สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า ไทยมีแผนเพิ่มเพดานเงินกู้ของรัฐบาลอีก 8% ในปีงบประมาณที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
แหล่งข่าวของ Bloomberg ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อเผยว่า ราว 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของเงินกู้ทั้งหมด 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.6 ล้านล้านบาท จะเป็นเงินกู้รอบใหม่เพื่อนำมาโปะการขาดดุลงบประมาณเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะถูกนำมาใช้ในการรีไฟแนนซ์และปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประชุมหารือกับผู้ค้าตราสารหนี้และผู้จัดการกองทุนเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ย.)
จินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังปฏิเสธให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการกู้เงินดังกล่าว โดยบอกว่า จะเปิดเผยข้อมูลได้หลังจากคณะกรรมการบริหารจัดการหนี้อนุมัติโครงการในวันพุธ และว่าแม้ว่าคณะกรรมการจะพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนดังกล่าวได้ แต่ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก
รัฐบาลตั้งเป้ากู้เงินเพิ่ม 7.6% ในปีงบประมาณปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนระหว่างการแถลงนโยบายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกหญิงของไทยพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนซึ่งตามหลังประเทศเพื่อนบ้านด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 1.9% ในช่วงเกือบ 10 ปีที่รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารเข้ามาปกครอง
ปีนี้ตราสารหนี้ของไทยจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนต่างชาติ 7% ซึ่งสูงกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน นอกจากนี้เงินบาทยังแข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM currencies) และแข็งค่าขึ้น 3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
แหล่งข่าวของ Bloomberg เผยว่า เงินกู้ราว 1.3 ล้านล้านบาทจะระดมผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล ส่วนที่เหลือระดมผ่านตั๋วเงินคลัง พันธบัตรออมทรัพย์ แลกเปลี่ยนตราสารหนี้รุ่นเดิมกับตราสารหนี้รุ่นอื่นที่นักลงทุนถืออยู่ และตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยรัฐบาลมีแผนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4.2% ในปีงบประมาณหน้า โดยคาดว่าจะขาดดุลงบประมาณ 866,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวเผยกับ Bloomberg อีกว่า รัฐบาลตรียมเปิดประมูลพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าไม่เกิน 322,000 ล้านบาทระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ โดยเมื่อ 3 เดือนก่อนเปิดประมูลไปแล้ว 306,000 ล้านบาท
Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP