ช่วงนี้เรามักจะได้เห็นผู้คนในโลกโซเชียลบ่นกันบ่อยๆ ว่าร้านอาหารโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หลายเมนูราคาสูงมาก กินข้าวนอกบ้านแต่ละครั้งต้องควักกระเป๋าหลายร้อยหรือเป็นพันบาท อันที่จริงตอนนี้หลายประเทศก็กำลังเจอปัญหานี้เช่นกัน
ที่สหรัฐฯ ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อต้นปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดเจนเลยว่า สำหรับคนอเมริกันนั้นการออกไปกินข้าวนอกบ้านแพงกว่าทำเองที่บ้าน หากเทียบกันแล้วราคาของชำเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ราคาอาหารในร้านอาหารพุ่งขึ้รถึง 5.1% จากภาวะเงินเฟ้อ
คนอเมริกันต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่ากินข้าวนอกบ้านมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากยุคหลังโควิด-19 ระบาด ผู้บริโภคทุ่มเงินไปกับการบริการมากกว่าสินค้า ทำให้ภาคบริการขาดแคลนแรงงาน ธุรกิจร้านอาหารบางแห่งจึงต้องเพิ่มค่าแรงเพื่อดึงดูดคนทำงาน สุดท้ายภาระก็มาตกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ยกตัวอย่างร้าน Chipotle ที่ต้องขึ้นค่าแรงขั่นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง บวกราคาอาหารเพิ่มอีก 4%
และข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยังพบว่า คนอเมริกันต้องใช้เงินซื้ออาหารมากกว่าที่เคยใช้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือหมดเงินรายได้หลังหักภาษีไปกับอาหารถึง 11.3% ในปี 2022
อาหารฟาสต์ฟู้ดก็กลายเป็นของหรู
ผลจากการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงในรัฐแคลิฟอร์เนียทำให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดส่งเสียงเตือนว่า ตอนนี้ลูกค้าบางคนกำลังมองว่าอาหารฟาสต์ฟู้ดคือสิ่งของหรูหราไปแล้ว เพราะทางร้านต้องขึ้นราคาอาหารเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนค่าจ้างแรงงาน
ไบรอัน ฮอม เจ้าของสาขาสมูทตี้ Vitality Bowls ในเมืองซานโฮเซเผยกับ Business Insider ว่า การขึ้นราคาอาหารอาจทำให้ลูกค้าหนี แถมลูกค้าบางคนยังบ่นว่าราคาสินค้าของเขาสูงมาก บางคนบอกว่าจะซื้อวัตถุดิบไปทำเองที่บ้าน เพราะการออกมากินฟาสต์ฟู้ดนอกบ้านกลายเป็นของหรูไปแล้ว ลูกค้าบางคนคิดหนักขึ้นว่าจะจ่ายไหวมั้ย เพราะราคาอาหารฟาสต์ฟู้ดไม่ได้อยู่ในระดับที่หลายคนเอื้อมถึงอีกต่อไป
โทนี นิกซ์ ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในแคลิฟอร์เนียที่มักจะกินข้าวนอกบ้านสัปดาห์ละ 3 ครั้งบอกกับ Business Insider ว่า “ปกติฟาสต์ฟู้ดควรเป็นตัวเลือกที่ราคาถูกกว่าการกินข้าวนอกบ้าน…ในร้านอาหาร แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว มันเริ่มแพงพอๆ กับการกินข้าวนอกบ้านเลย”
เฉพาะปีนี้ร้านของฮอมต้องปรับราคาขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรก 5% เมื่อเดือนมกราคมเมื่อค่าจ้างขึ้นต่ำปรับขึ้นจาก 17 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 17.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง และอีก 5-10% เมื่อเดือนเมษายน หลังทางการรัฐแคลิฟอร์เนียปรับค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดเป็น 20%
คนอเมริกันรัดเข็มขัดอย่างหนัก
นอกจากคนอเมริกันจะลดการกินข้าวนอกบ้านแล้ว บางคนยังรัดเข็มขัดอย่างหนักถึงขั้นลงมือปลูกผักหรือออกล่าสัตว์เองก็มี เพราะแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงบ้างแล้ว แต่ราคาอาหารบางอย่าง อาทิ วัตถุดิบทั่วไปอย่างเนื้อวัวและน้ำตาล ยังขยับขึ้นไม่หยุด และน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกระยะ
