จับตาทรัมป์-สีจิ้นผิง สงครามการค้าสหรัฐฯ VS จีน เหมือนเกมวัดใจว่าใครจะเริ่มเจรจาก่อน

2 พ.ค. 2568 - 09:22

  • รายงานล่าสุดจากโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนระบุเมื่อเช้าวันศุกร์ (2 พ.ค.) ว่าจีนกำลังประเมินความเป็นไปได้ในการเจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ นับเป็นข่าวที่ทั่วโลกต่างรอคอยที่จะได้ยิน

  • ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าการแย่งชิงอำนาจระหว่างทรัมป์และสีจิ้นผิง เปรียบเสมือน ‘เกมวัดใจ’ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามรักษาหน้าและหวังผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นก็คือ ‘การลดระดับความรุนแรง’ ของสงครามการค้า

  • ขณะที่นักวิชาการจากศูนย์ออสเตรเลียอธิบายว่า “มันเหมือนกับรถแข่งสองคันที่พุ่งเข้าหากัน ใครก็ตามที่หักหลบก่อน ก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า และในตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่อยากดูอ่อนแอ...”

talks-or-no-talks-who-blinks-first-in-us-china-trade-war-SPACEBAR-Hero.jpg

รายงานล่าสุดจากโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนระบุเมื่อเช้าวันศุกร์ (2 พ.ค.) ว่าจีนกำลังประเมิน ‘ความเป็นไปได้’ ในการเจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ นับเป็นข่าวที่ทั่วโลกต่างรอคอยที่จะได้ยิน เนื่องจากภาษีศุลกากรที่สูงอย่างน่าตกใจถึง 245% ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จนอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

“เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้แสดงเจตจำนงซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความเต็มใจที่จะเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับจีน จุดยืนของจีนยังคงเหมือนเดิม หากเราสู้ เราก็จะสู้จนถึงที่สุด หากเราจะเจรจา ประตูเจรจาก็เปิดอยู่...หากสหรัฐฯ ต้องการเจรจา ก็ควรแสดงความจริงใจและเตรียมพร้อมที่จะแก้ไขการกระทำที่ผิด และยกเลิกภาษีศุลกากรฝ่ายเดียว”

โฆษกกล่าวกับผู้สื่อข่าว

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากบัญชีเว่ยป๋อ (Weibo) ที่เชื่อมโยงกับสื่อของรัฐบาลจีนกล่าวว่า “สหรัฐฯ พยายามเริ่มต้นการหารือ และหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ทรัมป์อ้างว่าการหารือได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่จีนปฏิเสธ” 

“จีนไม่จำเป็นต้องเจรจากับสหรัฐฯ จากมุมมองของการเจรจา สหรัฐฯ น่าจะเป็นฝ่ายที่กังวลมากกว่าในขณะนี้” บัญชีเว่ยป๋อชื่อ ‘Yuyuantantian’ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) กล่าวในโพสต์เมื่อวันพฤหัสบดี (1 พ.ค.) 

ทว่าคำถามที่ตามมานั้นกลับไม่ใช่ “การหารือเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่” แต่ “การเจรจาจะเกิดขึ้นเมื่อใด ภายใต้สถานการณ์ใด และด้วยคำสั่งของใคร” ต่างหาก 

เกมวัดใจระหว่าง สหรัฐฯ VS จีน...ใครเริ่มเจรจาก่อน = คนนั้นอ่อนแอกว่า

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าการแย่งชิงอำนาจระหว่างทรัมป์และสีจิ้นผิง เปรียบเสมือน ‘เกมวัดใจ’ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามรักษาหน้าและหวังผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นก็คือ ‘การลดระดับความรุนแรง’ ของสงครามการค้า 

“ผมคิดว่าจะมีการโต้ตอบกันไปมาบ้าง เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีนก็ไม่อยากให้ดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นฝ่ายที่ยอมแพ้ แต่การลดระดับความรุนแรงจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจึงมีแรงจูงใจบางประการที่จะทำเช่นนั้น” จา เอียน ชง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

“มันเหมือนกับรถแข่งสองคันที่พุ่งเข้าหากัน ใครก็ตามที่หักหลบก่อน ก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า และในตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่อยากดูอ่อนแอ...ใครก็ตามที่ดูสิ้นหวังจะสูญเสียอำนาจในการต่อรอง ทั้งสองฝ่ายต้องการแสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายดูสิ้นหวังมากกว่า”

เหวิน-ตี้ ซุง สมาชิกฝ่ายวิชาการของศูนย์ออสเตรเลียอธิบายอีกนัยหนึ่ง

ความขัดแย้งที่แปลกประหลาดนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มุ่งหวังผลลัพธ์เดียวกัน แต่ไม่มีฝ่ายใดต้องการเป็นคนแรกที่จะริเริ่มเจรจา ส่งผลให้เกิดกลวิธี ‘ความคลุมเครือเชิงสร้างสรรค์’ : การใช้ภาษาที่คลุมเครือโดยเจตนาจนแต่ละฝ่ายอาจอ้างได้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก 

