วิจัยชี้ลาพักร้อน 8 วันเหมาะสุด ไม่น้อยไปจนเหมือนไม่ได้หยุด ไม่มากไปจนเบื่อ

3 ม.ค. 2568 - 03:00

  • วิทยาศาสตร์ยืนยันการลาพักร้อนที่เหมาะที่สุดคือ 8 วัน 

  • งานวิจัยระบุว่า ลาพักร้อนสั้นๆ หลายครั้งๆ ดีกว่าลาครั้งเดียวแบบยาวๆ 

the-ideal-length-of-vacation-is-8-days-according-to-science-SPACEBAR-Hero.jpg

หากพูดถึงเรื่องการวางแผนลาพักร้อนออกไปท่องเที่ยว คำถามใหญ่เลยคือ จะไปกี่วันดี จะใช้วันลาพักร้อนครั้งเดียวแล้วไปเที่ยวยาวๆ หรือจะแบ่งเป็นช่วงสั้นๆ ไปเที่ยวบ่อยๆ หรือจะลาให้ตัวเองมีช่วงวันหยุดยาวเยอะๆ  แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับงาน งบ และสไตล์ของเราด้วย แต่วิทยาศาสตร์ก็มีคำตอบในเรื่องนี้เช่นกัน 

มหาวิทยาลัยตัมเปเรของฟินแลนด์ลงมือศึกษาเรื่องนี้ด้วยการติดตามนักท่องเที่ยว 54 คนตลอดการเดินทางช่วงพักร้อน โดยวัดความสุขและความพึงพอใจของทั้ง 54 คนในช่วงวันหยุดพักผ่อน ผลการศึกษาที่เผยแพร่วารสาร Journal of Happiness Study พบว่า 8 วันคือตัวเลขที่เหมาะสมในการบรรลุถึงความผ่อนคลายและความสุขสูงสุดโดยไม่รู้สึกเบื่อหรือคิดถึงบ้าน

แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องแพ็คกระเป๋าออกไปท่องโลกอย่างเดียว คนที่เลือกที่จะท่องเที่ยวอยู่ใกล้ๆ บ้าน (staycation) ก็มีความสุขทั้งทางกายและทางใจเช่นเดียวกับการเดินทางไปต่างประเทศ 8 วัน ขอแค่ให้ได้ปล่อยวางจากความเครียด ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือความรับผิดชอบที่บ้านก็ตาม 

แล้วทำไมถึงต้องเป็น 8 วัน?

การวิจัยพบว่า คนที่ออกไปพักร้อนจะมีความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งจะถึงจุดสูงสุดโดยเฉพาะเจาะจงในวันที่ 8 หลังจากนั้นความรู้สึกความเป็นอยู่ที่ดีที่เพิ่มมากขึ้นจะเริ่มหายไป และกลับสู่ระดับพื้นฐานก่อนการเดินทางในที่สุด 

ตัวเลขนี้ตั้งอยู่บนทฤษฎีหลายทฤษฎี อย่างแรกเลยคือ สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีการฟื้นฟู ตามทฤษฎีนี้ร่างกายและจิตใจต้องการเวลาที่มากพอในการฟื้นฟูจากความเครียดในชีวิตประจำวัน ช่วงสองสามวันแรกของการพักร้อนมักจะถูกใช้ไปกับการผ่อนคลายและตัดขาดจากความคิดและความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน 

เมื่อผ่อนคลายแล้วก็จะเข้าสู่ช่วงฟื้นฟู ระหว่างช่วงฟื้นฟูนี้ ประโยชน์ของการลาพักร้อนจะเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรม เรามีปฏิสัมพันกับสิ่งรอบข้างได้ลึกซึ้งขึ้น ได้สัมผัสความสุข ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ช่วงฟื้นฟูมักจะพีคสุดราววันที่ 7-8 ดังนั้นการลาพักร้อน 8 วันจึงทำให้มีเวลาเพียงพอในการดื่มด่ำกับประสบการณ์การพักร้อนอย่างเต็มที่ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางจิตวิทยาได้สูงสุด

the-ideal-length-of-vacation-is-8-days-according-to-science-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Chanakarn Laosarakham / AFP