จากการสอบถามของ The Journal พบว่าคนอเมริกันหลายคนกินข้าวนอกบ้านน้อยลง บางคนใช้คูปองหรือโปรโมชันจากห้างร้าน รวมทั้งการซื้อครั้งละมากๆ เพื่อให้ได้ราคาถูกลง ไปจนถึงซื้ออาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย
หญิงชาวลาสเวกัสรายหนึ่งบอกว่าเธอกับสามีต้องลดการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงในเมนูต่างๆ อย่างเมนูคักเซียทอรีไก่ที่ต้องใช้วัตถุดิบเยอะ มาเป็นเมนูง่ายๆ ใช้วัตถุดิบอะไรก็ได้ที่เหลือใช้ในครัวอย่างแคสเซอโรลทูน่า ที่ใช้เพียงเส้นบะหมี่ ทูน่ากระป๋อง ครีมซุปเห็ดกระป๋อง หอมใหญ่ และกระเทียม โดยเธอบอกว่า “ถึงจะไม่เฮลตี้แต่ก็ยังถือว่าเป็นอาหาร”
ส่วน เบอร์นาร์ด บรอธแมน อดีตหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลวัยเกษียณ ประหยัดเงินด้วยการปลูกผักกินเองโดยใช้สวนของชุมชน ซึ่งใช้เงินค่าปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ราว 200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วยประหยัดเงินได้หลายร้อยดอลลาร์สหรัฐเมื่อเคล แครอต ผักเถาเลื้อย และมะเขือเทศออกผล
บางคนหวนคืนสู่วิถีธรรมชาติอย่างการล่าสัตว์ อย่างครอบครัวของ แนนซี แรนดัลล์ จากเมืองฮุสตันที่มีสมาชิก 6 คน พวกเขากินเนื้อกวาง เนื้อปลาที่ล่ามาได้ โดยแต่ละปีจะล่ากวางได้ 8 ตัวและนำมาแช่แข็งหรือถนอมอาหารเก็บไว้กินตลอดปี โดยที่ไม่ต้องซื้อเนื้อสัตว์อื่นเลย บางคนใช้คูปองส่วนลดของผู้สูงอายุและวางแผนการซื้อข้าวของและเมนูอาหารต่างๆ อย่างละเอียด

ร้านอาหารในตุรกีก็แพงไม่แพ้กัน
ราคาเครื่องดื่มในคาเฟ่และอาหารในร้านอาหารในตุรกีก็ทำให้ลูกค้าเลี่ยงการกินข้าวนอกบ้านเช่นกัน ราคาอาหารกลางวันเฉลี่ยในคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือในร้านเคบับอยู่ที่ราว 400 ลีราตุรกี หรือ 455 บาทต่อคน ขณะที่ร้านอาหารไฟน์ไดนิงราคาจะสูงกว่านี้ 3 เท่า
ตัวเลขเงินเฟ้อประจำปีของตุรกีขณะนี้อยู่ที่ 68.5% และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกจนถึงเดือนหน้า ทำให้อำนาจซื้อของคนตุรกีโดยเฉพาะชนชั้นกลางลดลงต่อเนื่อง จนหลายคนลดการกินข้าวนอกบ้าน และเมื่อเร็วๆ นี้ผู้คนที่นั่นยังรวมตัวกันเรียกร้องให้บอยคอตต์บรรดาร้านอาหารและคาเฟ่ โดยกล่าวหาว่าเจ้าของร้านเหล่านี้ตั้งราคาสูงเกินไปและลดปริมาณอาหารลง
ฟากเจ้าของร้านชี้แจงว่า พวกเขาไม่ใช่คนที่ต้องรับผิดชอบที่ราคาอาหารสูงแบบนี้ เพราะพวกเขาก็เดือดร้อนจากวิกฤตค่าครองชีพเช่นเดียวกัน
รามาซาน บิงกอล หัวหน้าสมาคมร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี โพสต์ถึงเรื่องนี้ใน X ว่า “ประชาชนมีสิทธิ์เรียกร้องให้ราคาอยู่ในระดับที่เอื้อมถึงได้ และเราจะหารือเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง”
ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงานล้วนดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น ตัวเลขอย่างเป็นทางการล่าสุดของตุรกีที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของอาหารและของชำอยู่ที่ 70%
ดินเซอร์ คาราโดกุ เจ้าของคาเฟ่ Kizilay เผยกับสำนักข่าว Xinhua ว่า “ที่ราคาข้าวของสูงขึ้นหลักๆ เป็นเพราะผู้ค่าส่ง พวกเขาซื้อจากผู้ผลิตมาถูกๆ แต่มาเพิ่มราคาตอนที่ขายให้กับธุรกิจต่างๆ อย่างของผม ทำให้ราคาสูงขึ้น” นอกจากนี้ ร้านของราคาโดกุต้องลดจำนวนพนักงานเพราะการปรับขึ้นค่าจ้าง รวมทั้งต้องแบกรับราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการเก็บภาษีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ด้วย
Photo by KHALED DESOUKI / AFP