แต่วิธีหนึ่งในการหลีกหนีจากเกมวัดใจนี้ก็ต้องให้บุคคลที่สามเข้ามาไกล่เกลี่ยด้วยการเสนอทางออกให้ทั้งสองฝ่าย ซุงอธิบายว่าอีกทางเลือกหนึ่งคือ การตีความความหมายของคำว่า “‘อีกฝ่ายยื่นมือเข้ามาแล้ว’ หมายความว่าอย่างไร”  

ด้วยวิธีดังกล่าว ฝ่ายที่เข้ามาเจรจาก่อนจริงๆ ก็ยังจะสามารถระบุได้ว่าเป็นตัวเองเป็น ‘ฝ่ายตอบโต้’ ไม่ใช่ฝ่ายที่เดินเกมก่อน แต่ในกรณีของทรัมป์และสีจิ้นผิง นั่นหมายความว่าการเจรจาภาษีศุลกากรอาจเริ่มต้นขึ้นได้เมื่อผู้นำทั้งสองอ้างว่าได้รับชัยชนะบางประการในสงครามการค้า 

ทั้งทรัมป์ และสีจิ้นผิง ต่างก็อยากเป็น ‘ฮีโร่’ ในสายตาประชาชน

talks-or-no-talks-who-blinks-first-in-us-china-trade-war-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by JIM WATSON / AFP / ภาพถ่ายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ขวา) และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (ซ้าย) จับมือกันระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำที่คฤหาสน์มาร์อาลาโก ในเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2017

แม้การลดความตึงเครียดในสงครามการค้าจะเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นเป็นอันดับต้นๆ อีกประการสำหรับทรัมป์และสีก็คือ ‘การมอบชัยชนะให้กับคนในประเทศ’

“เห็นได้ชัดว่าทรัมป์ต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาทำให้จีนยอมแพ้ได้ ขณะที่ทางฝั่งจีน สีจิ้นผิงก็อาจต้องการแสดงให้ประชาชนของเขาและโลกเห็นว่าเขาสามารถทำให้ทรัมป์มีเหตุผล มีความเป็นกลาง และผ่อนปรนมากขึ้น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชง กล่าว

ผู้นำทั้งสองต่างก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร โดยในสัปดาห์นี้ ทรัมป์พยายามอย่างหนักเพื่อระงับความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากข้อมูลใหม่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวในไตรมาสแรกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2022 

ในขณะเดียวกัน สีจิ้นผิง ซึ่งก่อนจะมีการเก็บภาษีศุลกากรนั้น ก็ต้องเผชิญกับทั้งปัญหาการบริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และการว่างงาน แถมยังต้องทำให้ประชาชนจีนมั่นใจว่าเขาสามารถฝ่าฟันสงครามการค้า และปกป้องเศรษฐกิจที่ดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้

“ทั้งทรัมป์และสีต่างตระหนักดีว่า ณ จุดนี้ของสงครามการค้า ทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้ชัยชนะเหนืออีกฝ่ายอีกต่อไป”

ทรัมป์ตระหนักดีว่าตัวเขาเองจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ 100% ดังนั้นเขาจึงพยายามหาจุดผ่อนปรนที่จีนจะสามารถยอมให้เขาชนะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัตถุประสงค์ภายในประเทศ แม้ว่าจีนจะไม่เต็มใจ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชง กล่าว 

แต่สำหรับ สีจิ้นผิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชงกล่าวว่า “สถานการณ์ดังกล่าวเป็น ‘เกมสองชั้น’ ฝ่ายจีนจำเป็นต้องจัดการเจรจาทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ในประเทศ จีนเองก็จำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์เพื่อให้ผู้นำจีนยึดมั่นกับคำบอกเล่าที่ว่า ‘ตะวันออกกำลังรุ่งเรืองและตะวันตกกำลังเสื่อมถอย’ ได้”  

“ทั้งสองฝ่ายกำลังพูดคุยกัน และนั่นเป็นสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุข้อตกลงบางอย่างได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชง กล่าว 

แต่การเริ่มต้นการเจรจานั้น ‘ไม่ได้’ หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งเคยไม่ราบรื่นแม้แต่ก่อนที่ทรัมป์จะเริ่มสงครามการค้า จะใกล้จะมั่นคงขึ้น 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชงเชื่อว่า ‘การแสดงท่าที’ บ่งบอกว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่ถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามหาทางออก แต่ละฝ่ายต่างก็หวังว่าอีกฝ่ายจะยอมประนีประนอม ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเผชิญหน้ากันจนกว่าจะรู้ว่าฝ่ายใดจะยอมก่อน” 

ภาพปก : ประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง (ขวา) โบกมือให้สื่อมวลชนขณะที่เดินร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คฤหาสน์มาร์อาลาโก ในเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา วันที่ 7 เมษายน 2017 (Photo by JIM WATSON / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์