จิตวิทยาเบื้องหลังวันหยุด 8 วัน 

ช่วงเวลา 8 วันนี้ยังสนับสนุนสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “ประสบการณ์ใหม่” เมื่อเราเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ครั้งแรก ประสาทสัมผัสของเราจะเพิ่มมากขึ้น เราจะใส่ใจและทุ่มเทอารมณ์ให้กับสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน Annals of Tourism Research พบว่า ความแปลกใหม่ถือเป็นพื้นฐานและความสนุกสนานในประสบการณ์การท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปเราเริ่มปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ นี้ ประสบการณ์แปลกใหม่จึงค่อยๆ จางหายไปซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ การลาพักร้อน 8 วันทำให้เกิดความสมดุลที่สมบูรณ์แบบระหว่างประสบการณ์แปลกใหม่กับการหลีกเลี่ยงจุดที่ความแปลกใหม่เริ่มจางหาย และความรู้สึกที่ว่า "ความใหม่" ของการเดินทางกลายเป็นเรื่องปกติ 

ในทางจิตวิทยานั้น ระยะเวลาของการพักร้อนส่งผลกับฮอร์โมนความเครียด อาทิ คอร์ติซอล การลาพักร้อนสั้นๆ ไม่เพียงพอจะทำให้ฮอร์โมนเหล่านี้กลับสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเดินทางข้ามไทม์โซนและมีอาการเจ็ตแล็ก ยังไม่ทันจะผ่อนคลายก็ต้องเดินทางกลับอีกแล้ว แต่การพักร้อน 8 วันแบบไม่ข้ามไทม์โซนเพียงพอให้ร่างกายลดฮอร์โมนเหล่านี้ลงแล้ว ส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้น การนอนหลับมีคุณภาพ ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี 

อีกแง่มุมหนึ่งคือ การนำไปใช้ได้จริงและความยั่งยืนของการพักร้อน 8 วัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการเดินทางที่ยังที่หมายที่ไกลออกไปโดยไม่ต้องเร่งรีบ และไม่นานเกินไปจนมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่ม ระยะเวลานี้ยังสามารถป้องกันอาการหดหู่หลังการพักร้อนโดยเฉพาะเมื่อต้องกลับมาทำงาน  

กำหนดการเดินทาง ความทรงจำ และการลาพักร้อนแบบได้รับค่าจ้าง 

ระยะเวลา 8 วันช่วยให้จัดตารางการท่องเที่ยวได้อย่างสมดุล มีเวลาเพียงพอสำหรับการสำรวจ ผ่อนคลาย และมีวันว่างที่ไม่ได้เดินทาง ผลการวิจัยระบุว่า การควบคุมหรือความมีอิสระในการตัดสินใจว่าเข้าร่วมกิจกรรมใดมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตลอดช่วงวันหยุด 

ในแง่ของการสร้างและการรักษาความทรงจำ ช่วง 8 วันก็ถือว่าเหมาะสม ทฤษฎี serial position effect theory ระบุว่า ผู้คนจะสามารถจดจำอะไรที่อยู่ตอนต้นและตอบจบได้ดีกว่าช่วงกลาง วันพักร้อน 8 วันถือว่ากระชับเพียงพอที่จะทำให้ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่ยังคงมีชีวิตชีวา 

นอกจากนี้ ระบะเวลา 8 วันยังสอดคล้องกับสัปดาห์ของการทำงานโดยเฉลี่ย ทำให้เป็นตัวเลือกที่ยืดหยุ่นสำหรับอาชีพส่วนใหญ่ที่มีวันลาพักร้อนแบบได้รับค่าจ้างจำกัด 

อย่างไรก็ดี ผลในแง่บวกของการลาพักร้อนจะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเรากลับมาทำงาน งานวิจัยพบว่า หลังจากกลับมาทำงานแล้ว ความสุขของเราจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์ แม้ว่าจะไปเที่ยวมาแรมเดือนก็ตาม 

ถ้าอย่างนั้นจะพักร้อนไปเพื่ออะไร? 

อย่างแรกคือ การพักร้อนช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างที่สองคือ การถามว่าทำไมเราถึงยังควรลาพักร้อน หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับการถามว่าทำไมเราถึงควรนอนพักผ่อนในเมื่อเดี๋ยวเราก็จะเหนื่อยอีก 

ดังนั้น ลาพักร้อนเถอะ จะมากจะน้อยก็ได้ ถ้ามันโอเคกับตัวเรา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์