อนาคตไทยอาจเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้เทสลาแทนจีน

15 พ.ค. 2567 - 09:15

  • สงครามการแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกำลังดุเดือด ล่าสุดสหรัฐฯ สกัดจีนด้วยการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีน 100% เทสลาที่มีโรงงานผลิตในจีนด้วยจึงเริ่มมองหาตัวเลือกอย่างไทย “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ที่มีข้อได้เปรียบมากกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน

thailand-detroit-of-asia-replace-china-automaker-tesla-SPACEBAR-Hero.jpg

สงครามการแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจากฝั่งสหรัฐฯ และจีนกำลังดุเดือด รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังหาทางจำกัด “การหลั่งไหลเข้าตลาดสหรัฐฯ” ของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่เทสลาของอีลอน มัสก์ ก็มีโรงงานผลิตที่จีนด้วย 

เรื่องนี้สำนักข่าว CNBC มองว่า ทั้งหมดนี้ทำให้มัสก์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก ทั้งต้องขยายฐานเพิ่มการเติบโต ทั้งต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น 

และดูเหมือนว่า เทสลา จะให้ความสนใจกับศักยภาพของเอเชียนอกเหนือจากจีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ร้อนแรงมากขึ้น และนอกเหนือจากความสนใจในอินเดียแล้ว เทสลายังจับตาดูไทยอย่างใกล้ชิด

CNBC ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยพยายามเจรจากับเทสลาในช่วงที่มัสก์กำลังมองหาที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ โดยไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกมาระยะหนึ่งแล้วเช่นเดียวกับอินเดีย ที่มัสก์มีแผนไปเยือนก่อนจะยกเลิกไปแล้วไปเยือนจีนแทน 

แน่นอนว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพในการเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ให้เทสลา เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพายุโรปและสหรัฐฯ มากเกินไป และเป็นทางเลือกที่แตกต่างสำหรับการผลิต นอกเหนือจากการดำเนินงานที่มีอยู่ในจีนและความสนใจในอินเดีย

thailand-detroit-of-asia-replace-china-automaker-tesla-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เทสลาโมเดล Y หน้าโรงงานผลิตในเมืองกรึนไฮด์ ใกล้กับกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี Photo by Odd ANDERSEN / AFP

ดีทรอยต์แห่งเอชีย 

ไทยซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” มานานหลายปีแล้ว เนื่องจากมีแรงงานที่มีทักษะและประสบความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทผลิตรถยนต์ต่างชาติหลายแห่ง สามารถช่วยให้เทสลาลดการพึ่งพาจีนได้ หากมีโรงงานผลิตในไทย เทสลาสามารถให้บริการตลาดในเอเชียและตลาดอื่นๆ ได้ และอาจเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบที่จีนทำได้ 

เครก เออร์วิน นักวิเคราะห์อาวุโสของธนาคารเพื่อการลงทุน Roth Capital เผยว่า “ไทยสามารถให้ผลประโยชน์ที่คล้ายคลึงกับจีนในแง่ของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้นทุนต่ำ ไทยเป็นตัวเลือกหนึ่งเพราะสามารถมอบการเข้าถึงซัพพลายเชนได้อย่างต่อเนื่องแบบเดียวกับโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ แต่ไม่ถูกรัฐบาลจีนควบคุม” 

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เนื่องจากรับบาลสหรัฐฯ ปรับลดเงินลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนจากจีนลง ในขณะที่รัฐบาลไทยเงินเงินอุดหนุนและลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและดึงดูดบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติให้เข้ามาผลิตในไทย 

เซธ โกลด์สตีน นักกลยุทธ์ด้านหลักทรัพย์ของ Morningstar เผยว่า “การส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังตลาดในสหรัฐฯ หรืออียูมีนัยทางการเมืองน้อยกว่าเมื่อเทียบกับส่งออกจากจีน” และแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยอาจจะไม่เข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุนจากกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) แต่จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงๆ อย่างที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากรถยนต์ที่มาจากจีน และขณะนี้ตลาดยังกังวลว่าภาษีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง แต่รัฐบาลไบเดนก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ล่าสุดเตรียมเก็บภาษีรถบนต์ไฟฟ้าจากจีน 100% ในสัปดาห์หน้า 

ไทยคือผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก 

สตีเวน ดายเออร์ อดีตผู้บริหารฟอร์ดเผยว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตรถยนต์ที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แรงงานที่มีมักษะ และนโยบายรัฐบาล และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องมีอุปสงค์เพียงพอรองรับอุปทานที่ผลิตในท้องถิ่น หลักการของอุตสาหกรรมรถยนต์คือ “ผลิตในที่ที่ขาย” ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ภาษีศุลกากร รวมทั้งลดความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนเงินตรา 

ตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโต และไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอยู่แล้ว บรรดาค่ายรถยนต์ อาทิ โตโยต้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่างก็ใช้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค 

ไทยตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ของโลกผ่านการให้ผลประโยชน์ด้านภาษีและการให้เงินอุดหนุน แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะในการปรับเปลี่ยนการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันให้พร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 

ถูเล่อ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Sino Auto Insights ในกรุงปักกิ่งที่เคยทำงานอยู่ทั้งในดีทรอยต์และจีนเผยว่า ไทยมีข้อได้เปรียบจริง แต่ต้องทิ้งไพ่ให้ถูกใบด้วย “ทุกประเทศในอาซียนต่างต้องการดึงโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้าไปในปะเทศตัวเอง แต่ผมบอกเลยว่าไทยและเวียดนามคือสองประเทศที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่น เพราะมีประสบการณ์ด้านการผลิตรถยนต์มาก่อนแล้ว”  

นอกจากนี้ การค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 15 ล้านตันของไทย ยังทำให้ไทยได้ปรียบคู่แข่งในเอเชียในการดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า  

โกลด์สตีนทิ้งท้ายว่า “หากไทยกลายเป็นตลาดที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนต่างๆ ได้ในราคาต่ำและส่งออกได้อย่างเสรี ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ๆ รวมทั้งเทสลาจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยแน่” 

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์