รัฐบาลไทยเล็งฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาสำรวจแหล่งน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ

11 ต.ค. 2567 - 06:44

  • นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เผยว่า การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันคือ 1 ใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาล

  • ในอัตราการบริโภคในปัจจุบันนี้ ก๊าซธรรมชาติของไทยอาจหมดลงภายใน 5-10 ปี

thailand-restart-negotiations-cambodia-explore-offshore-oil-gas-field-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลใหม่ของไทยเตรียมฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันซึ่งมีมูลค่าอย่างน้อย 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ที่ทั้งสองประเทศพิพาทกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970  

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเผยว่า การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันคือ 1 ใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาล เนื่องจากไทยต้องการเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองที่กำลังลดลง และเพื่อควบคุมค่าไฟฟ้าและค่านำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังเพิ่มขึ้น 

ก่อนหน้านี้ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นพ้องกันเพื่อหารือวิธีการนำทรัพยากรจากพื้นที่ทับซ้อนขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติราว 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรลมาขึ้นมาใช้ร่วมกัน 

แต่การเจรจาก็ไม่ง่าย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีประเด็นพิพาททางการทูต และประเด็นความอ่อนไหวต่อทั้งสองประเทศกรณีอำนาจอธิปไตย ส่งผลให้การเจรจาชะงักลงตั้งแต่ปี 2001 เมื่อทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตจะต้องหารือควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน 

อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางคนในไทยมองว่า ความเร่งด่วนของแหล่งพลังงานสำรองและการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง และการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต จะช่วยให้การเจรจาก้าวหน้า จนทั้งสองประเทศเริ่มเดินหน้าสำรวจได้ทันที และแก้ไขปัญหาเรื่องอาณาเขตในภายหลัง 

พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในสภาเมื่อเดือนที่แล้วว่า “เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขเรื่องความเห็นต่างกรณีเขตแดน เราแค่ต้องพูดคุยกันอย่างเพื่อนบ้านและพยายามใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานและลดค่าสาธารณูปโภค” 

เปญ โบนา โฆษกรัฐบาลกัมพูชาเผยกับ Bloomberg News ว่า กัมพูชาพร้อมจะหารือเรื่องนี้กับไทย “หากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม เราก็พร้อมจะเจรจาต่อ” 

ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่รองรับความต้องการใช้พลังงานของไทยถึง 60% โดยการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานดังกล่าว และในอัตราการบริโภคในปัจจุบันนี้ ก๊าซธรรมชาติของไทยอาจหมดลงภายใน 5-10 ปี  

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของไทยในการตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น เนื่องจากไทยซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และการท่องเที่ยวพยายามดึงดูดการลงทุนด้าน Data Center ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาก 

คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเผยว่า “หากไม่ลงมือทำ เราจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากกว่านี้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าแหล่งพลังงานที่ยังไม่ได้สำรวจนี้จะช่วยขยายอุปทานก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของไทยไปได้อีกอย่างน้อย 20 ปี” 

การแบ่งปันผลประโยชน์ 

พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเผยว่า ทั้งไทยและกัมพูชาริเริ่มโมเดลพื้นที่ทับซ้อนซึ่งมีแหล่งพลังงานมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านล้านบาท  

หากการเจรจาประสบความสำเร็จจะเป็นประโยชน์กับหลายบริษัท อาทิ เชฟรอน เชลล์ และปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้สัมปทานในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ยังไม่สามารถลงมือสำรวจในพื้นที่พิพาท ส่วน ConocoPhillips และ TotalEnergies SE ก็มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่าได้รับสัมปทานในกัมพูชา 

แม้ว่ากัมพูชาจะต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศแทบทั้งหมด แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งเข้าสู่โต๊ะเจรจา กัมพูชายังขาดอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แข็งแกร่ง และยังต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงานและเชื้อเพลิง ซึ่งต่างกับประเทศไทย 

รายงานเมื่อปีที่แล้วของบริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ระบุว่า “ไม่ว่ารูปแบบการแบ่งรายได้จะเป็นอย่างไร ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยจะต้องทำงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทไทยก็จะเป็นผู้ชนะรายใหญ่” 

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านๆ มาเคยมีการสำรวจร่วมกัน อาทิ ในปี 1979 ไทยตกลงกับมาเลเซียเกี่ยวกับเขตแดนร่วมกันในอ่าวไทยตอนล่าง โดยกำหนดให้พื้นที่ 7,250 ตารางกิโลเมตรเป็นโครงการพัฒนาร่วมกัน ส่วนข้อพิพาทกับกัมพูชานั้น โฆษกรัฐบาลไทยเผยว่า การเจรจาคือเรื่องที่นายกฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ  แต่โฆษกคนดังกล่าวปฏิเสธที่จะระบุกรอบเวลา 

อย่างไรก็ดี บางคนมองว่าไทยควรหาทางแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนก่อนเช่นที่ทำกับมาเลเซีย แล้วจึงหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการสำรวจเชิงพาณิชย์ 

สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเผยว่า “หากยังเดินหน้าต่อ แทนที่การเจรจาจะจบลง จะเป็นรัฐบาลเสียเองที่จะจบสิ้น” การประนีประนอมใดๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไทยมีแต่จะทำให้สาธารณชนไม่พอใจรัฐบาล “เราต้องเจรจาเรื่องการกำหนดเขตแดนก่อน นั่นเป็นวิธีเดียว” 

Photo by LLUIS GENE / AFP, Photo by Chanakarn LAOSARAKHAM / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์