วิจัยเตือนคนชอบสัก (อาจ) เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสูงถึง 20%

28 พ.ค. 2567 - 04:46

  • ความเชื่อมโยงนี้เกี่ยวข้องกับสารเคมีก่อมะเร็งในหมึกสัก เมื่อฉีดหมึกสักเข้าไปในผิวหนัง ร่างกายจะเข้าใจว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาและระบบภูมิคุ้มกันจะทำงาน ทำให้เกิดภาวะการอักเสบแบบอ่อนในร่างกาย (low-grade inflammation) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้

  • ประมาณ 46% ของชาวอเมริกันอายุ 30-49 ปี มีรอยสักอย่างน้อย 1 ลาย ในขณะที่ 22% ของทุกวัย โดยเฉลี่ยแล้วมีรอยสักมากกว่า 1 ลาย

study-warns-tattoos-may-raise-risk-of-deadly-cancer-by-20-percent-shock-SPACEBAR-Hero.jpg

คนที่มีรอยสัก (อาจ) มีความเชื่อมโยงกับมะเร็งโรคเลือด (blood cancer / มะเร็งที่เกี่ยวกับเม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก) ชนิดร้ายแรงเป็นครั้งแรก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดนพบว่า “คนที่สักมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) สูงกว่าคนที่ไม่มีรอยสักถึง 21%” 

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย 

เชื่อกันว่าความเชื่อมโยงนี้เกี่ยวข้องกับสารเคมีก่อมะเร็งในหมึกสัก เมื่อฉีดหมึกสักเข้าไปในผิวหนัง ร่างกายจะเข้าใจว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาและระบบภูมิคุ้มกันจะทำงาน ทำให้เกิดภาวะการอักเสบแบบอ่อนในร่างกาย (low-grade inflammation) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ 

ประมาณ 46% ของชาวอเมริกันอายุ 30-49 ปี มีรอยสักอย่างน้อย 1 ลาย ในขณะที่ 22% ของทุกวัย โดยเฉลี่ยแล้วมีรอยสักมากกว่า 1 ลาย

ผลสำรวจของสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ระบุว่า

“ชาวอเมริกันประมาณ 15% ที่ไม่มีรอยสักกล่าวว่ามีแนวโน้มค่อนข้างมากหรือมีแนวโน้มสูงมากที่พวกเขาจะมีรอยสัก”

นักวิจัยจำแนกผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี โดยใช้ทะเบียนราษฎร์ จากนั้นจึงจับคู่กับกลุ่มควบคุมที่มีเพศและอายุเท่ากัน แต่ไม่มีการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยการดำเนินชีวิตว่ามีการสักมาหรือไม่ 

ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองประมาณ 1,400 รายตอบแบบสอบถาม เช่นเดียวกับกลุ่มควบคุม 4,193 ราย โดยพบว่าในกลุ่มผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 21% (289 คน) นั้นเคยสัก ในขณะที่ 18% (735 คน) ในกลุ่มควบคุมมีรอยสัก

“หลังจากพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสูบบุหรี่และอายุ เราพบว่าความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นสูงขึ้น 21% ในกลุ่มคนที่มีรอยสัก”

คริสเทล นีลเส็น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษากล่าว

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ‘ขนาดของรอยสัก’ อาจส่งผลต่อความเสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และคิดว่าการสักทั้งตัวอาจเชื่อมโยงกับโอกาสที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ผลการวิจัยพบว่าขนาดรอยสักบนร่างกายนั้นไม่สำคัญ ขณะที่นักวิจัยก็บอกว่าไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

“ใครๆ ก็คาดเดาว่ารอยสักไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใดก็ตามก็จะกระตุ้นให้เกิดภาวะการอักเสบแบบอ่อนในร่างกาย ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ มันจึงซับซ้อนกว่าที่เราคิดไว้ในตอนแรก”

นีลเส็นกล่าว

นอกจากนี้ ก้าวต่อไปในงานวิจัย ทีมก็ยังวางแผนที่จะศึกษาต่ออีกว่า ‘รอยสักมีความเชื่อมโยงกับมะเร็งชนิดอื่นๆ หรือไม่’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์