บรรดาเมืองหลวงใหญ่ที่สุดของโลกอาจต้องเผชิญกับวันที่ร้อนจัดมากขึ้นกว่าที่เคย ผลการศึกษาใหม่ระบุว่า แนวโน้มอันตรายดังกล่าวเกิดจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดทั่วเอเชีย ท่ามกลางวิกฤตภูมิอากาศที่กำลังเลวร้ายลง
“เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 20 เมือง ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 300 ล้านคน มีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นถึง 52% ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา” ตามการวิเคราะห์ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (IIED) ระบุ
การศึกษาพบว่า ในแต่ละทศวรรษที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นั้นเพิ่มขึ้น ขณะที่เมืองหลวงหลักๆ กำลังบันทึกวันที่อากาศร้อนจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามในอนาคต แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้วและแย่ลงเรื่อยๆ ในเวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคน จำนวนวันที่ร้อนจัดที่ส่งผลกระทบต่อเมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่งเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และเลวร้ายลงด้วยผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมือง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเมืองต่างๆ เปลี่ยนที่ดินตามธรรมชาติไปเป็นถนนและอาคารที่เก็บความร้อนได้มากขึ้น”
ทักเกอร์ แลนเดสแมน นักวิจัยอาวุโสของ IIED กล่าวในแถลงการณ์
เมืองต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเมืองหลวงที่มีประชากรมากที่สุดในโลกก็ประสบกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด

แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้ชัดจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ทั่วทั้งทวีป ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงจีนและอินเดีย เอเชียมีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศเป็นพิเศษ เนื่องมาจากประชากรจำนวนมาก ความยากจน และสัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ซึ่งเสี่ยงต่อน้ำท่วม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ
กรุงนิวเดลีอยู่อันดับต้นๆ ของรายชื่อเมืองที่มีอากาศร้อนที่สุด โดยพบว่ามีบันทึกวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาฯ ถึง 4,222 วันในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเมืองอื่นๆ ที่เคยวิเคราะห์ไว้ นอกจากนี้ในระหว่างปี 2014-2023 ยังมีวันในเมืองหลวงของอินเดียเกือบครึ่งหนึ่งประมาณ 44% ที่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อเทียบกับ 35% ตั้งแต่ปี 1994-2003 และ 37% ตั้งแต่ปี 2004-2013
ภูมิภาคในกรุงนิวเดลีร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ส่วนหนึ่งของกรุงเดลีมีอุณหภูมิสูงถึง 49.9 องศาฯ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเมือง แถมความร้อนยังแผ่ขยายไปจนถึงตอนกลางคืน ทำให้ผู้อยู่อาศัยแทบนอนไม่ได้
“เราอาศัยอยู่ในละแวกนี้มา 40 ปีแล้ว แต่เราไม่เคยเจอฤดูร้อนแบบนี้มาก่อน เราใช้น้ำแค่ครั้งเดียวต่อวัน และน้ำก็ร้อนมากด้วย หากคุณไม่เติมน้ำใส่ถังให้เต็มแล้วปล่อยให้เย็นลงทั้งวันก่อนจะใช้ คุณจะไม่สามารถอาบน้ำได้เลย” กัลยานี ซาฮา พลเมืองวัย 60 ปี ที่อาศัยอยู่ในย่านลัชปัตนคร (Lajpat Nagar) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเดลี บอกกับสำนักข่าว CNN
ขณะที่คนปั่นรถลากในเดลีบอกกับ CNN ว่า เขารับผู้โดยสารน้อยลง เนื่องจากผู้คนเลือกใช้แท็กซี่ปรับอากาศแทน “ร่างกายของผมไม่สามารถทนได้ แต่ผมก็ต้องปั่นจักรยานต่อไป เราคุ้นเคยกับการใช้แรงงาน เราไม่บ่นถึงเรื่องนั้น แต่ความร้อนนี้ไม่ปกติ มีบางอย่างเปลี่ยนไป” ซาการ์ มานดัล วัย 39 ปีเล่า

ทั้งนี้ เมืองต่างๆ ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงพอ
ทางฟากฝั่งกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ก็พบจำนวนวันอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 28 วันระหว่างปี 1994-2003 และเพิ่มขึ้นเป็น 167 วันระหว่างปี 2014-2023 นอกจากนี้ยังพบว่าในเดือนตุลาคม 2023 จาการ์ตาต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่า 35 องศาฯ ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน
ส่วนกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ต่างก็ประสบกับวันที่มีอากาศร้อนจัดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2018 กรุงโซลมี 21 วันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาฯ ซึ่งมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมารวมกัน ขณะที่จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาฯ ในปักกิ่งเพิ่มขึ้น 309% นับตั้งแต่ปี 1994
ตามรายงานจากศูนย์พัฒนาสุขภาพอินเดีย (NGO Centre for Health Development India) เผยว่า ความร้อนจัดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เย็นได้ โดยระหว่างวันที่ 11-19 มิถุนายน กรุงนิวเดลีมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน 192 รายในกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ความร้อนยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ทำลายพืชผลและปศุสัตว์ แถมยังลดประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากคนงานต้องพักผ่อนและเติมน้ำให้ร่างกายมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การศึกษาของวิทยาลัยดาร์ตมัธเมื่อปี 2022 ก็พบว่า ความร้อนจัดได้สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 และเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดและปล่อยมลพิษต่ำที่สุดของโลกต้องแบกรับผลกระทบส่วนใหญ่
“การตอบสนองต่อความท้าทายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจะต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าหาญจากผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงการลงทุนอย่างจริงจังเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่นี้...”
แลนเดสแมนจาก IIED กล่าว