ชัยชนะของประชาธิปไตยไทย จุดเปลี่ยนสัมพันธ์รัฐบาลทหารเมียนมา

19 พ.ค. 2566 - 10:31

  • ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพเมียนมาถือว่าอยู่ในขั้นเหนียวแน่น

  • อาเซียนตกลงกันแล้วว่าจะไม่เชิญบรรดานายพลและบุคคลที่รัฐบาลทหารเมียนมาแต่งตั้งเข้าร่วมการประชุม แต่ไทยกลับเชิญรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมามาประชุมที่กรุงเทพฯ

  • ผู้เชี่ยวชาญมองรัฐบาลใหม่ของไทยจะเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

thailand-election-myanmar-junta-democratic-SPACEBAR-Thumbnail
การเลือกตั้งที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้นนอกจากจะสำคัญกับอนาคตของประเทศไทยแล้ว ยังอาจส่งผลต่อเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและความเป็นไปของกลุ่มอาเซียนด้วย  

ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพเมียนมาถือว่าอยู่ในขั้นเหนียวแน่น รวมทั้งในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ 

ไทยกับเมียนมาร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการระดับสูงเมื่อปี 2013 เพื่อกระชับความร่วมมือกันทางด้านการทหารระหว่างทั้งสองประเทศ และมีการส่งเจ้าหน้าที่มาพบปะกันเป็นปกติ แต่ครั้งที่นานาชาติจับตามองมากที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้คือ การพบกันระหว่างพลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย กับมินอ่องหล่ายที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ของเมียนมาเมื่อวันที่ 19-21 มกราคมที่ผ่านมา 

ที่ได้รับความสนใจก็เพราะการพบกันของทั้งคู่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัพย์สินของลูกชายและสูกสาวของมินอ่องหล่ายถูกทางการไทยยึดไว้เป็นของกลางเพราะเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด หลังบุกเข้าค้นคอนโดมิเนียมหรูของ ตุน มิน ลัต ที่เป็นคนกลางจัดหาอาวุธให้กองทัพเมียนมามาหลายปีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 

หลายฝ่ายมองว่าการพบกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งนั้นเป็นการดีลกันเรื่องทรัพย์สินของลูกๆ ของมินอ่องหล่าย และเพื่อกรุยทางให้กองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย 

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังถูกมองว่าสนับสนุนเมียนมาในเวทีโลกอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะเวทีอาเซียน 

หลังจากกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หลายประเทศในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารเมียนมาทันที แต่ไทยกลับมีท่าทีตรงกันข้าม โดยหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เชิญ วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ลาว เวียดนาม ทั้งๆ ที่อาเซียนตกลงกันแล้วว่าจะไม่เชิญบรรดานายพลและบุคคลที่รัฐบาลทหารเมียนมาแต่งตั้งเข้าร่วมการประชุม คำเชิญของไทยจึงสร้างความไม่พอใจให้อินโดนีเซียและสิงคโปร์ 

วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ระบุในจดหมายตอบกลับคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศไทยโดยยืนยันว่า ผู้นำอาเซียนย้ำจุดยืนใน “ฉันทมาติ 5 ข้อ” และไม่เชิญเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับการเมืองในการประชุมของอาเซียนและการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ “การประชุมใดๆ ที่จัดขึ้นโดยอาเซียนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ” 

นักการทูตรายหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อเผยว่า “แม้แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งของเวียดนามซึ่งเข้าร่วมการประชุมก็ไม่พอใจกับการพูดคุยในที่ประชุม” ขณะที่คณะทูตานุทูตตีความการเชิญเจ้าหน้าที่เมียนมาของไทยว่าเป็นการรับรองสถานะของรัฐบาลทหารเมียนมา 

ขณะที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งสองพรรคได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 ของเมียนมา จึงไม่แปลกที่หลังจากพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดความหวังว่าท่าทีของไทยต่อรัฐบาลทหารเมียนมาจะเปลี่ยนไป 

มะขิ่นเต็ต นักวิจัยจากเมียนมาที่ลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า “หากพรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งรัฐบาล พวกเขาอาจสนับสนุนการคเลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา อาจจะทำโดยร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ฉันกังวลว่าจีนที่สนับสนุนมินอ่องหล่ายจะกดดันรัฐบาลใหม่ของไทย” 

มะขิ่นเต็ตเผยอีกว่า “รัฐบาลทหารไทยและรัฐบาลทหารเมียนมามีความสัมพันธ์กันแบบ ‘พี่ใหญ่น้องเล็ก’ ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตที่แข็งแกร่งกับรัฐบาลทหารเมียนมา และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ แหล่งก๊าซในทะเลอันดามัน ความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้พวกเขาบ่อนทำลายการปฏิวัติของพวกเรา” 

ชาร์ลส์ ซานติอาโก จากสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) เผยว่า “หากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาล ความสัมพันธ์กับเมียนมาจะเปลี่ยนแปลง จุดยืนของอาเซียนก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน และผมคิดว่าคุณจะได้เห็นวิธีแก้ปัญหาในเมียนมาร์ที่เร็วขึ้นแทนที่จะเป็นทางตัน” 

เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในประเทศไทยที่แสดงความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของไทยจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศต่อเมียนมาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของอาเซียน 

ทว่า แซค อาบูซา ศาสตราจารย์จาก National War College ของสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอาเซียน ตั้งคำถามว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะท้าทายความนิยมชมชอบเมียนมาของกองทัพไทยได้หรือไม่ “รัฐบาลใหม่ของไทยจะต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวัง พวกเขาต้องไม่สู้กับกองทัพไทยที่ชื่นชอบรัฐบาลทหารเมียนมา” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์