สงคราม-ความขัดแย้ง-สภาพอากาศ หนุนก่อการร้ายทั่วโลกกระหึ่ม

16 มี.ค. 2566 - 14:35

  • ไอเอสยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในปี 2022

  • บูร์กินาฟาโซ มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายพุ่งขึ้น 50% เป็น 1,135 ราย

  • จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานลดลง 9% เนื่องจากกลุ่มตาลีบันเปลี่ยนจากกลุ่มก่อการร้ายมาเป็นรัฐบาล

terrorist-attacks-more-deadly-despite-decline-in-the-west-SPACEBAR-Thumbnail
ขณะที่ทั่วโลกกำลังดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคมากมายทั้งการระบาดของโรคภัยต่างๆ ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาเศรษฐกิจ ผลวิจัยล่าสุดก็เผยว่าการก่อการร้ายในระเทศแถบตะวันตกลดลง และการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนเป็นปัจจัยกระตุ้นการก่อการร้าย 

รายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลกประจำปี 2023 จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (ไออีพี) ระบุว่า การก่อการร้ายมีความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง 

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานลดลง 9% เนื่องจากกลุ่มตาลีบันเปลี่ยนจากกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นรัฐบาล และกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) และเครือข่าย ยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในปี 2022 จากการก่อเหตุใน 21 ประเทศ 

รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า ศูนย์กลางการก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศที่เผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ความขัดแย้ง และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮล ซึ่ง 8 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคนี้มีคะแนนชี้วัดการขาดแคลนน้ำและอาหารย่ำแย่ที่สุดในรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (อีทีอาร์) ประจำปี 2022 

ประเทศบูร์กินาฟาโซ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายพุ่งขึ้น 50% เป็น 1,135 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้น 8% ส่งผลให้ประเทศนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด 

สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารไออีพี กล่าวว่า “การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพ โดยสถานการณ์แทบไม่ดีขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา ขณะที่เหล่านักรบญิฮาดได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปรับตัวได้ด้วยการแสวงหาพื้นที่ที่ไร้เสถียรภาพเพื่อปฏิบัติการโจมตี จึงเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า การจัดการกับการก่อการร้ายจำเป็นต้องมีวิธีการที่เป็นระบบ รวมถึงการจัดการกับการปกครองที่ย่ำแย่ ความสามารถของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ ความยากจน ทุกข์ของประชาชน และการปฏิบัติการทางทหาร” 

“แม้ว่าความขัดแย้งในยูเครนจะดึงความสนใจและทรัพยากรไปจากทั่วโลก แต่การต่อสู้กับการก่อการร้ายทั่วโลกยังคงต้องเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญต่อไป ขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การตอบสนองของประชาคมโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน และตอนนี้้ไม่ใช่เวลาที่เราจะใจเย็นได้ การเสียความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำไปสู่ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต การต่อสู้กับการก่อการร้ายเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่บรรดามหาอำนาจของโลกมีเป้าหมายร่วมกัน” สตีฟ คิลเลเลีย กล่าว 

ที่ผ่านมา หลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐทุ่มเททรัพยากรให้กับการทำสงครามในยูเครน และทำให้เกิดความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคซาเฮล ซึ่งรัสเซียและฝรั่งเศสลดจำนวนกองกำลังทหารลง 

ส่วนสถานการณ์ในซีเรีย เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับแนวโน้มที่ดีขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เนื่องจากกิจกรรมของกลุ่มไอเอสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมากกว่าปี 2564ถึง 42% แม้ว่าจำนวนครั้งของการก่อเหตุจะลดลงเล็กน้อย 

นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพที่เพิ่มขึ้น เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่กลุ่มไอเอสปฏิบัติการอยู่ ในปี 2022 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอสในซีเรียอยู่ที่ 344 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น 

สงครามและความขัดแย้งรุนแรงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของการก่อการร้าย โดย 88% ของการก่อเหตุและ 98% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้ง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3k5FTMr1vdpfCp7xdL87ej/5a7385d401323e1f52780b19b886edff/info-errorist-attacks-more-deadly-despite-decline-in-the-west
ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เป็นผลมาจากระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ทำให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น 

รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ ประจำปี 2022  ระบุว่า มี 27 ประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่รุนแรง ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นทางสังคมในระดับต่ำ โดยประเทศเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในสามภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้ ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด 

ก่อนจะมีการเผยแพร่รายงานนี้ ก็เกิดการโจมตีของก่อการร้ายในหลายพื้นที่เสี่ยง รวมถึงอัฟกานิสถาน โดย ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด หัวหน้าโฆษกรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานกล่าวว่า กองกำลังอัฟกานิสถานได้บุกโจมตีสถานที่กบดานของกลุ่มไอเอส ในเขตตำรวจภูธรภาค 8 ของกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน 

มูจาฮิดทวีตข้อความว่า “หน่วยรบของรัฐบาลได้โจมตีสถานที่กบดานสำคัญของกลุ่มไอเอสในเขตการ์ตะ นอว์ พื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 8 ช่วงเย็นของวันที่ 13 ก.พ. และสังหารผู้ก่อการร้ายไปหลายราย การปฏิบัติการดำเนินไปอย่างช้าๆ และระมัดระวังมาก เนื่องจากเป็นเขตที่อยู่อาศัย จึงต้องปกป้องพลเรือนด้วย 

ขณะเดียวกัน พบชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ระบุสัญชาติแฝงตัวอยู่ในกลุ่มติดอาวุธไอเอส โดยกลุ่มติดอาวุธนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายในกรุงคาบูลเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย 

คาลิด ซาดราน โฆษกตำรวจกรุงคาบูล ร่วมยืนยันปฏิบัติการดังกล่าวโดยบอกว่า การกวาดล้างสถานที่กบดานของกลุ่มติดอาวุธไอเอสในเขตตำรวจภูธรภาค 8 ของกรุงคาบูลยังคงดำเนินต่อไป 

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.เกิดเหตุระเบิดใกล้กระทรวงการต่างประเทศอัฟกานิสถานในกรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บอีกมากกว่า 40 คน ซึ่งตำรวจกรุงคาบูล ประณามว่าเป็นการกระทำของคนขลาดที่มีเป้าหมายทำร้ายชาวอัฟกัน 

รัฐบาลตาลีบัน เปิดเผยว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. เวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลา 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย คนร้ายพยายามบุกรุกเข้าไปในอาคารกระทรวงแต่เมื่อถูกขัดขวางจึงจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย 

สเตฟาโน ซอสซา ผู้อำนวยการองค์กรการกุศลโรงพยาบาลฉุกเฉิน ในกรุงคาบูล กล่าวว่า มีการนำส่งผู้บาดเจ็บมากกว่า 40 คนมารักษา ถือเป็นเหตุโจมตีที่มีจำนวนผู้บาดเจ็บมากที่สุดในรอบ 1 ปี และเกิดขึ้นในเขตกรีนโซนที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายประเทศ รวมถึงตุรกีและจีน รวมทั้งสถานที่ของทางการอัฟกานิสถาน 

ดูเหมือนว่าการโจมตีของก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจะดุเดือดไม่แพ้การทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเลยทีเดียว..

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์