ลำไยของไทยกลายเป็นดาวเด่นในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดจีนที่นำเข้าลำไยจากไทยมากที่สุด แต่ความสำเร็จนี้มาพร้อมกับความท้าทายและความเสี่ยงที่ว่า ตลาดลำไยไทยอาจถูกจีนผูกขาดและกุมอำนาจต่อรองทั้งหมดไว้ในมือ กระทบความยั่งยืนของอุตสาหกรรมลำไยไทยในระยะยาว
ปีที่แล้วไทยส่งออกลำไยไปจีน 327,296 ตัน มูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 95% ของลำไยที่จีนนำเข้าทั้งหมด แต่อีกด้านหนึ่งตำแหน่งแชมป์นี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงนั่นคือ ไทยพึ่งพาตลาดจีนเพียงตลาดเดียว
นิวัฒน์ กันทะวงค์ ผู้ประกอบการส่งออกลำไยอบแห้งวัย 42 ปีจาก อ.พร้าวของเชียงใหม่เผยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตลำไยไทยกับผู้ซื้อชาวจีนให้สำนักข่าว BenarNews ฟังว่า “เหมือนกับพวกเขากำลังควบคุมการผลิตด้วยตัวเอง พวกเขาคุมงานทุกอย่างที่เราทำ ครั้งหนึ่งมาอยู่หลายเดือน”
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปี 2023 มูลค่าการส่งออกลำไยของไทยอยู่ที่ 16,500 ล้านบาท โดยส่งออกไปจีนมากที่สุด มูลค่า 12,900 ล้านบาท หรือ 78% ของทั้งหมด
การพึ่งพาจีนแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของอำนาจ เนื่องจากผู้ซื้อชาวจีนจะควบคุมราคาและมาตรฐานคุณภาพผ่านล้งหรือโรงงานคัดบรรจุในท้องถิ่น ทำให้ชาวสวนลำไยไทยแทบไม่มีอำนาจต่อรอง
ตอนนี้ตลาดลำไยถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยผู้ซื้อชาวจีน ทั้งลำไยสดและลำไยแห้ง เมื่อความต้องการจากจีนสูง ราคาก็จะดี และทุกคนก็แฮปปี้ แต่เมื่อผลผลิตเกินความต้องการของพวกเขา โรงงานลำไยแห้งและชาวสวนลำไยก็ลำบาก อำนาจต้อรองอยู่ในมือของผู้ซื้อชาวจีนทั้งหมด
นิวัฒน์
ข้อมูลของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ระบุว่า การนำเข้าผลไม้ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้เมืองร้อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 ไปแตะ 16,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว โดยมีประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นซัพพลายเออร์หลัก
ปีนี้คาดว่าผลผลิตลำไยของไทยจะอยู่ที่ 1,438,137 ตัน เพิ่มจากปีที่แล้ว 2% และคาดว่าจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่และลำพูนซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกหลักจะมีผลผลิต 994,953 ตัน หรือ 69% ของผลผลิตทั้งหมด
จีนคุมตลาด
พ่อค้าคนกลางมีบทบาทสำคญในตลาดลำไยและผลไม่อื่นๆ ของไทย โดยดำเนินการผ่านโรงคัดบรรจุหรือล้ง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรระบุว่า โรงคัดบรรจุบางแห่งเป็นนอมินีของผู้ซื้อชาวจีนที่อาจจะแต่งงานกับคนไทยหรือให้คนไทยออกหน้า แต่เงินทุนมาจากจีน การดำเนินการลักษณะนี้มักจะสร้างปัญหา อาทิ กดราคาชาวสวน
ในตลาดรับซื้อลำไย ถึงเราจะมีล้งที่เป็นของคนไทย แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นนอมินีของทุนจีน และแม้จะเป็นล้งไทยจริงๆ สุดท้ายแล้วปลายทางของลำไยก็ไปอยู่ในตลาดจีนอยู่ดี ราคาถูกตั้งไว้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นล้งไทยหรือล้งจีน เราหนีอิทธิพลของพวกเขาไม่พ้นจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลอ้าแขนรับการลงทุนจากจีน
ชวัลวิทย์ ใจกาศ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 27 ปีผู้ปลูกลำไยใน อ.บ้านโฮ่ง ของลำพูนเผยกับ BenarNews
อำนาจในการกำหนดราคาของล้งจีนสร้างความไม่แน่นอนให้เกษตรกรที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าราคาจะครอบคลุมต้นทุนการผลิตหรือไม่ หากราคาต่ำในปีที่ลงทุนไปแล้ว เกษตรกรอาจขาดทุนหรือเป็นหนี้ เนื่องจากลำไยใช้เวลาหลายปีในการปลูกและให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง การลงทุนผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบระยะยาว
“ตัวอย่างคือ ในปีที่ผลผลิตลำไยเยอะ ล้งจะลดราคารับซื้อ หรือที่หนักๆ เลยคือ หยุดรับซื้อไปเลย หากปีไหนที่ผลผลิตน้อยอย่างปีนี้ ลำไยราคาดี เพราะผลผลิตโดยรวมน้อยลง ล้งจึงต้องตั้งราคารับซื้อสูงๆ เพื่อให้มีของ แล้วพวกนักการเมืองก็นำไปอ้างว่าราคาดีเพราะรัฐบาล” ชวัลวิทย์เล่า
ล้งจีนสามารถตั้งราคารับซื้อและคุณภาพตามที่พวกเขาต้องการ ทำให้ล้งเหล่านี้แทบไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ แถมยังผูกขาดตลาดลำไยไว้เพียงผู้เดียว เจ้าของสวนลำไยต้องยอมรับชะตากรรมที่ผู้ซื้อเหล่านี้กำหนด โดยชวัลวิทย์เล่าว่า สถานการณ์นี้ทำให้จำนวนเกษตรกรชาวสวนลำไยลดลง
"เจนวาย เจนซีอย่างผมมักจะทำงานประจำที่ได้เงินเดือนแน่นอนหรือมีความมั่นคงมากกว่าทำสวนลำไย ภาพจำที่สมาชิกครอบครัวป็นหนี้เพราะทำสวนลำไย และความไม่มั่นคงเรื่องรายได้ ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ออกไปหางานที่อื่น มีแค่กลุ่มคนรุ่นเก่า เจนเอ็กซ์ และจนวายบางคนที่ยังทำสวนลำไย ที่หนักสุดคือ บางคนตัดสินใจขายสวนเพราะไม่มีใครทำต่อแล้ว"
วิทยานิพนธ์ปี 2022 ของมหาลิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง “ล้งจีนกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวสวนลำไยในจังหวัดลำพูน” พบว่า การเข้ามาของล้งจีนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรท้องถิ่นอย่างมาก ทั้งการสูญเสียอำนาจต่อรองและการต้องพึ่งพาผู้ซื้อเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
“แม้ว่าการขยายตัวของล้งจีนจะเพิ่มโอกาสในการส่งออก แต่ก็นำไปสู่การสูญเสียพันธุ์ลำไยและเกิดการผูดขาดตลาด ทำให้ชาวสวนต้องเผชิญความเสี่ยงใหม่ๆ และต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต” วิทยานิพนธ์ระบุ

ต้องเพิ่มความหลากหลาย
ดลวรรฒ สุนสุข นักวิจัยของ The Glocal เผยว่า ในอดีตลำไยอบแห้งเป็นสินค้าส่งออกยอดนิยมไปยังประเทศจีน เพราะคนจีนมองว่าเป็นอาหารสุขภาพชั้นสูงและมักจะนำไปเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ แต่การเปลี่ยนแปลงของประชากรในจีนอาจเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคลำไยอบแห้ง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะซื้อลำไยเป็นของขวัญน้อยลง
“อุตสาหกรรมส่งออกลำไยต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมองหาตลาดอื่นนอกเหนือจากจีน” ดลวรรฒเผยกับ BenarNews
รังสรรค์ มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน เคยพูดไว้ว่า “หากวันหนึ่งพวกเขาหยุดซื้อ ระบบลำไยของไทยทั้งหมดอาจพังทลายลง เราควรมองหากระบวนการแปรรูปและตลาดใหม่ๆ ผมอยากลองทำสุรา เบียร์ หรือไวน์จากลำไย เราจะได้ไม่ต้องส่งออกไปจีนแห่งเดียว”