เราเห็นศพเกลื่อนถนน กระจัดกระจายและแตกเป็นชิ้นๆ เรารู้สึกถึงเวลาที่เราจะต้องตายเช่นกัน” อับดุลเราะห์มาน อัมมาร์ ชายวัย 26 ปี หนึ่งในผู้รอดชีวิต พร้อมครอบครัวของเขากล่าว
ขณะที่ วาลา น้องสาวของอับดุลเราะห์มานวัย 20 กลางๆ พูดว่า “มันจะดีกว่าถ้าพวกคุณทุกคนไม่หิว ไม่กระหาย และที่สำคัญกว่านั้นคือ ‘ไม่กลัว’…เราจะมีสันติสุขชั่วนิรันดร์ ความสงบสุขที่ทำให้เราพักผ่อนจากทุกสิ่งที่ทำให้เราทนทุกข์และตายอย่างช้าๆ ในทุกๆ วัน”
“ถ้าอิสราเอลต้องการให้เราปลอดภัย พวกเขาก็จะพาเรากลับไปยังที่ที่เราถูกบังคับให้พลัดถิ่นในครั้งแรก แต่ผมสงสัยว่าพวกเขาต้องการแบบนั้น พวกเขาต้องการให้เราถูกเนรเทศชั่วนิรันดร์และหวาดกลัวไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต” อับดุลเราะห์มานกล่าว
แล้วมันยุติธรรมแล้วหรือสำหรับพลเมืองบริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับสงครามแต่กลับเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งสังเวยชีวิตและต้องพรากจากครอบครัวอันเป็นที่รัก
Photo by MOHAMMED ABED / AFP