ร้อนแบบไม่ปรานี! ที่แห่งใดบนโลกใบนี้ที่แสงแดดส่องถึงมากที่สุด

27 ก.ค. 2566 - 06:17

  • นักวิทยาศาสตร์เผยที่ราบสูงชัจนานตอร์ในชิลีเป็นจุดที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงลงมามากที่สุดบนโลก

  • หากว่าคุณยืนอยู่บนที่ราบสูงดังกล่าว คุณจะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) มากเท่ากับยืนอยู่บนดาวศุกร์เชียวล่ะ

  • ทั้งนี้ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยมักจะสูงกว่า 39.2°F (4°C) ในช่วงฤดูร้อน

sunniest-place-on-earth-radiation-so-intense-like-standing-on-venus-SPACEBAR-Thumbnail

ที่แห่งใด? บนโลกใบนี้ที่ร้อนไม่ปรานีีเหมือนยืนบน ‘ดาวศุกร์’

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการก็ไม่วายที่บางวันวิ่งหลบแดดแทบไม่ทัน แล้วประเทศทางยุโรปที่เจอคลื่นความร้อน (heatwave) แบบที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยเล่นงานอยู่ในเวลานี้จะไปเหลืออะไร โดยเฉพาะอังกฤษ สเปน โปรตุเกส และฝรั่งเศส เป็นต้น 

แต่ใครที่ชื่นชอบแสงแดดและชอบผิวแทน (ไหม้?) สถานที่ที่ดีที่สุดที่ต้องไปอ้าแขนรับแสงก็คือ ‘ประเทศชิลี’ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า ‘ทะเลทรายใกล้เทือกเขาแอนดีส’ เป็นสถานที่ที่มีแสงแดดจัดที่สุดในโลก 

หากว่าคุณยืนอยู่บนที่ราบสูงชัจนานตอร์ (Chajnantor) คุณจะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) มากเท่ากับยืนอยู่บนดาวศุกร์เชียวล่ะ 

งานวิจัยดังกล่าวนำโดยมหาวิทยาลัยซานติอาโกเปิดเผยว่า “ตำแหน่งในทะเลทรายอาตากามาทางตอนเหนือของชิลี ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 15,700 ฟุต (4,800 เมตร) เป็นจุดที่มีแสงแดดส่องถึงมากที่สุดของโลก เนื่องจากมีสภาพที่ไม่มีเมฆมากที่สุด” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1lzZdpjmwCC4s1iTTi7Fjt/04c00ec58a8f6b8044aa626fcb1a77ad/sunniest-place-on-earth-radiation-so-intense-like-standing-on-venus-SPACEBAR-Photo01
Photo: ทะเลทรายอาตากามา (Martin BERNETTI / AFP)
นั่นหมายความว่าบริเวณที่ราบจะมีฝนตกน้อยมาก แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าที่นี่ไม่เหมาะสำหรับการนอนอาบแดดอย่างแน่นอน และแน่นอนว่าและครีมกันแดด SPF สูงๆ ของคุณก็ไม่ช่วยป้องกันผิวไหม้ได้หรอก เพราะสภาพอากาศมันเลวร้ายมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก 

ทั้งนี้ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยมักจะสูงกว่า 39.2°F (4°C) ในช่วงฤดูร้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ติดกันได้รับกระแสน้ำจากทวีปแอนตาร์กติกา 

“แท้จริงแล้วมันคือรังสีที่คุณจะได้รับในฤดูร้อน หากคุณยืนอยู่บนดาวศุกร์…ในสถานที่นี้ สำหรับคนที่ทำงานที่นั่น พวกเขาจะรู้ว่าค่ารังสีนั้นสูงมาก แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าค่ามันสูงแค่ไหน” ราอูล คอร์เดโร นักวิจัยกล่าวกับ Washington Post 

ในรายงานการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้เผยแพร่ชุดข้อมูลระยะเวลา 5 ปีซึ่งบันทึกไว้ที่หอดูดาวบริเวณชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงชัจนานตอร์ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 5,418 เมตร โดยพบว่าที่ราบสูงแห่งนี้ไม่เพียงแต่มีการแผ่รังสีคลื่นสั้นแนวนอนในระดับสูงสุดทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอื่นๆ อีกหลายประการ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2PS9eFNlxYgH02j9bQU9y3/0e55e3038d2b1c55f7a2152d5e3504d0/sunniest-place-on-earth-radiation-so-intense-like-standing-on-venus-SPACEBAR-Photo02
Photo: บริเวณที่ราบสูงชัจนานตอร์ ประเทศชิลี (MARTIN BERNETTI / AFP)
นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า ‘การกระเจิงไปข้างหน้า’ (forward scattering) ซึ่งมักถูกสังเกตเห็นท่ามกลางก้อนเมฆในบริเวณใกล้เคียง และมักจะก่อให้เกิดการระเบิดของแสงแดดอย่างรุนแรง ขณะที่สถานที่อื่นๆ บนโลกกลับพบว่า เมฆมักจะ ‘หนามากพอ’ ที่จะปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพื้น ซึ่งสะท้อนกลับออกไปในอวกาศแทน 

กลไกนี้เองที่เป็นประโยชน์ช่วยปกป้องเราจากแสงแดดที่เป็นอันตราย และป้องกันแผ่นน้ำแข็งไม่ให้ละลายเร็วเกินไปในบางส่วนของโลกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ที่ราบสูงชัจนานตอร์มักประสบกับปัญหา ‘เมฆบาง’ ซึ่งทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงไปที่พื้นผิวของพื้นดินอย่างเข้มข้น และเชื่อหรือไม่ว่า การแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ในช่วงที่เมฆบางลงอาจเลวร้ายยิ่งกว่าสภาวะที่ไม่มีเมฆซะอีก 

ที่ราบสูงชัจนานตอร์ VS ดาวศุกร์

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1oHetVVyHthLqXvswVhQeZ/38530e7382ec7c44e41008eeecbad80f/sunniest-place-on-earth-radiation-so-intense-like-standing-on-venus-SPACEBAR-Photo03
Photo: AFP / NASA / JPL-CALTECH
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ากระบวนการนี้ช่วยให้ทะเลทรายชิลีได้สัมผัสกับ ‘ปรากฏการณ์สุดขั้วของดวงอาทิตย์ซึ่ง ไม่มีใครเทียบได้ทั่วโลก’ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนวิจัยนี้จึงเชื่อว่าที่ราบสูงแห่งนี้อาจเป็นจุดสำคัญสำหรับตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต ซึ่งก็คือการเก็บเกี่ยวแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง เนื่องจาก พื้นที่นี้อาจสามารถใช้เป็นแบบจำลองชีวิตบนดาวศุกร์ในอนาคตได้ 

ทั้งนี้ ชั้นโอโซนของดาวศุกร์นั้นอยู่สูง 62 ไมล์เหนือพื้นผิวโลก และได้รับการฉายรังสีจากดวงอาทิตย์ 2601.3 วัตต์ต่อเมตรยกกำลัง 2 (W m−2) เมื่อเทียบกับที่ราบสูงอยู่ที่ 308 วัตต์ต่อเมตรยกกำลัง 2 (W m−2)  

และแน่นอนว่าอุณหภูมิบนดาวศุกร์มักจะสูงเกิน 880°F (470°C) เนื่องจากปริมาตรของเมฆคาร์บอนไดออกไซด์และกรดกำมะถันในชั้นบรรยากาศ ประกอบกับชั้นบรรยากาศอันหนานี้ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ จึงทำให้ ‘ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุดในระบบสุริยะของเรา’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์